คอลัมน์ เดลินิวส์วาไรตี้: ขับเคลื่อนเมืองผ่านความคิดสร้างสรรค์ ส่องดีไซน์คอลเลกชั่น ‘ที่นั่งสาธารณะ’

เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 20 ก.พ. 2566
ทีมวาไรตี้

การออกแบบเมืองที่มีคุณภาพและเป็นมิตร คือการสร้างพื้นที่สีเขียว พื้นที่เปิดโล่ง พื้นที่สาธารณะที่สามารถรองรับกิจกรรมความหลากหลายของผู้คน

ด้วยความสำคัญกับแนวคิดการพัฒนาเมืองยั่งยืน ขับเคลื่อน เติบโตไปพร้อมกับกรุงเทพฯ สนับสนุนศิลปะและวัฒนธรรมจากการร่วมขับเคลื่อนเมืองผ่านความคิดสร้างสรรค์ ในเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2566 (Bangkok Design Week 2023) ภายใต้คอนเซปต์ เมือง-มิตร-ดี วัน แบงค็อก ได้ร่วมส่งต่อแนวคิดเรื่อง การสร้างคอลเลกชั่นที่นั่งสาธารณะที่จะเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญ เพื่อส่งมอบประสบการณ์ในพื้นที่สาธารณะที่ดีให้แก่เมือง ทั้งชวนค้นหาคำตอบผ่านต้นแบบ คอลเลกชั่นเฟอร์นิเจอร์สาธารณะสำหรับการใช้ชีวิตในเมือง

One Bangkok Urban Furniture Competition 2022 “Seatscape & Beyond” โครงการประกวดออกแบบที่นั่งสาธารณะสำหรับการใช้ชีวิตในเมือง โดย จรินทร์ทิพย์ ชูหมื่นไวย หัวหน้าภัณฑารักษ์และผู้บริหารฝ่ายศิลปะและวัฒนธรรมโครงการวัน แบงค็อก บอกเล่าแนวคิดการพัฒนาเมืองที่ มีคุณภาพด้วยพื้นที่สาธารณะ (public realm) และกิจกรรมทางศิลปะและวัฒนธรรมของโครงการฯว่า การออกแบบ เมืองที่ดี ควรเอื้อต่อวิถีชีวิตคุณภาพและการพัฒนาสภาพแวดล้อมที่ดีซึ่งที่ผ่านมาร่วมกับ THINKK Studio จัดแสดงนิทรรศการ “Seatscape & Beyond Open Studio” นำเสนอ คอลเลกชั่นที่นั่งสาธารณะ ผลงานการออกแบบของผู้ชนะ 10 ทีมของโครงการประกวดฯ ชวนผู้เข้าชมสัมผัสต้นแบบและเบื้องหลังการพัฒนาผลงานออกแบบเฟอร์นิเจอร์ของทีมผู้ชนะ รวมถึงประกาศผลรางวัลพัฒนาการยอดเยี่ยม 3 ทีม โดย ผลงานออกแบบถูกผลิต ติดตั้ง และใช้งานจริงภายในพื้นที่สาธารณะของโครงการฯ

จากนิทรรศการฯแสดงกระบวนการ เบื้องหลังการพัฒนาผลงานเฟอร์นิเจอร์สาธารณะของนิสิต นักศึกษาผู้ชนะทั้งหมด ที่ร่วมสร้างความเป็น “เมือง-มิตร-ดี” สะท้อนการ ให้ความสำคัญกับพื้นที่สาธารณะ (Public Realm) ที่เป็นได้ทั้งพื้นที่ใช้งานร่วมกันของผู้คนในสังคมเมือง พื้นที่ที่แต่ละชุมชนเข้ามามีปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน พื้นที่สีเขียวที่อุดมสมบูรณ์ เพื่อให้ผู้คนได้หยุดพักจากความวุ่นวาย และมีกิจกรรมส่งเสริม สุขภาพกายและใจภายนอกอาคาร หรือพื้นที่ที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต และเปิดโอกาสให้ผู้คนเป็นส่วนหนึ่งของ สถานที่และพื้นที่

