คอลัมน์ เดลินิวส์วาไรตี้: ‘หัตถศาสตร์’ภูมิปัญญาไทยชวนรู้จักนวดไทย’เชลยศักดิ์’

เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 11 ก.ค. 2566

พงษ์พรรณ บุญเลิศ

ศาสตร์และศิลป์การดูแลสุขภาพที่มุ่งแก้ไขความผิดปกติของธาตุทั้งสี่ในร่างกาย โดยเฉพาะการติดขัดของเลือดลมในเส้น ด้วยกรรมวิธีต่าง ๆ อันได้แก่ การกด การคลึง การบีบ และการประคบ หรือกรรมวิธีอื่น ๆ ตามที่ สืบทอดและพัฒนาสืบต่อกันมา โดยครูหมอนวดไทยในอดีตจนถึงปัจจุบัน…

ส่วนหนึ่งจากข้อมูลบอกเล่าเรื่องการนวดไทย การนวดที่มีประวัติความเป็นมายาวนานจากข้อมูลกรมส่งเสริมวัฒนธรรม อีกทั้งการนวดไทยเป็นวัฒนธรรมและวิถีชีวิตด้านสุขภาพที่ช่วยให้คนไทยสามารถช่วยเหลือตนเองได้ทางสุขภาพ มีคุณค่า ทำให้มีสุขภาพกายสุขภาพใจดี ทั้งยังช่วยสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างบุคคล

การนวดไทย มีทั้งองค์ความรู้และศิลปะในการดูแลร่างกายและรักษาอาการเจ็บป่วยที่สะท้อนให้เห็นถึงภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของคนไทย ที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ เป็นส่วนหนึ่งของแบบแผนการใช้ชีวิตที่มีคุณค่ามาแต่เดิมของสังคมไทยที่มีการสืบทอดต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน สร้างชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก โดยที่ผ่านมานวดไทยขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ รวมถึงยูเนสโกประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ

ด้วยวิธีการนวดและธรรมเนียมปฏิบัติที่เป็นเอกลักษณ์ และมีมาตรฐาน โดยการนวดไทยแบ่งเป็นสองสาย ได้แก่ ราชสำนัก และ เชลยศักดิ์ ทั้งนี้ชวนค้นเรื่องน่ารู้นวดไทย ชวนรู้จักกับการนวดแบบเชลยศักดิ์ การนวดที่มีเอกลักษณ์ นวดแบบสามัญชนทั่วไปเพื่อสุขภาพเพื่อการผ่อนคลาย โดย อาจารย์ประจำหมวดรายวิชาหัตถเวชกรรมแผนไทยคณะการแพทย์บูรณาการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีให้ความรู้ว่าการนวดแผนไทยเป็นศาสตร์และศิลป์การรักษาดูแลสุขภาพที่มีมายาวนาน

“การนวดไทยไม่ว่าจะเป็น การนวดแบบเชลยศักดิ์ หรือนวดแบบราชสำนัก การนวดทั้งสองศาสตร์ช่วยส่งเสริมสุขภาพ ช่วยผ่อนคลาย ทั้งบรรเทาอาการปวดเมื่อยแก่ผู้ที่มีปัญหาการใช้กล้ามเนื้อ ทั้งช่วยรักษาอาการในระบบต่าง ๆ โดยมีรายละเอียด มีวิธีการนวดที่แตกต่างกัน ซึ่งการนวดสายราชสำนัก จะมีองศาท่าทางตำแหน่งที่ชัดเจน ใช้เพียงมือในการนวด จะไม่ใช้ศอก เข่า เท้า ท่วงท่าที่ใช้ในการนวดมีความสุภาพเรียบร้อย ส่วน การนวดสายเชลยศักดิ์ จะมีการใช้ทุกส่วนของร่างกายนวดให้กับผู้ป่วยหรือผู้รับการนวด ไม่ว่าจะเป็นการใช้ศอก เข่า การบีบ การดัด การดึง ฯลฯ”

การนวดแบบเชลยศักดิ์ จะมีความหลากหลาย แตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น ภูมิภาค ทั้งนี้บางท้องถิ่นมีวัฒนธรรมที่ต่างกัน ท่าการนวดจึงมีความหลากหลายเป็นองค์ความรู้ที่น่าศึกษาและสืบสานมรดกภูมิปัญญาการนวดไทย การนวดไทยมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักดังไกลไปทั่วโลก โดยแหล่งศึกษาสำคัญศึกษาได้จากการนวดวัดโพธิ์ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม

