‘ลม’ หายใจประชาชน 

 เรื่อง…กาญจนา อายุวัฒน์ธนชัย
          ภาพ…สำนักพระราชวัง, คลังภาพโพสต์ทูเดย์
          เทคโนโลยีกังหันลมเกิดขึ้นจากแรงลมขับเคลื่อนกังหันทำให้เปลี่ยนพลังงานจลน์เป็นพลังงานกล และนำพลังงานกลมาใช้ประโยชน์ โดยเริ่มแรกมนุษย์ใช้แรงลมในการแล่นเรือเดินทาง ต่อมาได้นำมาใช้ในภาคการเกษตร และได้พัฒนาจนสามารถนำมาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าในที่สุด
          พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงนำเทคโนโลยีกังหันลมมาใช้ในโครงการตามพระราชดำริ หลายแห่ง ทั้งโครงการชั่งหัวมันตามพระราชดำริ โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา และวังไกลกังวล พระองค์ทรงเป็นต้นแบบในการนำพลังงานทดแทนมาใช้ในภาคการเกษตร ซึ่งพลังงานลมนั้นเป็นพลังงานสะอาด ใช้แล้วไม่หมดสิ้น และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เป็นอีกหนึ่งพลังงานทางเลือกที่น่าสนใจ โดยเฉพาะในสถานการณ์ภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
          พระองค์ทรงทราบดีว่าประเทศไทยยังต้องอาศัยเชื้อเพลิงและพลังงานจากต่างประเทศอยู่มาก จึงทรงศึกษาเรื่องพลังงานทดแทนไว้เป็นการล่วงหน้า ทั้งพลังงานลม พลังงานน้ำ และพลังงานจากมวลชีวภาพ
          ทุ่งกังหันลมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
          พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระราชดำริให้สร้างทุ่งกังหันลมไว้ที่โครงการชั่งหัวมันตามพระราชดำริ เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าไว้ใช้ภายในโครงการและขายให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
          พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสให้นำพลังงานลมมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เนื่องจากบริเวณที่ตั้งโครงการมีลักษณะภูมิศาสตร์ที่เหมาะสม จึงทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้ติดตั้งกังหันลมจำนวน 10 ตัว ผลิตไฟฟ้าเพื่อเป็นต้นแบบ โดยมีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี และบริษัท พระพายเทคโนโลยี ร่วมกันออกแบบติดตั้งกังหันลม และระบบจำหน่ายไฟฟ้า
          จากนั้นทั้งสองหน่วยงานได้ทำการติดตั้งกังหันลมผลิตไฟฟ้าขนาด 5 กิโลวัตต์ เพิ่มเติมอีกจำนวน 10 ชุด รวมเป็นจำนวน 20 ชุด ส่งผลให้มีกำลังการผลิตไฟฟ้าสูงสุด 100 กิโลวัตต์ ปัจจุบันกังหันลมแต่ละต้นสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 25 กิโลวัตต์ รวมแล้วในหนึ่งเดือนสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 1,500 กิโลวัตต์ นอกจากจะใช้กระแสไฟฟ้าในโครงการแล้ว ยังขายให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคด้วย
          ทุ่งกังหันลมแห่งนี้ได้รับสมญานามว่าเป็นทุ่งกังหันลมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และยังเป็นพื้นที่ศึกษาดูงานด้านการใช้เทคโนโลยีกังหันลมที่ประสบผลสำเร็จ ยังประโยชน์ให้แก่การเกษตรและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
          โครงการชั่งหัวมันตามพระราชดำริ เกิดขึ้นหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระ ปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพบหัว มันเทศที่ชาวบ้านนำมาทูลเกล้าฯ ถวายแล้วแตกใบออกมาบนตาชั่งทั้งที่ไม่ได้ปลูกลงดินและไม่มีใครดูแล จึงมีรับสั่งให้นำหัวมันเทศนั้นไปปลูกใส่กระถางไว้ในวังไกลกังวล แล้วมีพระราชดำรัสให้จัดหาพื้นที่เพื่อทดลองปลูกมันเทศซึ่งเป็นพืชที่สามารถปลูกขึ้นได้ทุกที่ แม้ว่าจะวางทิ้งไว้บนตาชั่งก็ตาม
          แต่เดิมสภาพพื้นที่ใน ต.เขากระปุก อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี ที่ตั้งของโครงการ ชั่งหัวมันตามพระราชดำริ มีความแห้งแล้งมาก ทว่าเมื่อได้ทดลองปลูกมันเทศก็สามารถปลูกได้ดี จึงมีการพัฒนาพื้นที่ ปรับปรุงระบบน้ำที่อ่างเก็บน้ำหนองเสือ จัดสรรเป็นแปลงเกษตรโดยเน้นพืชเศรษฐกิจในพื้นที่ เช่น มันเทศ สับปะรด มะนาว และมะพร้าว รวมถึงการปลูกไม้ผล พืชไร่ และพืชผัก เช่น แก้วมังกร ชมพู่เพชร กล้วย ฟักทอง อ้อย มะเขือเทศราชินี ข้าวเจ้า ข้าวเหนียว และยางพารา โดยการปลูกพืชทั้งหมดจะไม่ใช้สารเคมีถ้าไม่จำเป็น หากต้องใช้ก็จะใช้ในปริมาณที่น้อยที่สุด นอกจากนี้ยังมีฟาร์มโคนมและฟาร์มไก่ สมกับเป็นการทำเกษตรผสมผสานที่ให้ประโยชน์หลายอย่างในพื้นที่เกษตรกรรม
