รายงาน: มทร.ธัญบุรี เรียนรู้ศาสตร์พระราชาใช้เทคนิคชีวภาพแก้ปัญหาเกษตรกร

          ฝ่ายพัฒนานักศึกษา คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดโครงการส่งเสริมทักษะการเรียนรู้ของนักศึกษาในศตวรรษที่21: ตามรอยวิถีเกษตรชุมชนเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชรัชกาลที่ 9 ณ หมู่ที่ 7 ตำบลบึงกาสาม อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี ชุมชนที่น้อมนำหลักการทำเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ฯมาประยุกต์ใช้ นั่นคือหัวใจสำคัญต้องมีแหล่งน้ำ  โดยผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่และนักศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(มทร.) ธัญบุรี ลงชุมชนหมู่ 7 ตำบลบึงกาสาม ร่วมพัฒนาด้านสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมแบบยั่งยืนในชุมชนด้วยการใช้เทคนิคทางชีวภาพในการแก้ปัญหาการเกษตร ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงฯ

          รศ.ดร.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดี มทร.ธัญบุรี เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี “มุ่งผลิตบัณฑิตนักปฏิบัติมืออาชีพ” โดยซึมซับเรียนรู้ตามแนวพระราชดำรัสพระราชดำริหลักการทรงงานที่เป็นศาสตร์ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงปฏิบัติด้วยพระองค์เองมาอย่างต่อเนื่องยาวนานเป็นที่ประจักษ์ต่อทั้งคนไทย ชาวต่างชาติซึ่งนับว่าทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงงานหนักเพื่อประชาชนของพระองค์  นั่นคือทรงเป็นต้นแบบให้คนไทยให้สถาบันการศึกษาได้เห็นมายาวนานด้วยสิ่งที่พระองค์ทำนั้นและผลอันเกิดจากพระวิริยะ  ทรงอดทนได้ประสบผลสำเร็จอย่างยอดเยี่ยม นั่นนับได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งแห่งศาสตร์พระราชาโดยทางมทร.น้อมนำพระราชจริยวัตรดังกล่าวปลูกฝังนักศึกษาเมื่อศึกษาเรียนรู้ศาสตร์พระราชาแล้วได้นำความรู้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม นำองค์ความรู้ไปถ่ายทอดต่อยอดให้กับชุมชนสังคมของประเทศ
อธิการบดี มทร.ธัญบุรีกล่าวด้วยว่าในการดำเนินการด้านพันธกิจสัมพันธ์มหาวิทยาลัยกับสังคม (Social Engagement) ทางมหาวิทยาลัยได้มอบหมายให้แต่ละคณะดำเนินการลงพื้นที่ในชุมชนซึ่งทางมหาวิทยาลัยได้ดำเนินการมามากกว่า 10 ปี เข้าไปถ่ายทอดองค์ความรู้ งานวิจัยและนวัตกรรมการเข้าไปในแต่ละชุมชนไม่ได้เข้าไปเปลี่ยนวิถีชีวิตของชุมชน แต่เข้าไปยกระดับชุมชนนำองค์ความรู้ที่เกิดจากการวิจัยของอาจารย์ไปต่อยอด โดยนักศึกษาเข้าไปมีส่วนร่วมผ่านกิจกรรมของนักศึกษา นำจิตวิญญาณเข้าไปช่วยเหลือ เพื่อซึมซับคุณธรรมด้านความเอื้ออาทรกับสังคม  โดยเน้นย้ำนักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัยให้ตระหนักและเข้าใจว่าการดำเนินวิถีชีวิตดังกล่าวคือการเดินตามรอยพระยุคลบาทเป็นหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่พระราชทานไว้หรือก็คือศาสตร์พระราชา เป็นหลักการที่จะนำไปสู่การเกิดความสุขความสงบของตัวคน ชุมชนและประเทศชาติ  แล้วยังเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึมซับวิถีชีวิตวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงาม เป็นการพัฒนา Soft Skill ของนักศึกษาทุกคนภายในมหาวิทยาลัย เป็นการปลูกจิตสำนึกจิตอาสาเสียสละแบบยั่งยืนถาวรให้กับนักศึกษาเป็นคนดีคนเก่งของสังคม
