คอลัมน์ เดลินิวส์วาไรตี้: ส่องปรากฏการณ์ ‘เอลนีโญ’

เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 23 พ.ค. 2566
พงษ์พรรณ บุญเลิศ

สภาพภูมิอากาศตรงข้าม ‘ลานีญา’

เปลี่ยนผ่านจากฤดูร้อนเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการกันแล้วนับจากนี้ โดยช่วงรอยต่อต้นฤดูยังคงต้องติดตามฝนฟ้าอากาศใกล้ชิด ทั้งนี้จากการคาดการณ์สภาพอากาศในปีนี้มีแนวโน้มเผชิญกับเอลนีโญ

การเตรียมความพร้อมรับมือ และติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องมีความสำคัญ อีกทั้งปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” คำที่ถูกพูดถึงบ่อยในเรื่องของสภาพอากาศ โดยที่ผ่านมาองค์การอุตุนิยมวิทยาโลกยังคาดการณ์แนวโน้มโลกต้องเผชิญกับปรากฏการณ์ดังกล่าว โดยทุกภาคส่วนต้องร่วมกันเตรียมพร้อมรับมือกับอุณหภูมิซึ่งจะสูงขึ้น

ทั้งนี้นำเรื่องน่ารู้ นำความรู้ส่องปรากฏการณ์เอลนีโญ และลานีญา ชวนมองผลกระทบรอบด้าน ทั้งร่วมดูแลธรรมชาติสิ่งแวดล้อม โดย ผศ.ดร.นิธิวัฒน์ ชูสกุล อาจารย์ประจำสาขาฟิสิกส์ ผู้ช่วยคณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีให้ความรู้ว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญและลานีญาเป็นปรากฏการณ์ตรงข้ามกัน

ปรากฏการณ์เอลนีโญ โดยหลักทำให้มีฝนตกหนัก ตกเยอะ ส่วนลานีญาเป็นความแห้งแล้ง ดังนั้นถ้าลานีญาอยู่ทางไหนจะมีความแห้งแล้ง ตรงข้ามกับเอลนีโญ อยู่ตรงไหนจะมีฝนตก น้ำท่วม และมีภัยพิบัติอื่นพ่วงตามมา เกิดภาวะแห้งแล้ง ดินถล่ม พืชผลการเกษตรเสียหาย ฯลฯ

อาจารย์ประจำสาขาฟิสิกส์ ผศ.ดร.นิธิวัฒน์ อธิบายเพิ่มอีกว่า จากแผนที่มหาสมุทรแปซิฟิกซึ่งเชื่อมต่อทวีปเอเชียและทวีปอเมริกา ลมค้าซึ่งพัดจากด้านตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิกไปยังด้านตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก ทำให้กระแสน้ำอุ่นไหลจากอเมริกาใต้มายังฝั่งเอเชีย ทำให้เกิดฝนตกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ด้วยปรากฏการณ์เอลนีโญและลานีญาทำให้กระแสลมและกระแสน้ำอุ่นที่กล่าวมาเกิดความแปรปรวน ส่งผลให้เกิดภาวะแห้งแล้งและฝนตกหนัก

ปรากฏการณ์เอลนีโญ เกิดจากกระแสลมมีกำลังอ่อนและเปลี่ยนไม่ถูกพัดผ่านมา ด้วยเหตุนี้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และออสเตรเลียจะขาดฝนและเกิดความแห้งแล้ง แต่ชายฝั่งของทวีปอเมริกาใต้กลับมีฝนตกเพิ่มมากขึ้น

“ส่วนบนของผิวน้ำทะเลเมื่อได้รับความร้อนจะสะสมเกิดเป็นน้ำอุ่นอยู่ด้านบน น้ำลึกด้านล่างเป็นน้ำเย็น น้ำอุ่นที่อยู่ด้านบนจะถูกพัดมาด้วยลมประจำถิ่นในทิศทางเดิม โดยลมค้าจะพัดจากขวาไปซ้าย จากอเมริกาใต้มาไทยมายังทวีปแถบนี้ โดยถ้าเป็นความปกติจะพัดมาเป็นประจำ เป็นแพตเทิร์นลักษณะนี้”

แต่จากที่กล่าวและหากลมค้าพัดรุนแรงพากระแสน้ำอุ่นไปทั้งหมด น้ำเย็นก็จะเกิดขึ้นมาแทนที่ ฝนก็จะไม่มีทางทวีปอเมริกาใต้ ซึ่งจะแล้ง โดยส่วนหนึ่งนี้ อธิบายถึงปรากฏการณ์ ซึ่งจะมีความต่างกัน ตรงข้ามกัน เป็นปรากฎการณ์ที่คู่กัน สะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และด้วยกระแสน้ำมีการเดินทางกว่าจะมาถึงปลายทางซึ่งมีระยะห่างกันไม่น้อย ก็จะมีช่วงเวลาที่เกิดขึ้นไล่เลี่ยกัน เหลือบกัน