          โครงการชั่งหัวมันตามพระราชดำริ เปิดให้เกษตรกรเข้ามาศึกษาดูงาน และคนทั่วไปสามารถเยี่ยมชมโครงการได้ โดยมีรถรางให้บริการไปชมตามจุดต่างๆ นอกจากจะได้ความเพลิดเพลิน ยังได้ความรู้ด้านการเกษตรและการใช้พลังงานทดแทนไปพร้อมกัน
          ลมสูบน้ำเลี้ยงเกษตรกรรม
          โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา เป็นหนึ่งใน 4,000 กว่าโครงการ ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระราชดำริให้ริเริ่มขึ้นเพื่อเป็นพื้นที่ทดลองการทำเกษตร ปศุสัตว์ และพัฒนาเทคโนโลยีด้านเกษตรกรรม
          ภายในโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา มีกังหันลมสูบน้ำจำนวน 2 เครื่อง ติดตั้งที่บริเวณด้านหน้าโครงการและบริเวณโรงเพาะเห็ด เป็นกังหันลมขนาดสูง 18 เมตร ความกว้างของใบพัด 20 ฟุต จำนวนใบพัด 45 ใบ สูบน้ำได้ 2,000-2.4 หมื่นลิตร/ชั่วโมง กังหันลมทั้งสองเครื่องใช้สูบน้ำจากคลองรอบพระตำหนักเข้ามาที่บ่อเลี้ยงปลานิลที่ด้านหน้าโครงการและนำน้ำจากคลองมาใช้ในการอุปโภคที่บริเวณโรงเพาะเห็ด
          โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา นับเป็นแหล่งพัฒนาพลังงานทางเลือกหลายอย่าง เช่น นำอ้อยมาแปรรูปเป็นแอลกอฮอล์ โครงการบ้านพลังงานแสงอาทิตย์ ระบบสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ และการค้นคว้าวิจัยการผลิตแอลกอฮอล์ แก๊สโซฮอล์ และไบโอดีเซล
          พลังงานทดแทนมีความสำคัญอย่างมากต่อปัจจุบันและอนาคต การให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากพลังงานทางเลือกหรือพลังงานชนิดที่สามารถทดแทนได้ ใช้แล้วไม่หมดไปจึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง โดยเฉพาะระบบผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานลมและกังหันลมสูบน้ำ เทคโนโลยีที่ไม่ยุ่งยากและให้ประโยชน์ทั้งไฟฟ้าและน้ำ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการทำเกษตร โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา จึงนับเป็นอีกโครงการที่สาธิตการใช้ประโยชน์จากพลังงานลม และเป็นแบบอย่างของการศึกษาเกี่ยวกับพลังงานทดแทน
          นอกจากนี้ เทคโนโลยีกังหันลมยังนำไปใช้ใน โครงการสระเก็บน้ำพระราม 9 หนึ่งในโครงการแก้มลิงตามแนวพระราชดำริ ที่มีการติดตั้งกังหันลมเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า โครงการดังกล่าวตั้งอยู่ที่ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี ระหว่างคลองรังสิต 5 และ 6 โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีได้นำระบบพลังงานทดแทนมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ใช้ระบบร่วมระหว่างพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ในช่วงกลางวันจะใช้พลังงานแสงอาทิตย์เป็นหลัก และในช่วงเย็นถึงกลางคืนจะอาศัยพลังงานลมสำหรับขับเคลื่อนกังหันลม 2 ตัว ซึ่งเป็นกังหันลมความเร็วลมต่ำที่ปราศจากเสียง จึงไม่รบกวนชุมชนใกล้เคียง
          ประเทศไทยถือได้ว่ามีศักยภาพในการนำพลังงานลมมาใช้ประโยชน์อยู่ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นกังหันลมแบบใบกังหันไม้ใช้วิดน้ำเข้านาข้าว จ.ฉะเชิงเทรา กังหันใบเสื่อลำแพนใช้วิดน้ำเค็มเข้านาเกลือ จ.สมุทรสงคราม และกังหันลมแบบใบกังหันหลายใบทำด้วยแผ่นเหล็กใช้สำหรับสูบน้ำลึก ซึ่งระบบผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานลมและกังหันลมสูบน้ำไม่เพียงมีความสำคัญต่อการศึกษาพัฒนาเรื่องพลังงานทดแทน แต่พลังงานลมยังช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม การใช้ประโยชน์จากพลังงานลมเป็นเทคโนโลยีที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงคิดค้น พัฒนา และนำมาใช้ในภาคการเกษตรนานกว่า 55 ปี ซึ่งจะเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญสำหรับอนาคตของคนไทย

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]