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุกาญจน์รัตนเลิศนุสรณ์ ผู้ดำเนินโครงการ เล่าว่าทางคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีลงพื้นที่ชุมชน 7 ตำบลบึงกาสาม อำเภอหนองเสือโดยการนำวัสดุเหลือใช้จากการทำนามาแปรรูปด้วยหัวเชื้อจุลินทรีย์นาโน  สำหรับการปรับสภาพดินกรดให้เหมาะสมกับการปลูกข้าว   ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตข้าวที่ปลอดภัยและอุดมด้วยสารอาหารเสริมเกลือแร่และวิตามินสูงกว่าข้าวที่ปลูกด้วยปุ๋ยเคมีต่อผู้บริโภค  ในการนี้คณะวิชาชีพ 10 คณะ 1 วิทยาลัย ได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการถ่ายทอดเทคโนโลยี ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำในการพัฒนาการทำนา การปลูกข้าวอินทรีย์การแปรรูปและการบริหารจัดการดำเนินการด้านตลาดของวิสาหกิจชุมชน  อาทิ การลงแขกหว่านสารอาหารเสริมจุลินทรีย์นาโนในนาข้าว  การแปรรูปผลผลิต  ตลอดจนการซึมซับผ่านจัดกิจกรรมเพื่ออนุรักษ์และส่งเสริมวัฒนธรรมการลงแขก/วิถีไทยแบบมีส่วนร่วมกับชุมชน สถานประกอบการ มหาวิทยาลัย เครือข่ายภาครัฐและเอกชน ผู้เข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ประกอบไปด้วยอาจารย์ของคณะวิชาชีพต่างๆ 10 คณะ 1 วิทยาลัย  นักศึกษา เจ้าหน้าที่ เครือข่ายชุมชนบึงกาสาม เครือข่ายชุมชนบึงบา องค์การบริ
หารส่วนตำบลบึงกาสาม องค์การบริหารส่วนตำบลบึงบาและเจ้าหน้าที่ อ.หนองเสือ
เกษตรกรชุมชนหมู่ 7 ตำบลบึงกาสามอำเภอหนองเสือ นายเล็ก พวงต้น เล่าว่าบนเส้นทางเกษตรอินทรีย์ ตนเองคิดเสมอว่า ทำอย่างไรก็ได้ให้มีรายได้พอกินพอใช้ ไม่สร้างหนี้ มีเงินใช้เหมือนตอนที่รับเงินเดือนของข้าราชการโดยแรงบันดาลใจของตนเองคือ รัชกาลที่ 9  พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พ่อของคนไทยทั้งแผ่นดิน เมื่อครั้งได้เดินทางไปดูงานในโครงการชั่งหัวมันตามพระราชดำริ นำศาสตร์พระราชามาเป็นจุดเริ่มต้นในการบริหารจัดการประยุกต์พื้นที่ 50 ไร่ เกษตรอินทรีย์เข้ามาใช้ แรกๆ ที่ทำอาจจะเห็นผลช้าแต่ดีกับธรรมชาติเรียนรู้บนเส้นทางของเกษตรพอเพียง ค้นสูตรปุ๋ยชีวภาพเอง  หยิบโน่น ผสมนี่ ศึกษาหาข้อมูล พยายามหาข้อมูลตามหน่วยงานต่างๆ เพื่อหาข้อมูลมาปรับใช้ในชุมชน โดยจากการหาข้อมูลทางคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีการนำชีวภาพมาใช้ จึงได้ทำเรื่องไปที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี อาจารย์และทีมงานลงพื้นที่สำรวจ และเข้ามาทำการวิจัยทำการทดลองนวัตกรรมชีวภาพจากความหลากหลายทางชีวภาพ มาใช้นาข้าว ปาล์มและได้เข้ามาบริการองค์ความรู้ให้กับศูนย์การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร(ศพก.) ต. บึงกาสาม
