อาจารย์-ศิลปินกว่า 30 ชีวิต ร่วมกับ มทร.ธัญบุรี สร้างศิลปะต้นแบบ ‘จินตภาพทุ่งหลวงรังสิต’

คณะศิลปกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี จัดโครงการสร้างสรรค์ผลงาน ‘ศิลปะต้นแบบผ่านจินตภาพทุ่งหลวงรังสิต’ โดยมีคณาจารย์ ศิลปิน และผู้แทนเครือข่ายองค์กรกว่า 30 ชีวิตเข้าร่วม ณ พิพิธภัณฑ์บัว มทร.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี

รศ.ดร.สมหมาย ผิวสอาด อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) เปิดเผยว่า โครงการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะต้นแบบผ่านจินตภาพทุ่งหลวงรังสิต ที่ให้ความรู้ในทางวิชาการ การสร้างเครือข่ายทางด้านศิลปะเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางด้านงานสร้างสรรค์ด้วยเทคนิคเฉพาะบุคคลของศิลปินผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในศาสตร์และเทคนิคแต่ละด้าน แก่นักวิจัย หน่วยงานภายนอก รวมถึงบุคคลทั่วไป และเป็นการนำเสนอผลงานต่อสาธารณชน เป็นข้อมูลเชิงประจักษ์สามารถนำไปใช้หรือเป็นแบบอย่างในการศึกษาต่อไป

            “ในโครงการที่จัดขึ้นยังได้รับเกียรติจากอาจารย์วีรวัฒน์ วงศ์ศุปไทย เป็นวิทยากรบรรยายเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ กายภาพด้านวิถีชีวิต วัฒนธรรมข้าวกับสายน้ำ ศาสนสถานที่เกี่ยวข้องกับข้าวและน้ำ รวมถึงความหลากหลายทางชาติพันธุ์ริมคลองทุ่งหลวงรังสิต และดร.โดม ประทุมทอง บรรยายในหัวข้อ ประวัติความเป็นมาของสมันของพื้นที่ทุ่งหลวงรังสิตในรูปแบบออนไลน์ ซึ่งถือเป็นข้อมูลสำคัญ และเป็นการร่วมบันทึกและถ่ายทอดข้อมูลทางประวัติศาสตร์ในด้านศิลปะอีกด้วย” อธิการบดี มทร.ธัญบุรี อธิบาย

            ด้าน ศ.ดร.สมพร ธุรี คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี กล่าวเสริมว่า โครงการฯ ดังกล่าวนี้เป็นการดำเนินงานในโครงการวิจัยการสร้างคุณค่าทุนวัฒนธรรมผ่านจินตภาพทุ่งหลวงรังสิต ซึ่งเป็นโครงการย่อยภายใต้ชุดโครงการวิจัย ทุ่งหลวงรังสิต : พลวัตทางวัฒนธรรม จังหวัดปทุมธานี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ศิลปิน ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านศิลปะ ได้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะผ่านจินตภาพทุ่งหลวงรังสิตทำให้เกิดเครือข่ายทางวัฒนธรรมและเกิดคุณค่าทางวัฒนธรรมที่มีอัตลักษณ์ของทุ่งหลวงรังสิต ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากศิลปินชื่อดัง คณาจารย์ และผู้เชี่ยวชาญที่มากฝีมือร่วมสร้างสรรค์ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ที่ถือเป็นต้นแบบที่สำคัญ

ขณะที่ อาจารย์บันชา ศรีวงศ์ราช ปรมาจารย์ศิลปินสีนำชั้นนำระดับโลก และเป็นศิษย์เก่าคณะศิลปกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี ในฐานะศิลปินที่เข้าร่วมโครงการฯ เผยว่า ตนได้สร้างสรรค์ผลงานวิถีชีวิตริมน้ำ โดยใช้เทคนิคสีน้ำเขียนเป็นชั้น โดยความน่าสนใจอยู่ที่การเลือกใช้โทนสี และองค์ประกอบภาพโดยเฉพาะรูปเรือ ทำให้เห็นภาพเมื่อครั้งในอดีตและความเป็นทุ่งหลวงรังสิตได้อย่างชัดเจน เป็นเอกภาพ และบอกอีกด้วยว่า ปัจจุบันเยาวชน คนรุ่นใหม่ให้ความสนใจด้านศิลปะลดน้อยลงมาก ความเป็นไทย ประวัติศาสตร์หรือความร่วมสมัยต่าง ๆ ถูกถ่ายทอดอย่างมีคุณค่าน้อยลง โครงการที่ มทร.ธัญบุรี ได้ดำเนินการนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนศิลปะ รวมถึงร่วมสร้างคุณค่าของทุนวัฒนธรรมได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะความเป็นทุ่งหลวงรังสิต จังหวัดปทุมธานี

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]