คอลัมน์ เดลินิวส์วาไรตี้: ดอกไม้บูชาพระรัตนตรัย ‘บัว’ ไม้มงคลเปี่ยมคุณค่า

เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 6 มี.ค. 2566
พงษ์พรรณ บุญเลิศ

วันมาฆบูชาตรงกับวันเพ็ญเดือนสามของทุกปี ถือเป็นอีก หนึ่งวันสำคัญทางพุทธศาสนา อีกโอกาสสำรวจตนเอง ตั้งใจมั่น น้อมนำหลักธรรมคำสอนทางพุทธศาสนามาปฏิบัติ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต…

“มาฆะ”เป็นชื่อของเดือนสาม มาจากคำว่า “มาฆบุรณมี” หมายถึง การบูชาพระในวันเพ็ญกลางเดือนมาฆะ โดยหากปีใด มีเดือนอธิกมาส คือมีเดือนแปดสองครั้ง วันมาฆบูชาจะเลื่อนเป็นวันขึ้น15 ค่ำเดือน 4 ซึ่งมักตรงกับเดือนกุมภาพันธ์หรือมีนาคม และสำหรับปีนี้ วันมาฆบูชาตรงกับวันนี้ ทั้งนี้วันมาฆบูชาเป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์เป็นการวาง หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาไว้สามประการคือ ไม่ทำความชั่วทั้งปวง ทำแต่ความดี ทำจิตใจให้ผ่องใส

วันพระใหญ่วันสำคัญทางพุทธศาสนาในวันนี้ นับแต่ช่วงเช้านอกจากพร้อมใจกันทำบุญตักบาตร รักษาศีล ฟังธรรมเจริญภาวนา ส่วนในเวลาเย็น เวียนเทียนรอบพระอุโบสถ ตั้งจิตมั่นระลึกถึงคุณ พระรัตนตรัย มีธูปเทียนและดอกไม้เป็นเครื่องสักการบูชา และหากพูดถึง ดอกไม้บูชาพระ นั้นเลือกนำมาไหว้พระได้หลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น มะลิ ดาวเรือง ดอกพุด ดอกกล้วยไม้ พิกุล รวมถึง ดอกบัว อีกหนึ่งดอกไม้มงคล ดอกไม้ที่มีความบริสุทธิ์ สะอาด เปี่ยมด้วยคุณค่าที่นิยมนำมาไหว้บูชาพระรัตนตรัย

ดอกบัว ดอกไม้ที่มีประวัติเกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนามายาวนานนับแต่พระพุทธเจ้า หลักคำสอนที่หยิบยกนำดอกบัวมาใช้เป็นอุปมา เป็นหนึ่งในพันธุ์ไม้ใน พุทธประวัติ ทั้งปรากฏในงานจิตรกรรม ประติมากรรม โดย “บัว” เป็นต้นไม้ที่มีลักษณะเด่นหลายประการที่ ได้รับการยกย่อง ทั้งนี้ชวนค้นความรู้ ชวนรู้จักบัวที่นำมา เป็นดอกไม้บูชาพระ โดย ผศ.ภูรินทร์ อัครกุลธรหัวหน้าฝ่ายพิพิธภัณฑ์บัว อาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี ราชมงคลธัญบุรีให้ความรู้ว่า บัว เป็นพืชน้ำ ชนิดหนึ่ง เป็นพันธุ์ไม้ที่ได้รับการยกย่อง มีความสำคัญมายาวนาน

โดยคำว่า บัว ในภาษาบาลีสันสกฤตมีหลายคำอย่างเช่น ปทุม อุบล หรือบงกช ซึ่งก็หมายถึงบัว มีความเกี่ยวเนื่องกับ พุทธศาสนา พระพุทธองค์ ส่วนในความหมายความเป็นไม้มงคลของไทย ดอกไม้ที่นำมาไหว้บูชาพระคือ บัวหลวง โดยบัวหลวง มี 2 ประเภท ดอกซ้อนและดอกไม่ซ้อน

สำหรับประเภทแรก ดอกซ้อนจะมีสองสีคือ สีขาว กับสีชมพู โดยบัวหลวงดอกสีชมพู กลีบซ้อนจะเรียกว่า สัตตบงกชมีกลีบดอกเยอะซ้อนเรียงกันนับเป็นร้อย ๆ กลีบ ส่วนบัวหลวงดอกสีขาวกลีบซ้อนเรียกว่า สัตตบุษย์ และอีกประเภทหนึ่ง ดอกมีสีขาวกลีบไม่ซ้อนเรียกว่า บุณฑริก และ บัวหลวงปทุมดอกสีชมพูกลีบไม่ซ้อนเรียก ปทุม โดยเหล่านี้มีความหมายเกี่ยวเนื่องกับศาสนา

