โคมไฟทรงหัวปลีงานทำมือ นศ.มทร.ธัญบุรี

โคมไฟติดผนังรูปทรงหัวปลี ผลงานของนางสาวกัญญารัตน์ เนตรประสม นักศึกษาสาขาวิชาหัตถกรรม คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี งานทำมือ สวยเก๋ไม่เหมือนใคร

นางสาวกัญญารัตน์ เนตรประสม เล่าว่า โคมไฟให้แสงสว่างในการทำกิจกรรมต่างๆ ในยามค่ำคืนในชีวิตประจำวันของมนุษย์ ด้วยศิลปะได้มีบทบาทในการใช้ชีวิตของมนุษย์มากขึ้น นอกจากการให้แสงสว่างแล้วโคมไฟสามารถบอกสไตล์และรสนิยมของผู้เป็นเจ้าของบ้านได้อย่างดียิ่งสามารถสะท้อนถึงสังคมที่อาศัยอยู่ได้ โคมไฟในปัจจุบันก็มีให้เลือกอย่างหลากหลาย ผลิตภัณฑ์เห็นกันในปัจจุบันส่วนใหญ่จะใช้วัสดุที่คงทนแข็งแรงเป็นหลัก น้อยชิ้นจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีความเป็นเอกลักษณ์ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้บุคคลทั่วไปได้รู้จัก และนำไปใช้ประโยชน์ในการสร้างกำไลให้แก่ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายไปในตัว จึงได้ศึกษาและการพัฒนาโคมไฟจากการหาข้อมูลตามแหล่งข้อมูลต่างๆ พบว่าผลิตภัณฑ์เชือกกล้วย เป็นวัสดุที่น่าสนใจ โดยส่วนใหญ่จะนำมาทอเสื่อหรือใช้ผูกของ ตลอดจนทำสิ่งทอ และเครื่องใช้อื่นๆ ด้วยความเป็นเอกลักษณ์ของต้นกล้วยที่ผูกพันกับวิถีชีวิตของคนไทย ได้นำเชือกกล้วยมาเป็นวัสดุหลักในการออกแบบและพัฒนาโคมไฟติดผนังจากหัวปลี

เชือกกล้วย คือ การลอกเอากาบกล้วยออกจากลำต้น นำมาพาดบนราวไม้ไผ่ ใช้มีดกรีดให้เป็นเส้นๆ หลายเส้น จากนั้นนำตากแดดจนแห้ง จะได้เส้นเชือกยาว ตามที่จะต้องการ ซึ่งเชือกกล้วยที่นำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ในครั้งนี้ ได้รับความอนุเคราะห์จากบริษัท บานาน่า โพรดักส์ ดีไซน์ จำกัด จากที่เหลือใช้ มาแปลงสภาพและสร้างประโยชน์เพิ่มมูลค่า เป็นการต่อยอดความคิดให้ผลิตภัณฑ์จากต้นกล้วยเป็นที่ยอมรับ กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยยังคงความเป็นเอกลักษณ์ สามารถนำไปตกแต่งที่พักอาศัยให้มีความสอดคล้องกับผู้ใช้งานในปัจจุบันได้

สำหรับแนวคิดในการออกแบบ “โคมไฟติดผนังทรงหัวปลี” มาจากหัวปลีที่กำลังค่อยๆ คลี่กาบที่มีผลกล้วยซ่อนอยู่ ภายในหลายผลรวมกันอยู่ ซึ่งเป็นลักษณะธรรมชาติที่เป็นจุดเด่นของหัวปลี ลักษณะด้านในของหัวปลีที่ผลกล้วยทับซ้อนกันเป็นลักษณะเส้นๆ ที่ปกคุมด้ายกาบรอเวลาที่จะออกมาเป็นผลกล้วย และสีที่เป็นเอกลักษณ์ของหัวปลี ผสมกับรูปแบบที่ผู้ศึกษาได้ออกแบบแต่ยังคงความเป็นเอกลักษณ์หัวปลีอยู่ ผ่านเทคนิคการสานเชือกกล้วย ที่ทำด้วยมือเกิดเป็นผลิตภัณฑ์โคมไฟติดผนังรูปทรงหัวปลี จำนวน 3 ชิ้น ขนาด 14×35 เซนติเมตร จำนวน 2 ชิ้น ขนาด 16×40 เซนติเมตร จำนวน 1 ชิ้น ซึ่งยังคงความเป็นเอกลักษณ์ของต้นกล้วย (ท้องถิ่น) และ สามารถตกแต่งที่พักอาศัยให้มีความสอดคล้องกับผู้ใช้งานทั้งหมด

สำหรับผู้ที่สนใจศึกษาเกี่ยวกับวัสดุเหลือใช้หรือการนำของรอบตัวมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อส่งเสริมทางด้านภูมิปัญญาและวัฒนธรรมการดำรงชีวิตในอดีตมาประยุกต์ในปัจจุบันนั้น ควรศึกษาตั้งแต่ภูมิปัญญาความเป็นอยู่ผนวกกับแนวความคิดเพื่อต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความสอดคล้องกับการใช้งานในอนาคตต่อๆไป น้องแป้งกล่าวทิ้งท้าย

 

 

00ชลธิชา ศรีอุบล

กองประชาสัมพันธ์ มทร.ธัญบุรี 0-2549-4994

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]