“จากการทดลองนวัตกรรมชีวภาพที่มทร.ธัญบุรีวิจัยศึกษาไว้ได้พิสูจน์ความแตกต่างของการใช้สารเคมี และสารชีวภาพ สำหรับการทำนาข้าวจากที่ลงทุน 5,000 บาท/ไร่ เหลือเพียง 1,700-2,200 บาท/ไร่ ได้ปริมาณข้าวเปลือก 1 ไร่/1 ตัน เมล็ดข้าวมีคุณภาพดีไม่ลีบแบน เพิ่มการแปรรูปข้าวเปลือกเป็นข้าวขาวเพิ่มรายได้ ซึ่งภายในศูนย์การเรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ต. บึงกาสาม มีเครื่องสีข้าวผมจะนำข้าวที่ได้มาสีเพื่อนำไปขาย ชาวบ้านในชุมชนนำข้าวเปลือกมาสี คิดกิโลกรัมละ2 บาท ข้าวเปลือกสีเป็นข้าวขาวเพิ่มรายได้จาก 8,500 บาทเป็น 35,000 บาทต่อเกวียนและที่สำคัญเมื่อได้รายได้หรือใช้จ่ายมาแต่ละครั้ง ต้องมีการทำบัญชีรายรับรายจ่าย เมื่อครั้งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางมาดูงานที่จังหวัดปทุมธานี ได้มีโอกาสนำข้าวหอมปทุมธานีของศูนย์ไปเป็นของขวัญนายกรัฐมนตรี ท่านถามว่าข้าวมาจากไหน ผมเรียนท่านว่า “ข้าวหอมปทุมธานีมาจากโครงการ ศพก.ของท่านนายกฯและได้ทาง มทร.ธัญบุรี มาดูแลและให้การช่วยเหลือ” โดยท่านนายกฯ ยังชื่นชมและให้เกษตรกรดูผมเป็นตัวอย่าง”
นายเล็ก พวงต้น บอกอีกว่า  ไม่มีใครรู้ล่วงหน้าว่าราคาสินค้าเกษตรจะเป็นอย่างไร อยากให้เกษตรกรลดต้นทุนให้ได้มากที่สุดให้พิจารณาแนวพระราชดำริที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานแนวทางไว้ทั้งหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ ทั้งแนวทางดำเนินชีวิตตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั่นคือหันมาใช้เกษตรอินทรีย์ ลดการใช้สารเคมี ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม
“ตอนนี้ชุมชนผม เป็นชุมชนต้นแบบอินทรีย์ ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยทางหมู่ 7 บึงกาสามได้รับการันตี เช่น เมื่อปี 2553 ได้รับรางวัลหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงฯ เมื่อปี2556 ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงฯ ดีเด่น จากกรมส่งเสริมการเกษตร และทางชุมชนยังเข้าร่วมโครงการยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนหมู่ 7 บึงกาสาม จังหวัดปทุมธานีแบบมีส่วนร่วมเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(มทร.) ธัญบุรี ต้องขอขอบคุณทางมหาวิทยาลัยที่ได้สร้างองค์ความรู้รวมไปถึงอาจารย์ นักศึกษา เจ้าหน้าที่ ที่ได้เข้ามาให้ความช่วยเหลือนำนวัตกรรมปุ๋ยชีวภาพ  นำนักศึกษามาร่วมหว่านปุ๋ย ร่วมสัมผัสวิถีชาวนาลงแขกทำนาในวันนี้เป็นการปลูกฝังนักศึกษา ได้เห็นถึงวิถีชีวิตชาวนาดั้งเดิมที่สามัคคีกัน ช่วยเหลือกันอัน เกิดจิตสำนึกในอาชีพเกษตรกรไปด้วย”นายเล็กกล่าวทิ้งท้าย
ในส่วนนักศึกษา “ชะเอม” นางสาวประภาภรณ์ จงเจริญชัยสกุล นักศึกษาชั้นปีที่ 3  สาขาวิชาคณิตศาสตร์ที่ได้ร่วมโครงการ เล่าว่า ในนามของผู้นำนักศึกษาที่เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ ตนเองมีหน้าที่ในการจัดเตรียมอุปกรณ์ และดูแลนักศึกษา ลงพื้นที่ตำบลบึงกาสาม ทำให้มีโอกาสเรียนรู้วิถีชาวนา ได้ร่วมกับอาจารย์สาขาวิชาชีววิทยาทำปุ๋ยชีวภาพจากวัสดุจากสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัวเกษตรกรมาใช้อย่างเช่นฟางข้าว  ใบไม้แห้ง  และอื่นๆ ที่ถูกทิ้งไร้ประโยชน์แล้วนำกลับมาทำปุ๋ยชีวภาพเพิ่มมูลค่า ตามศาสตร์พระราชาแล้วยังทำให้กำจัดขยะลดมลภาวะไปในตัว  ยังได้ทำกิจกรรมหว่านปุ๋ย ทุกคนมีส่วนร่วมในกิจกรรม คือการถอดบทเรียนมีการระดมความคิดร่วมกัน ได้รับองค์ความรู้ใหม่ๆ 10 คน 10 ความคิด แตกต่างกันออกไป แต่มาทำกิจกรรมในวันนี้เป็นกิจกรรมที่ดีมาก ถ้าไม่ใช่ลูกชาวนาจะไม่ได้สัมผัสชีวิตวิถีชาวนา