“การที่น้ำอุ่นจะเกิดขึ้น ต้องมีการรับรังสีแสงอาทิตย์ที่เพียงพอ ถ้าฟิลเตอร์ธรรมชาติถูกรบกวน โดยถ้าเป็นปกติก็จะมีตัวคัดกรองความเข้มข้นของแสงอาทิตย์โดยธรรมชาติ แต่ด้วยที่มนุษย์สร้างมลพิษ ทำให้ฟิลเตอร์ธรรมชาติ ชั้นบรรยากาศบางลง ทำให้รังสีผ่านเข้ามาได้มากส่งผลให้โลกร้อนขึ้น น้ำอุ่นเพิ่มสูงขึ้นก็มีโอกาสเกิดเอลนีโญเพิ่มขึ้น”

ผศ.ดร.นิธิวัฒน์อธิบายเพิ่มอีกว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญ ลานีญา ที่ผ่านมามีการติดตามกล่าวถึงมาโดยตลอด เป็นปรากฏ การณ์ธรรมชาติ แต่ด้วยปัจจุบันปัญหามลพิษทำให้เกิดความไม่สมดุล โลกร้อนขึ้น ฝนตกโหดขึ้น ตกหนักมากขึ้น หรือเกิดฝนแล้ง ฝนทิ้งช่วง เกิดผลกระทบถึงกันทั้งโลก ทั้งนี้คงต้องร่วมใจกันดูแลโลกให้ความสำคัญต่อธรรมชาติสิ่งแวดล้อมในทุกมิติยิ่งขึ้น

“ปรากฏการณ์เหล่านี้มีแนวโน้มมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดถี่ขึ้น รุนแรงขึ้น แต่ไม่ว่าจะเกิดเอลนีโญหรือลานีญาการ เตรียมพร้อมรับมือเป็นสิ่งสำคัญเช่นเดียวกับการลดมลพิษ ปัญหาสิ่งแวดล้อมยิ่งต้องตระหนัก อย่างฤดูฝนของไทยเวลานี้ ช่วงรอยต่อของฤดูกาล ก็มีความเป็นไปได้ที่จะมีความแปรปรวนของสภาพอากาศ

มีพายุฝนฟ้าคะนอง อากาศร้อนอบอ้าว ซึ่งการเกิดขึ้นเป็นไปตามฤดูกาล แต่ถ้ามองความรุนแรงมองว่ามีเพิ่มขึ้น ทั้งลูกเห็บ ลมกระโชกแรง ฯลฯ ต่างไปจากเดิมที่เกิดพายุฤดูร้อน ฝนฟ้าคะนองในปีก่อน ๆ”

สภาพอากาศร้อนอบอ้าวดุเดือดหรือพายุฝนฟ้าคะนองที่รุนแรงเป็นภาพสะท้อนจากน้ำมือมนุษย์ที่รบกวนธรรมชาติทำให้ธรรมชาติแปรปรวน จากที่กล่าวรังสีแสงอาทิตย์มีความสัมพันธ์กับการระเหยของน้ำ การเกิดเมฆเกิดฝน ยิ่งรังสีมากขึ้นการรับอุณหภูมิ การเก็บอุณหภูมิของพื้นที่ก็มีเพิ่มขึ้น อีกทั้งเรื่อง พื้นที่สีเขียว ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญสร้างความสมดุล ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ฯลฯ

อาจารย์ประจำสาขาฟิสิกส์ ผศ.ดร.นิธิวัฒน์ ให้มุมมองอีกว่า พื้นที่สีเขียวลดน้อยลงก็เป็นส่วนเสริมให้อากาศร้อนยิ่งขึ้น ทั้งนี้ความร้อนที่เกิดขึ้นไม่ได้ส่งผลกระทบแค่สุขภาพ หรือการดำเนินชีวิต แต่จะส่งผลกระทบต่อไปในวงกว้าง ต่อถึงสิ่งแวดล้อม สิ่งมีชีวิตต่าง ๆ โอกาสเกิดไฟป่า เกิดภัยแล้งรุนแรงซึ่งส่งผลต่อภาคเกษตรกรรม ทั้งเรื่องของการเพาะปลูก รวมถึงผลผลิตทางการเกษตร

