“รถเข็นไฟฟ้าเพิ่มคุณภาพชีวิต” สิ่งประดิษฐ์ 3 สถาบันดัง ช่วยผู้พิการอัมพาตครึ่งล่าง

“ผู้พิการแต่ละคนไม่ได้มีอาการเหมือนกันทุกราย บางคนอาจพิการแขน บางคนพิการขา พิการท่อนล่างเดินไม่ได้ ขณะที่บางคนพิการตั้งแต่คอลงไปก็มี ดังนั้นการวิจัยและพัฒนาอุปกรณ์ที่เหมาะสมกับความพิการของผู้ป่วยแต่ละอาการ ย่อมจะตอบสนองความต้องการได้เต็มรูปแบบและมีประสิทธิภาพการใช้งานที่มากกว่า” นี่เป็นแนวคิดและนำมาสู่สิ่งประดิษฐ์ช่วยผู้พิการอัมพาตครึ่งล่าง

บุคลากร 3 สถาบันดัง ร่วมมือกันวิจัยและพัฒนาสิ่งประดิษฐ์นี้ นำโดย ผศ.ดร.เดชฤทธิ์ มณีธรรม คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี ผศ.ดร.เบญจลักษณ์ เมืองมีศรี มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ และ พ.อ.ผศ.นพ.อารมย์ ขุนภาษี โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า และ พ.อ.รศ.นพ.สุธี พานิชกุล วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า พร้อม น.ส.ธัญญชล  ไกรโสภณ และนายทศพร ชูชาติ นักศึกษาสาขาแมคคาทรอนิกส์ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มทร.ธัญบุรี โดยใช้ชื่อว่า PMKElectric Power Wheelchair for life หรือรถเข็นไฟฟ้าเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิต มุ่งเป้าหมายสำคัญคือต้องการให้ผู้พิการอัมพาตครึ่งล่าง (Paraplegia) ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ผลงานวิจัยนี้จะช่วยให้ผู้พิการครึ่งล่าง สามารถลุกยืนและหยิบจับสิ่งของ ตลอดจนสามารถยืนกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน หรือประกอบอาชีพเกษตรกรรมบางประเภท หรือตกแต่งกิ่งไม้ที่สูงๆ ได้ด้วยตนเอง  อิเล็กทริค พาวเวอร์ วีลแชร์นี้ แบ่งออกเป็น 2 ส่วนสำคัญ คือส่วนที่รถเข็นและส่วนหัวลากที่สามารถทำให้ผู้พิการปรับยืนได้

“ในส่วนของการปรับยืนนั้น เมื่อผู้ป่วยนั่งรถเข็นมาที่หัวลาก จะต้องทำการรัดผ้าเพื่อการพยุงผู้ป่วยด้านหลัง พร้อมกดปุ่มเพื่อปรับลุกยืนขึ้น ผู้ป่วยก็ไม่จำเป็นต้องใช้รถเข็น โดยผู้ป่วยสามารถยืนอยู่บนรถเข็นในส่วนหัวลาก และบังคับได้ 4 ทิศทาง ทั้งเดินหน้า ถอดหลัง เลี้ยวซ้ายและเลี้ยวขวา ซึ่งใช้แบตเตอรี่ขนาด 12 โวลต์ 2 ลูก ต่ออนุกรมให้ได้แรงดันไฟฟ้า 24 โวลต์ สามารถวิ่งได้ด้วยความเร็ว 10 กิโลเมตรต่อชั่วโมง รองรับน้ำหนักได้สูงสุดถึง 100 กิโลกรัม และตัวรถเข็นมีน้ำหนักประมาณ 25 กิโลกรัม ซึ่งชาร์ตแบตเตอรี่ 1 ครั้ง ประมาณ 2 ชั่วโมง จะวิ่งได้ไกลถึง 4 กิโลเมตร” ผศ.ดร.เดชฤทธิ์ อธิบาย
อิเล็กทริค พาวเวอร์ วีลแชร์ มีการบำรุงรักษาและดูแลด้วยต้นทุนต่ำ เมื่อเทียบกับการสั่งซื้อหรือนำเข้าจากต่างประเทศ ทั้งยังมีขนาดกะทัดรัด สามารถเข้าในพื้นที่แคบได้ ส่วนสำคัญจากผลงานนี้คือก่อให้เกิดองค์ความรู้และเป็นต้นแบบต่อไป สำหรับแนวทางการพัฒนาต่อจากนี้ จะมุ่งเน้นในเรื่องโครงสร้างความแข็งแรงที่มากยิ่งขึ้น และการใช้งานในพื้นที่ที่แตกต่างกันไป เช่น พื้นดิน พื้นลูกรัง หรือสภาพพื้นที่ขรุขระ เพื่อให้ผลลัพธ์การใช้งานมีประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้นต่อไป

จากผลงานสิ่งประดิษฐ์นี้ อยากเห็นการนำไปใช้ประโยชน์ที่มีความหลากหลาย และการพัฒนาที่ดีต่อไป สิ่งสำคัญที่สุด คือการสร้างความหวังและกำลังใจในการใช้ชีวิตของผู้พิการ ให้สามารถช่วยเหลือตนเองได้มากที่สุด โดยมีคนช่วยเหลือน้อยที่สุด อีกส่วนที่สำคัญไม่แพ้กันคือ ราคาต้องเป็นมิตร ผู้พิการสามารถเข้าถึงและยอมรับได้ ผู้สนใจสามารถสอบถามโดยตรง โทร. 089 919 1475

 

อลงกรณ์  รัตตะเวทิน

          มทร.ธัญบุรี โทร. 02 549 4994

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]