อาจารย์ประจำหมวดรายวิชาหัตถเวชกรรมแผนไทยให้ความรู้เพิ่มอีกว่า การนวดทั้งสองรูปแบบมีเสน่ห์ มีความขลังในตัวเอง ทั้งมีรายละเอียดที่น่าศึกษา โดยปัจจุบันการนวดไทยทั้งสองรูปแบบได้รับการสืบทอดองค์ความรู้ โดยที่คณะเรามีการจัดการเรียนการสอนนำการนวดไทยราชสำนักนำมานวดรักษา รวมถึงการนวดเชลยศักดิ์ นวดเพื่อสุขภาพเพื่อความผ่อนคลาย แต่อย่างไรแล้วไม่ว่าจะเป็น การนวดราชสำนัก หรือนวดเชลยศักดิ์ การนวดไทยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการผ่อนคลายกล้ามเนื้อ และเป็นการนวดเพื่อการรักษา

“การนวดไทยมีวิธีการนวดได้หลากหลายที่นำมาประกอบกัน ผู้นวดผู้ที่ทำการรักษาจะมีเทคนิค มีวิธีการนวดและการ วินิจฉัย อย่างเช่น การปวดตึงหลังอาจไม่ใช้แค่การบีบ กด อาจนำวิธีการดึง ดัดจัดกระดูกตามแบบแผนไทยเข้ามานวดรักษาร่วมด้วย ในการนวดไทยดังกล่าวทั้งสองแบบจากที่กล่าว มีรายละเอียดวิธีการต่างกัน อย่างเช่น การนวดขา นวดแขน นวดหลัง บ่าไหล่การนวดมีความใกล้เคียงกัน อาจต่างกันที่การวางมือ กระบวนหรือวิธีลงน้ำหนัก การนั่งของผู้นวด หรือท่านอนของผู้รับการนวดจะต่างกัน ซึ่งต้องบอกว่าไม่ว่าจะเป็นศาสตร์ราชสำนัก หรือเชลยศักดิ์พื้นฐานของการนวดเหมือนกัน”

การนวดทั้งสองรูปแบบจากที่กล่าวมีความต่างกันในรายละเอียด การนวดแบบเชลยศักดิ์การนวดในรูปแบบนี้ แต่ละพื้นที่ แต่ละท้องถิ่นอาจต่างกัน โดยขึ้นอยู่กับขนบธรรมเนียมประเพณี หรือการสะสมองค์ความรู้ของผู้ถ่ายทอด ไม่ว่าจะเป็นลำดับขั้นตอนการนวด ทิศทางการลงน้ำหนัก ฯลฯ เป็นการนวดเพื่อรักษา เพื่อความผ่อนคลาย ส่วน การนวดไทยแบบราชสำนัก ในปัจจุบันนำมาใช้บำบัดโรคเป็นการนวดที่เน้นการรักษาโดยผู้ที่จะรับบริการอาจต้องทราบความต้องการของตนเองก่อนว่าต้องการนวดเพื่อจุดหมายใด

การนวดยังมีเรื่องน่ารู้มีข้อควรระวัง ทั้งนี้ทีมอาจารย์เล่าขยายเพิ่มอีกว่า สิ่งที่ต้องเรียนรู้ก่อนการนวดคือต้องประเมินตนเองก่อนว่ามีภาวะเสี่ยงใดหรือไม่ เช่น โรคประจำตัว ความดันโลหิตสูง กระดูกพรุน หรือการผ่าตัด อุบัติเหตุในอดีต หรือการตั้งครรภ์ ฯลฯ โดยเฉพาะกลุ่มเด็ก ผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์ ต้องเพิ่มความระมัดระวัง ทั้งใช้บริการร้านนวดที่ได้มาตรฐานผ่านการรับรองจากกระทรวงสาธารณสุข ขณะที่สถานประกอบการควรให้รายละเอียด คำแนะนำแจ้งบอกปัจจัยเสี่ยงที่อาจเกิดอันตรายกับผู้นวดอย่างชัดเจนทุกครั้ง เป็นต้น

ย้อนกลับไปถึงความเป็นศาสตร์และศิลป์ของการนวดไทย ในสมัยก่อนถ้าพูดถึงการนวดจะเป็นการนวดด้วยตนเอง นวดให้กันในครอบครัว หรือในมิติการเรียนการสอนจะเห็นว่ามีพัฒนาการ สะสมเป็นองค์ความรู้ส่งต่อการสืบสานต่อกันมา โดยไม่ว่าจะเป็นการนวดแบบราชสำนัก หรือการนวดเชลยศักดิ์หรือการนวดอื่น ๆ