“Sit to Gather” โดยนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทีมที่ได้รับรางวัลที่หนึ่ง จากข้อมูลเล่าการออกแบบว่า ด้วยแนวคิดการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างคนและพื้นที่เข้าด้วยกันผ่านเก้าอี้นั่งที่มีระดับ ความแตกต่างของความใกล้ชิดส่งผลต่อพฤติกรรมการนั่งที่ต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นการนั่งรอ พูดคุย ไปจนถึงการนั่งรวมตัวของคน กลุ่มใหญ่ในการทำกิจกรรมต่าง ๆ

การพัฒนาหน้าตาการออกแบบเพื่อเพิ่มบทบาทของเฟอร์นิเจอร์ให้เป็นพื้นที่เชื่อมต่อระหว่างอาคารและพื้นที่ภายนอกจึงกลายมาเป็น รูปแบบของเก้าอี้ 3 ชิ้นที่นำองค์ประกอบพื้นฐานอย่าง จุด เส้น และระนาบ มาเป็นเครื่องมือ ในการแก้ปัญหา เมื่อเผชิญข้อจำกัดทางพื้นที่ โดยยังคงรองรับกับอิริยาบถการนั่งในทุกรูปแบบ

ทีมแด่เพื่อนที่ (ไม่) รู้จัก ทีมที่ได้รับรางวัลที่หนึ่งเล่าเพิ่ม อีกว่า ตลอดเวลากว่าหกเดือนที่มีโอกาสร่วมเวิร์กช็อป ได้รับ ความรู้จากทีมงานและผู้เชี่ยวชาญมาเปิดโลกการออกแบบที่ดี เสริมประสบการณ์การออกแบบได้นำมาใช้ในการทำงานในชีวิตจริง ทั้งได้รับมุมมองใหม่ ๆ ว่า เฟอร์นิเจอร์เป็นได้มากกว่าที่สำหรับการนั่ง สามารถสร้างสรรค์เป็นงานศิลปะ เป็นพื้นที่ที่ให้คน มาใช้ชีวิตมากกว่านั้น

“Sit to Gather เราตั้งใจออกแบบฟอร์มให้เกิดสเปซ หรือเกิดพื้นที่ว่าง เพื่อให้เกิดจังหวะของการนั่งล้อมวงกัน ซึ่งตอบโจทย์ที่นั่งที่ส่งเสริมการรวมกลุ่มกัน ก่อให้เกิดปฏิสัมพันธ์กันระหว่างผู้คนซึ่งคือหัวใจของการออกแบบพื้นที่สาธารณะเนื่องจากการออกแบบที่นั่งสาธารณะต้องสัมพันธ์กับพื้นที่ที่นำไปใช้งานซึ่งพื้นที่ที่เฟอร์นิเจอร์ชุดนี้จะไปตั้งอยู่ เป็นจุดที่คนส่วนใหญ่จะ เดินผ่านจึง ออกแบบให้เป็นผลงานประติมากรรมที่ผู้ใช้สามารถชื่นชมได้อีกด้วย”

ขณะที่ ทีมB3X โดยนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ชนะอันดับ 2 เล่าถึงผลงานว่า เฟอร์นิเจอร์สาธารณะชุดนี้ตั้งอยู่บริเวณจุดรับส่ง ผู้โดยสารรถสาธารณะของโครงการ รองรับลักษณะการใช้งานแบบกึ่งนั่งกึ่งยืน ออกแบบเป็นประติมากรรมที่มีลวดลายและสีสันสดใสใช้รูปทรงให้ความรู้สึกสนุกสนาน ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาใช้งานภายในพื้นที่

“ผลงานได้รับการพัฒนาโดยผ่านการระดมความคิดของกลุ่มวัยรุ่น นำมาต่อยอดเป็นลวดลายของผลงาน 3 รูปแบบได้แก่ อิสระ ค้นหา และน่าตื่นเต้น ขยายให้เห็นมิติที่กว้างขึ้นของวัยรุ่นปัจจุบันผ่านผลงานเฟอร์นิเจอร์ชิ้นนี้” ส่วนทีม RIBBON FLOW โดยนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ผู้ชนะอันดับ 3 เล่าถึงการสร้างสรรค์เฟอร์นิเจอร์สาธารณะที่มีเป้าหมาย ในการเป็นแลนด์มาร์คให้กับพื้นที่ เชิญชวนผู้คนเข้ามานั่งพบปะ รวมตัว และสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน โดยใช้รูปทรงของริบบิ้น เป็นสัญลักษณ์เชื่อมโยง ให้ความหมาย ที่มากกว่าความงาม และยังใช้สีส้มเพื่อสื่อสารถึงความเบิกบาน ความใส่ใจ และมิตรภาพ