อีกทั้งอากาศร้อนอุณหภูมิสูงกว่าปกติยังส่งผลต่อภัยธรรมชาติอื่น ๆ เกิดความแปรปรวน จากที่เคยเป็นอยู่เปลี่ยนไป ที่ไม่เคยเกิดขึ้นก็ปรากฏให้เห็น ดังเช่น ฝนตกน้ำท่วมใหญ่ หรือการเกิดหิมะตกหนักในต่างประเทศ เป็นต้น พื้นที่สีเขียวในเมืองจึงมีส่วนสำคัญต่อการลดคลายอุณหภูมิความร้อน และการมีพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ ประสิทธิภาพของพื้นที่สีเขียวก็จะยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น

แต่ถ้าเป็นเมืองที่มีพื้นที่สีเขียวน้อย มีแต่อาคารบ้านเรือน ถนนปิดกั้นไม่ให้น้ำในดินระเหย หรือพื้นที่มีการจราจรหนาแน่น ฝุ่นควันรถยนต์ที่เกิดจากการเผาไหม้ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นซีดให้ไอน้ำเกาะรวมตัวเป็นหยดน้ำ โดยถ้าลมไม่พัดพาไปที่ใดก่อนก็มีโอกาสทำให้เกิดฝนตกในเมือง แต่คุณภาพน้ำฝนจะต่างจากน้ำฝนจากพื้นที่สีเขียวธรรมชาติ

ปรากฏการณ์เอลนีโญ หรือปรากฏการณ์ลานีญา เป็นภาพรวมของทั้งโลกเป็นภาพใหญ่ที่ต้องเตรียมความพร้อมรับมือ ติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกับภาคการเกษตรทั้งนี้ผศ.ดร.นิธิวัฒน์ ให้ความรู้เพิ่มอีกว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่ต้องเกิดขึ้น แต่จะมีความรุนแรงหรือไม่อย่างไรในแต่ละปี คงต้องเตรียมแผนรับมือพร้อมไว้ รวมทั้งช่วยกันไม่เพิ่มความรุนแรง จากที่กล่าวการทำเพียงลำพังคงไม่ส่งผลเท่ากับที่ทุกฝ่ายทุกประเทศร่วมมือช่วยกัน เพื่อเกิดเป็นความสมดุล

“การเตรียมคูคลองพร้อมรับน้ำ หรือพื้นที่ที่เป็นจุดเสี่ยงเกิดดินถล่มกรณีที่มีฝนตกหนักต่อเนื่อง ฯลฯ ก็จะต้องเตรียมความพร้อมไว้ หรือช่วงที่เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง ฟ้าผ่าก็ต้องเพิ่มความระมัดระวัง โดยเฉพาะฟ้าผ่าอาจทำให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจรส่งผลให้เกิดไฟไหม้ขึ้นได้ ก็ต้องระมัดระวังยิ่งขึ้น หรือบริเวณบ้านเรือนที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำก็มีโอกาสได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมฉับพลันก็ต้องเตรียมพร้อม จัดเก็บสิ่งของไว้ในที่สูง เพื่อป้องกันก่อนเกิดความเสียหาย ฯลฯ ทั้งนี้ การติดตามข่าวสารสภาพอากาศ สถานการณ์ปรากฏการณ์ รวมถึงการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนจากหน่วยงานภาครัฐก็มีความสำคัญ”

ในช่วงฤดูฝนการที่ฝนตกชุ่มฉ่ำก็เป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าฝนตกลงมามาก ตกหนัก แน่นอนว่าย่อมส่งผลต่อการระบายน้ำ ถ้าผันกักเก็บระบายได้ไม่ดีก็อาจทำให้เกิดน้ำท่วมขึ้นได้สำหรับ เอลนีโญฝนจะตกหนักในบางช่วงแล้วหายไป เกิดฝนทิ้งช่วงได้ ส่วนจะตกในพื้นที่ไหนหรือไม่ตกที่ใด โดยเหล่านี้จะเกิดเป็นปัญหา เกิดความไม่สมดุล จากที่กล่าวการเตรียมพร้อมรับมือกับฤดูฝนเป็นเรื่องที่ดี ส่วนปีนี้จะมีปริมาณน้ำฝนตกมากน้อยอย่างไร จะมีฝนตกหนักหรือไม่ก็คงต้องติดตาม

อาจารย์ประจำสาขาฟิสิกส์ ผศ.ดร.นิธิวัฒน์ ให้ความรู้ทิ้งท้ายอีกว่า การเกิดขึ้นของปรากฏการณ์จะมีความแตกต่างกันของภูมิประเทศภูมิอากาศของท้องถิ่นนั้น ๆ ซึ่งจะส่งผลต่อการเกิดปรากฏการณ์รุนแรงมากน้อยอย่างไร เป็นเรื่องที่น่าศึกษาติดตาม ทั้งนี้เพื่อเตรียมความพร้อมวางแผนการเพาะปลูกพืช ทำการเกษตร

เตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ที่เกิดขึ้น.

“เกิดความไม่สมดุล เตรียมพร้อมรับมือ”

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]