เช่นเดียวกับ “บี” นายเบญจพล ประมวลทรัพย์ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ เล่าว่า การได้เข้าไปสัมผัสชีวิตชาวนาอยากนำความรู้ทางด้านคอมพิวเตอร์เข้าไปช่วยชาวนา ความรู้ทางด้านสมาร์ทฟาร์มเมอร์ องค์ความรู้ในการทำนาเกษตรอินทรีย์ เป็นองค์ความรู้ส่วนหนึ่งในบทเรียนไม่มี มาวันนี้ได้เห็นต้นข้าวในทุ่งนาได้เห็นปุ๋ยที่ใช้ในการทำนาเป็นปุ๋ยที่เน้นว่าอินทรีย์ ได้ช่วยนาหว่านปุ๋ย ทำให้รู้เลยว่าชาวนาลำบาก ต้องทนร้อนในการทำนา ให้พวกเรามีข้าวกินทุกวันนี้
สาวน้อยจากสาขาวิชาคณิตศาสตร์”ปิ่นโต” นางสาวพรรณพร เฉลยจิตร์ นักศึกษาชั้นปีที่ 1 เล่าด้วยเช่นกันว่า การเข้าร่วมกิจกรรมในวันนี้ ได้เรียนรู้ “ศาสตร์ของพระราชา” อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้ลงพื้นที่ในการวิจัยจากดินในพื้นที่ที่เป็นกรด นำปุ๋ยที่ได้คิดค้นมาช่วยเหลือชาวบ้าน อาจารย์บอกว่าสัดส่วนของปุ๋ยใช้วิชาคณิตศาสตร์ในการคิดคำนวณสูตรของปุ๋ย ตลอดจนการใช้พืชช่วยพืชการเดินตามรอยในหลวงรัชกาลที่ 9 ความเป็นอยู่ของชาวบ้านที่พอเพียง นำความรู้ที่ได้มาใช้ในชีวิตประจำวันของตนเอง
“เซ้นซ์” นายก้องปภณ สังข์รุ่ง นักศึกษาชั้นปีที่ 1 สาขาวิชาสถิติประยุกต์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมแสดงความรู้สึกด้วยว่า กว่าที่จะได้ข้าวมากิน ต้องเหนื่อยมาก ชีวิตชาวนาในการมาทำกิจกรรมในวันนี้เป็นสิ่งที่ดีมาก ได้ทำกิจกรรมกับเพื่อนๆ ซึ่งตอนเด็กๆ ตนเองไปวิ่งที่ทุ่งนาของคุณตา ที่จังหวัดปราจีนบุรี แต่ไม่เคยทำนา พื้นที่บึงกาสามเป็นชุมชนต้นแบบที่มีการทำนาเกษตรอินทรีย์อีกด้วย
เช่นเดียวกับ “ไออ้อน” นางสาวสิริรักษ์ บุญมา นักศึกษาชั้นปีที่ 1 สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เล่าว่า เป็นลูกชาวสวนที่จังหวัดขอนแก่นเคยช่วยยายใส่ปุ๋ยผักหลังบ้านแต่วันนั้นไม่รู้ว่านั่นเป็นปุ๋ยอะไร  คราวนี้รู้ว่าเป็นปุ๋ยอินทรีย์ทำให้มีความรู้และรู้เพิ่มว่าทำไมต้องเป็นปุ๋ยอินทรีย์ วันนี้มาช่วยหว่านปุ๋ยให้กับชาวบ้าน เป็นจิตอาสาที่ดี เข้าใจชีวิตชาวนาต้องทำนาตากแดด ถ้ามีกิจกรรมอีกจะเข้าร่วม นอกจากนี้ยังได้รับความรู้จากวิทยากรอีกด้วย
โครงการส่งเสริมทักษะการเรียนรู้ของนักศึกษาในศตวรรษที่ 21 : ตามรอยวิถีเกษตรชุมชนด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ณ หมู่ที่ 7 ตำบลบึงกาสาม อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี เพื่อพัฒนาด้านสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมแบบยั่งยืนด้วยการใช้เทคนิคทางชีวภาพในการแก้ปัญหาการเกษตรจะสร้างความเข้มแข็งแบบยั่งยืนกับครอบครัว ชุมชนและประเทศชาติต่อไป

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]