คอลัมน์ Innovate: เดินหน้าพัฒนาวัสดุก่อสร้าง’รักษ์โลก’

          เทคโนโลยีสะอาด (Cleantech) เป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่เป็นเทรนด์โลก ทำให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมหลายแห่งมองหานวัตกรรมเข้ามาตอบโจทย์
เช่นเดียวกับนักวิจัยจากคณะ วิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี ราชมงคลธัญบุรี ขานรับโจทย์จากโรงงาน ผลิตรองเท้าแตะเอาพลาสติกเหลือทิ้งมาพัฒนา เป็นวัสดุก่อสร้างสีเขียว พร้อมเดินหน้าพัฒนา “วัสดุก่อสร้างรักษ์โลก” แบบครบวงจร
ประชุม คำพุฒ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัย เทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) อธิบายรายละเอียดการผลิตวัสดุจากการก่อสร้างในแนวทางรักษ์โลก ซึ่งเป็นโจทย์มาจากโรงงานรองเท้าแตะที่มีของเหลือจากการผลิตเป็นเศษรองเท้าพลาสติกจำนวนมาก สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีมูลค่ามากขึ้นนำมาใช้ในวงการก่อสร้างตึกอาคารได้แข็งแรง

          ประชุม เริ่มต้นกล่าวในเรื่องนี้ว่า กระแส รักษ์โลกวันนี้มีเรื่องให้คิดค้นใหม่ๆ มากมาย เช่น เทคโนโลยีสะอาด (Clean Technology) ก็มีหลากหลายสาขา อาทิ การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ (Energy Efficiency) การใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ (Water Efficiency) การใช้พลังงานจากของเสีย (Waste to Energy) พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) หรือการบริหารจัดการของเหลือทิ้ง (Waste Management)
โดยที่คณะวิศวกรรมโยธา นักวิจัยเลือก เศษพลาสติกจากรองเท้าเป็นวัสดุหลักสู่คอนกรีตบล็อกมวลเบา ชูจุดเด่นที่น้ำหนักเบา ต้นทุนถูก แต่ผู้ประกอบการไม่นำของเหลือใช้จากกระบวนการผลิตต่อยอด
ในฐานะนักวิจัย ประชุม มุ่งมั่นผลักดันในเชิงพาณิชย์เพื่อขยายการใช้ประโยชน์ไปในวงกว้างขึ้นอีกด้วย จึงเดินหน้าวิจัยและพัฒนาวัสดุก่อสร้างสีเขียว แบบครบวงจร
“ไทยมีโรงงานรองเท้ามากกว่า 1,000 แห่งทั่วประเทศ ทำให้โอกาสสำหรับวัสดุที่เป็นเศษพลาสติกมีมาก ในขณะที่ความต้องการวัสดุก่อสร้างที่ตอบโจทย์ปัญหาของอุตสาหกรรมก่อสร้างที่สะดวก ใช้คนน้อยลง เพราะขาดแคลนแรงงาน ทำให้เรามีโอกาสที่จะต่อยอดเชิงพาณิชย์มาก จึงจับมือผู้ประกอบการก่อสร้างขนาดเล็กนำงานวิจัยไปใช้ในการพัฒนาสิ่งเหลือใช้ให้มีมูลค่า เพิ่มขึ้น” ประชุม กล่าวถึงที่มาที่ไปของการสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นมิตรต่อโลกสีน้ำเงินใบนี้
นอกจากนี้ ยังมีนวัตกรรมสำหรับอุตสาหกรรมก่อสร้างที่เน้นจุดเด่นของการใช้วัสดุธรรมชาติมาเสริม หรือใช้ เทคโนโลยีที่ไม่ซับซ้อน โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี คิดค้นไม่หยุดยั้ง
เช่น “เพเฟอร์” แผ่นผนังดินอัดสำเร็จรูป ไม่ละลายน้ำ และมีการยึดเกาะ ของโมเลกุลดี ง่ายต่อการขนส่ง พร้อมจุดเด่นคือ ต้านทานการชะล้างสูง เนื่องจาก บ้านดินมักเจอปัญหาที่ไม่ทนน้ำ ตอบโจทย์บ้านดินสำหรับพักอาศัย รวมถึงบ้านพักอากาศหรือรีสอร์ทที่เน้นเชิงอนุรักษ์และประหยัดพลังงาน ที่จะช่วยให้บ้านเย็นเมื่ออากาศร้อนและบ้านอุ่นเมื่ออากาศเย็น
“โคโค่กรีน” จากผลพลอยได้ของโรงงานแปรรูปมะพร้าว ทั้งเถ้ากะลามะพร้าว เส้นใยมะพร้าว ขุยและกากมะพร้าว รวมถึงกล่องยูเอชทีมาเป็นส่วนผสมสำคัญผลิตอุปกรณ์ก่อสร้างต้นทุนต่ำและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผ่านมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) และสปีดวอลล์ ผนังมวลเบาสำเร็จรูปก่อสร้างเร็ว ความหนาแน่นต่ำ แต่ยืดหยุ่นสูง น้ำหนักเบาเพียง 50% ของผนังคอนกรีตสำเร็จรูป ใช้แรงงานคนในการติดตั้งได้ง่าย ไม่ต้องใช้เครื่องจักร
ชุดผลิตภัณฑ์ก่อสร้างผลงานของ มทร.ธัญบุรี คิดค้นเหล่านี้เป็นผลจากการวิจัยและพัฒนาเพื่อให้เกิดประโยชน์กับอุตสาหกรรมก่อสร้าง ผนวกการนำของเหลือทิ้งหรือผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติมาต่อยอดใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อการก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมทั้งภายนอกและภายใน

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]