การนวดนอกจากช่วยฟื้นฟูสุขภาพ ยังส่งเสริมสุขภาพ อย่างการนวดเพื่อการรักษาเป็นการฟื้นฟูสุขภาพ ขณะที่การส่งเสริมสุขภาพเป็นการนวดเพื่อการผ่อนคลาย ทำให้กล้ามเนื้อคลายตัว ระบบการไหลเวียนเลือดดีขึ้น อวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกายก็ดีขึ้น และด้วยการนวดทุกศาสตร์เป็นการกระทำต่อกล้ามเนื้อ เส้นประสาท เส้นเอ็น จึง ต้องศึกษาการนวดอย่างถูกหลักถูกวิธี โดยบริเวณที่ต้องพึงระวังอย่างเช่น จุดที่เป็นเนื้อเยื่ออ่อนบริเวณข้อพับต่าง ๆ บริเวณคอ บ่า ศีรษะ รวมถึงสิ่งที่เป็นข้อควรระวังสำหรับการนวดดังที่กล่าวมา ควรนวดโดยอยู่ในท่าหรือตำแหน่งที่ถูกต้องจึงจะได้รับประโยชน์

อย่างเช่น การนวดให้กับผู้สูงอายุ ผู้นวดต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ ทั้งนี้ระบบการทำงาน กล้ามเนื้อและกระดูกอาจเสื่อมถอยลง ควรนวดเพื่อผ่อนคลายเฉพาะจุด และด้วยการนวดต้องกดหรือบีบให้เส้นที่ยึดหรือตึง ผ่อนคลายลง ไม่ควรนวดกดเส้นเลือดหรือกดซ้ำ ๆ ที่จุดเดิมอย่างเดียว โดยเฉพาะเส้นเลือดบริเวณบ่า และขาหนีบซึ่งอาจทำให้เส้นเลือดช้ำได้ง่าย ฯลฯ ทั้งนี้โดยส่วนใหญ่ผู้ที่ผ่านหลักสูตร ผ่านการอบรมจากหน่วยงาน สถาบันการศึกษาที่มีการเรียนการสอน การอบรมจะให้ความรู้ในเรื่องกายวิภาคศาสตร์กับผู้อบรม เรียนรู้ร่างกายพื้นฐาน เรียนรู้ข้อควรระวังก่อนจะทำการนวด ฯลฯ

อาจารย์จากคณะการแพทย์บูรณาการ เล่าขยายการนวดไทยแบบเชลยศักดิ์ทิ้งท้ายเพิ่มอีกว่า การนวดในรูปแบบนี้ด้วยที่มีความต่างจากท่าการนวดแบบราชสำนักซึ่งใช้ส้นมือ ใช้นิ้วใช้การกดนวด แต่สำหรับเชลยศักดิ์ จะใช้การดัด การเหยียด ดึงเป็นหลัก ใช้มือ ศอก เข่า เท้าช่วยการนวด แบบแผนการนวดจะคล้ายคลึงกัน แต่จะเน้นการยืดเหยียดมากกว่า โดยถ้าเป็นผู้มีปัญหาเกี่ยวกับกระดูก หรือข้อต่อ เส้นเอ็นที่ยึดติด ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษเพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ตามผู้ที่ผ่านการอบรมหรือการเรียนจะทราบดีในข้อห้าม ข้อควรระวังเหล่านี้

การนวดไทยทั้งสองรูปแบบเป็นที่สนใจมีผู้เข้ารับการอบรมทั้งสองศาสตร์ อีกทั้งปัจจุบันยังนำองค์ความรู้ประยุกต์ นำจุดที่เป็นจุดเด่นของราชสำนัก อย่างเช่น การกดจุด หรือการนำจุดเด่นของการนวดแบบเชลยศักดิ์นำมาผสมผสานกัน ส่วนการนวดโดยศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่งที่เฉพาะก็ยังคงมี โดยผลลัพธ์การนวดนั้นนอกจากให้ความผ่อนคลาย ลดอาการปวดเมื่อย ยังช่วยส่งเสริมสุขภาพ กระตุ้นการไหลเวียนของเลือด โดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวกับกล้ามเนื้อ การนวดเป็นวิธีที่ได้ผลที่จะช่วยให้กล้ามเนื้อคลายตัว อาการปวดเมื่อยลดคลายลง แต่ทั้งนี้นอกจากการนวดก็ต้องมีองค์ประกอบอื่น ๆ ร่วมด้วย โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

แม้การนวดจะทำให้มีอาการดีขึ้น แต่หากยังมีพฤติกรรมเดิม ไม่ปรับเปลี่ยนอิริยาบถเดิม ๆ ก็จะทำให้อาการปวดเมื่อยกลับมาวนเวียนเช่นเดิม อีกส่วนหนึ่งบอกเล่าเรื่องน่ารู้นวดไทยมรดกทางวัฒนธรรม

ศาสตร์และศิลป์ส่งเสริมการดูแลสุขภาพ.

“มีเสน่ห์ มีความขลัง ส่งเสริมสุขภาพ ผ่อนคลาย”

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]