“ประเทศที่นับถือศาสนาพุทธนับแต่อินเดีย ศรีลังกา ไทย ลาว ฯลฯ ใช้ดอกบัวเป็นสัญลักษณ์บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ใช้ดอกบัวบูชาพระเป็นส่วนใหญ่ จากที่กล่าวดอกไม้ที่นำมาบูชาพระมีได้หลาก หลายชนิด แต่ดอกบัว ถือเป็นดอกไม้ที่นิยม มีความหมายความเป็นมงคล จากที่กล่าวบัวเป็นพืชล้มลุกจะผลิดอกในช่วงอากาศร้อน ในช่วง ฤดูหนาวบัวจะพักตัว อีกทั้งการพนมมือไหว้ลักษณะ คล้ายดอกบัวก็เหมือนเป็นสื่อแทน เป็นสัญลักษณ์แสดงความเคารพบูชา”

อาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีการเกษตร ผศ.ภูรินทร์ อธิบายเพิ่มอีกว่า ดอกบัว จากที่กล่าวเป็นดอกไม้ที่มีประวัติมายาวนาน หลายประเทศนำดอกบัวมาใช้บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งไทยเรา ก็นำดอกบัวมาไหว้พระโดยนิยมใช้ดอกบัวหลวง แต่อย่างไรแล้วดอกบัวทุกประเภทสามารถนำมาบูชาได้

จากที่กล่าวบัวเป็นไม้น้ำ ถ้าพูดถึงบัวจะจัดแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่คือ กลุ่มบัวก้านแข็งหรือปทุมชาติ (LOTUS ) ในกลุ่มนี้ จะสังเกตเห็นจากก้าน เมื่อจับจะพบว่าก้านบัวแข็ง มีหนาม ในกลุ่มนี้ มีทั้งในเขตหนาวและเขตร้อน โดยเฉพาะเขตหนาวจะมีความพิเศษคือ ดอกสีเหลือง ส่วนประเทศไทยเรามีแค่ 2 สีคือสีขาวกับสี ชมพู ส่วนดอกสีเหลืองก็ปลูกได้ แต่จะเห็นต้นไม่มีดอกเนื่องจากความหนาวเย็นไม่เพียงพอ

ส่วน บัวก้านอ่อน (Water Lily) ในกลุ่มนี้จะมีได้ทั้งเขตหนาวและเขตร้อนเช่นกัน โดยในเขตหนาวได้แก่ บัวฝรั่ง ส่วนใหญ่ จะเป็นการนำพันธุ์เข้ามาในรุ่นก่อน ในเขตร้อนอย่างไทยเราได้แก่ กลุ่มบัวสาย ซึ่งมีทั้ง บัวสายบานกลางวัน บัวสายบานกลางคืน โดยบัวสายบานกลางคืนจะมี 3 สี ได้แก่ สีขาว สีแดง สีชมพู ขณะที่บัวสายบานกลางวันจะมีสีได้มากกว่านี้อีกมาก ในกลุ่มนี้จะได้แก่ บัวผัน บัวเผื่อน ซึ่งมีความสวยงาม มีความหลากหลายมาก ฯลฯ โดยที่กล่าวเป็นการจัดแบ่งให้เห็นภาพกว้าง เพื่อให้เข้าใจประเภทของบัว

ผศ.ภูรินทร์ให้ความรู้เพิ่มอีกว่า บัวนอกจากมีความหมาย ความมงคล มีความสวยงามทั้งสีสัน ความหอมน่าหลงใหล โดยเฉพาะปัจจุบันมีบัวสวยงามหลายพันธุ์มากมาย โดยประเทศไทย ถือเป็นแถวหน้าในการพัฒนาพันธุ์ อย่างประเภทบัวสวยงาม ไทยเรา ส่งประกวดได้รับรางวัลมามากมายนับแต่ปี 2547 เป็นต้นมาก็ได้รับรางวัลมาโดยตลอด โดยการประกวดมีหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นบัวเขตหนาว บัวฝรั่ง บัวผัน บัวบานกลางคืน หรือในกลุ่มข้ามสกุลย่อย อย่างการนำบัวผันผสมกับบัวฝรั่งซึ่งจะได้เป็นพันธุ์ใหม่เป็นต้น และยังมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

“บัว เป็นพืชที่มีมนต์เสน่ห์ ได้ชื่อว่าเป็นราชินีแห่ง ไม้น้ำโดยหน้าร้อนถือเป็นจังหวะดีที่จะได้ชมความงามของดอกบัวและนอกจากความสวยงามของสีสัน กลีบดอก บัวยังมีกลิ่นหอมหรือในประเภทบานกลางวัน กลางคืนหุบ หรือกลางคืนบานสาย ๆ หุบ ก็ล้วนเป็นอีกมนต์เสน่ห์ น่ามอง น่าศึกษา

