คอลัมน์ ไอคิวทะลุฟ้า: หนุ่มวิศวะโยธา มทร.ธัญบุรี แบ่งปันความรู้สู่รางวัลเรียนดี

ข่าวสด ฉบับวันที่ 29 มี.ค. 2566
“เราได้ เพื่อนก็ได้” เสน่ห์อย่างหนึ่งของการติวและเป็นจุดเริ่มต้นให้ นายเตมีย์ ทับเที่ยง หรือ ปัตร หนุ่มวิศวกรรมโยธา ชั้นปีที่ 4 มทร.ธัญบุรี เลือกใช้เพื่อเป็นกลยุทธ์หนึ่งของการเรียนวิศวะ จนได้รับเหรียญรางวัลเรียนดี 1 ใน 48 คนทั่วประเทศ จากวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ประจำปี 2565

ปัตร เตมีย์ ทับเที่ยง เป็นหนุ่มใต้ จ.สุราษฎร์ธานี หลังเรียนจบจากโรงเรียนเกาะพะงันศึกษา มุ่งตรงต่อปริญญาตรี ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ เนื่องจากค่าใช้จ่ายทางบ้านเยอะจึงต้องกู้เรียนจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ตั้งแต่อยู่ชั้น ม.5 จนถึงตอนนี้

“อยากนำความรู้ด้านวิศวกร ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบ สำรวจ วิเคราะห์ ก่อสร้างบำรุงรักษา รวมถึงบริหารจัดการ กลับไปพัฒนาบ้านเกิดที่เกาะพะงัน ตอนนี้ผมเรียนอยู่ชั้นปีที่ 4 เกรดเฉลี่ยสะสมล่าสุด 3.94 ได้รับเหรียญรางวัลเรียนดี ประจำปี พ.ศ.2565 จากวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (สวท.) ซึ่งคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อการศึกษาและวิจัยทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร คัดเลือกรวมทั้งหมด 48 คนทั่วประเทศ เป็นรางวัลที่ผมดีใจมากที่สุด รางวัลนี้ทำให้ใครหลายคนมีรอยยิ้มที่ร่วมดีใจไปกับผมด้วยโดยเฉพาะแม่” ปัตรกล่าวอย่างภูมิใจ

เรียนอย่างไรถึงได้ดี ปัตรเล่าว่าจากประสบการณ์ตอนเรียนมัธยม เรียนกับเพื่อน ทำรายงานกับเพื่อน ติวกับเพื่อน แฮปปี้มาก แล้วก็สอบผ่านโดยผลเป็นที่น่าพอใจ จึงเกิดความคิดที่ว่า “เรียนและติวไปพร้อมกัน” ไปได้ไกลกว่าการเรียนและติวคนเดียวเพียงลำพัง โดยเริ่มเรียนและติวกับเพื่อนตั้งแต่ปีแรกที่เข้ามาเรียนที่ มทร.ธัญบุรี ขณะเดียวกันต้องไม่ลืมแบ่งเวลาทบทวนเรื่องที่เรียนมาด้วยตัวเอง เมื่อเจอขั้นตอนไหนจุดไหนที่ไม่เข้าใจให้ถามอาจารย์โดยตรง อย่าปล่อยผ่านไป

เมื่อเครียดและเหนื่อยล้าจากการเรียน ปัตรเลือกทำกิจกรรมซึ่งมีทั้งการเล่นเกมเพราะเกมทำให้สมองตื่นตัว รู้จักคิดแบบมีชั้นเชิง เมื่อเล่นชนะร่างกายจะหลั่งสารแห่งความสุข หากไม่เล่นเกมก็จะออกกำลัง โดยเฉพาะวิ่งและแบดมินตันภายในมหาวิทยาลัย

นอกจากนี้ยังร่วมกิจกรรมที่มหาวิทยาลัย คณะ หรือภาควิชาจัดขึ้น เข้าไปมีส่วนร่วมในสโมสรนักศึกษาฯ ทำให้ได้เพื่อนเพิ่มขึ้น เรียนรู้วิธีการทำงานและการแก้ปัญหาร่วมกัน

ส่วนเวลาที่มีปัญหาหรือรู้สึกท้อปัตรจะเลือกจัดการชีวิตโดยหาที่ปรึกษาที่ไว้ใจ บอกเล่าเรื่องราวเหล่านั้น เมื่อได้บอกออกไปแล้ว สิ่งแรกที่ได้คือความสบายใจ โล่งใจ ได้ตัวเลือกหรือคำตอบมากขึ้น เห็นทางออกมากขึ้น โดยมากจะไปปรึกษากับ ผศ.สุคม ลิปิเลิศ อีกท่านหนึ่งที่ชอบสไตล์การสอนคือ รศ.ดร.ปิติศานต์ กร้ำมาตร รวมถึงพี่ๆ ที่เป็นเจ้าหน้าที่ในภาควิชา

ปัตรเผยว่าในอนาคตเส้นทางเริ่มชัดเจนขึ้น ทั้งการเป็นวิศวกรเต็มตัว กลับไปทำงานที่บ้านเกิด อีกทางหนึ่งคือเรียนต่อ พัฒนาตนเองเพิ่มเติมด้านภาษา หากได้รับทุนการศึกษาก็จะเป็นโอกาสที่ดีมาก อีกด้านหนึ่งอยากเป็นอาจารย์เพราะเชื่อว่าตนเองสื่อสารและถ่ายทอดได้ดี

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]