“รูปทรงของริบบิ้นนำมาใช้เป็นจุด ตั้งต้นในการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ โดยมี การพัฒนาต้นแบบหลายครั้งเพื่อค้นหาความเป็นไปได้ในการบิดโค้ง พลิ้วไปมาให้สวยงาม ขณะเดียวกันสามารถใช้งานได้จริงในพื้นที่ เมื่อปรับเข้ากับวัสดุที่เป็นแผ่นเหล็ก พร้อมกับออกแบบระยะเชื่อมโยงพื้นที่ทั้งสองฝั่งเข้าหากัน เฟอร์นิเจอร์ไม่ใช่แค่ต้องดูสวยงาม แต่ตอบโจทย์ฟังก์ชันการนั่งที่จะส่งเสริมปฏิสัมพันธ์ของผู้คน และต้องไม่กีดขวางเส้นทางเดินหรือทางสัญจรบริเวณจุดที่จัดวาง”

ขณะที่ผลงานจากผู้ชนะการประกวด ทีมจากนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ซึ่งเป็นหนึ่งใน 10 ทีมเล่าเพิ่มอีกว่า เฟอร์นิเจอร์สาธารณะนี้รวมการใช้งาน 4 กิจกรรมไว้ด้วยกันบริเวณที่นั่งแบบขั้นบันได ภายใต้ธีม CREW โดยมีที่มาจากกิจกรรม Chat Relax Eat Work ออกแบบและสร้างความเป็นไปได้ใหม่ด้านการใช้งาน

โดยทีมนักออกแบบศึกษาและดึงปัจจัยด้านท่าทาง กิจกรรม และขนาดที่นั่งของผู้ใช้ มาเป็นประเด็นสำคัญในการพัฒนาผลงาน การออกแบบคำนึงถึงการใช้งานที่หลากหลายภายใต้ 3 ปัจจัย คือ ความเป็นส่วนตัว ทิศทางของเสียง และระยะการมองเห็น ทั้งยังต่อยอด จนสามารถเคลื่อนย้ายได้ เพื่อให้รองรับกับพื้นที่ที่เป็นศูนย์กลางของกิจกรรม มอบความหมายใหม่ให้แก่การพักผ่อนหย่อนใจภายในพื้นที่

นอกจากนี้ทีมนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังและนักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าผลงานออกแบบเพิ่มอีกว่า แสงแดดเป็นปัจจัยสำคัญทำให้หลายคนเลือก ใช้ชีวิตอยู่ภายใต้อาคาร ทีมนักออกแบบ จึงทดลองปรับมุมมองต่อการนั่งในพื้นที่ กลางแจ้งใหม่ ด้วยการออกแบบเฟอร์นิเจอร์สาธารณะที่ทำให้การนั่งนั้นสดใสมากขึ้น จำลอง การงอกกิ่งก้านของต้นไม้ผ่านโครงสร้างและสะท้อนร่มเงาผ่านวัสดุที่ให้สีสันต่างกันออกไป

ทดลองกับวัสดุใหม่ที่มีคุณสมบัติสะท้อนแสงออกมาได้เป็นหลายเฉดสี ให้เอฟเฟกต์ เป็นร่มเงาที่ปรับเปลี่ยนตามแสงแดดในแต่ละช่วงเวลา อีกทั้งรูปทรงคล้ายต้นไม้ที่มีโครงสร้างกิ่ง ก้าน และใบขยับไปมาได้ สื่อสารและสอดคล้องกับพื้นที่ ขณะเดียวกัน ก็รองรับต่อการพักผ่อนหย่อนใจ ฯลฯ อีกผลงานดีไซน์ที่ให้ความสำคัญกับพื้นที่สาธารณะ…

มอบประสบการณ์ในพื้นที่สาธารณะที่ดีให้แก่เมือง.

เชื่อมความสัมพันธ์ ระหว่างคนและพื้นที่

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]