จากที่กล่าวในมิติของสีสัน ไม่ได้มีเพียงสีพื้นอย่างเดียว

ดอกลาย ในปัจจุบันก็สามารถทำได้ หรือ ถ้ามองในมิติประโยชน์ก็สารพัดประโยชน์ทีเดียว แทบทุกส่วนของบัวนำมาใช้ประโยชน์ได้ ไม่ว่าจะเป็นสายบัว รากบัว กลีบดอก ฯลฯ ก็นำมา สร้างสรรค์อาหารได้ หรือจะเป็นไม้ตัดดอก หรือถ้ามองในมิติโอสถสารก็มีความโดดเด่น จากที่กล่าวบัวในเขตร้อนมีหลายสี อย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 9 สี ทั้งยังมีสีแฟนซีเพิ่มเข้ามาอีกร่วมด้วย”

ผศ.ภูรินทร์ หัวหน้าฝ่ายพิพิธภัณฑ์บัวเล่าเรื่องน่ารู้จากบัวเพิ่มอีกว่า การบานของดอกบัวเขตร้อนก็น่าสนใจ บัวจะบานอยู่ราว ๆ สามวันจากที่โผล่พ้นน้ำและจะหุบลง จากนั้นจะมีดอกใหม่มาแทนในต้นเดียวกันจะค่อย ๆ ทยอยบานสวยงาม โดยเฉพาะช่วงหน้าร้อนนั้นมีความสวยงามโดดเด่น

สำหรับบัวดั้งเดิมของไทย บัวจงกลนีเป็นบัวไทยแท้แต่โบราณซึ่งมีการศึกษาโดยพบว่ากล่าวถึงมาแต่ครั้งโบราณ เป็นบัวที่บานกลางวันและเมื่อบานแล้วจะไม่หุบ โดยที่กล่าวมาทุกสายพันธุ์เมื่อบานแล้วจะหุบ แต่บัวชนิดนี้จะบานแล้วไม่หุบ เพราะมีกลีบดอกเยอะมาก กระทั่งหุบไม่ลง อีกทั้งมีกลีบเลี้ยงบาง บัวจึงบานตลอด ส่วนเมื่อบานแล้วจะอยู่ได้ประมาณ 3-4 วัน จากนั้นจะโรยลงและเมื่อจมลงจะมีดอกใหม่มาแทนที่ หรือในบางครั้งอาจมีสองดอกบานขึ้นพร้อมกัน เมื่อปลูกเลี้ยงบัวก็จะได้ชมความงาม ในลักษณะนี้

สำหรับบัวที่มีกลิ่นหอมแรงจะเป็น กลุ่มบัวผัน บัวเผื่อนและถ้าใครที่กำลังสนใจอยากทดลองปลูกเลี้ยงบัว แนะนำให้ปลูกไว้ทั้ง 2 ประเภท ปลูกทั้งบัวบานกลางวันและบัวบานกลางคืนอย่างละต้นการปลูกลักษณะนี้ ปลูกไว้สองกระถางจะทำให้เห็นความสวยงามของบัวที่บานทั้งช่วงกลางวันและเวลากลางคืน ได้ศึกษาสังเกตเห็นดอกบัวสวยงามตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง

“บัวจงกลนี” หนึ่งในพันธุ์บัวที่หายากที่ผ่านมาพิพิธภัณฑ์บัวของมหาวิทยาลัยได้รักษาพันธุ์และปลูกขยายไว้ เพื่อรักษาให้คงอยู่ โดยบัวชนิดนี้มีสรรพคุณทางยาด้วยโดยในพิกัดบัวทั้ง 5 มีชื่อบัวจงกลนีอยู่ อีกทั้งบัวชนิดนี้ยังมีข้อจำกัดโดยจะไม่ขยายพันธุ์ด้วยดอก ด้วยเมล็ด แต่จะขยายพันธุ์ด้วยส่วนที่เป็นเหง้าจากต้น ทั้งนี้พิพิธภัณฑ์บัวของมหาวิทยาลัยที่นี่เราเป็นแหล่งเรียนรู้ โดยนอกจากการรวบรวมอนุรักษ์พันธุ์บัวหายากและบัวต่าง ๆ ไว้มากกว่าสามร้อยสายพันธุ์ เราศึกษาบัวในมิติต่าง ๆ ทั้งที่ เกี่ยวเนื่องกับพื้นที่ วิถีชีวิต ประเพณีวัฒนธรรม ศิลปกรรมหรือแม้แต่บัวที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนาและความเชื่อ ดังเช่นบัวที่นำมาเป็นดอกไม้บูชาพระ ฯลฯ โดยรวบรวมศึกษาเผยแพร่ไว้ เป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะบอกเล่าเรื่องบัว

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]