คอลัมน์ เดลินิวส์วาไรตี้: เอกลักษณ์พุทธศิลป์ วิจิตรศิลป์ ‘จิตรกรรมฝาผนัง’

          จิตรกรรมฝาผนัง ภาพเขียนที่สร้างสรรค์ขึ้นในโบสถ์และวิหาร นอกจากถ่ายทอดความงาม ความรู้ในด้านต่าง ๆ ไว้มากมาย “ภาพจิตรกรรม” ยังเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ บันทึกสังคมที่สำคัญ
รศ.ดร.สมพร ธุรี คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ให้ความรู้ พาย้อนชมเล่าถึงการสร้างสรรค์จิตรกรรมฝาผนังในสมัยรัตนโกสินทร์ว่า ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ปรากฏขึ้นในยุคสมัยต่าง ๆ มีความงดงามทรงคุณค่า เป็นคลังแห่งความรู้ ทั้งนี้การสร้างสรรค์จิตรกรรมฝาผนังมีประวัติความเป็นมายาวนาน เริ่มขึ้นนับแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ก่อนจะมีภาษาเขียน โดยครั้งนั้นเป็นการสร้างสรรค์ความงาม บอกเล่าและบันทึกเรื่องราววิถีชีวิต สิ่งที่พบเห็น ความเชื่อ หรือแม้แต่เป็นการบ่งบอกอาณาเขต ฯลฯ
“ภาพเขียนสมัยก่อนประวัติศาสตร์เป็นภาพเขียนสีธรรมชาติ ใช้สีจากดินจากวัสดุธรรมชาติผสมกับยางไม้ ใช้ขนสัตว์ เถาวัลย์นำมาเป็นอุปกรณ์การเขียน หรือใช้สีทาลงบนฝามือแปะบนผนัง ฯลฯ เป็นวิธีสร้างสรรค์ที่เรียบง่าย ไม่ซับซ้อน ตรงไปตรงมาในการบันทึกบอกเล่าผ่านภาพเขียนฝาผนัง”

          จิตรกรรมฝาผนังแต่ละยุคสมัยจึงมีความสำคัญ ดังเช่น จิตรกรรมฝาผนังในสมัยรัตนโกสินทร์ จากที่มีการบันทึกและมีร่องรอยปรากฏตามโบสถ์ วิหาร หรือสถานที่สำคัญ ๆ ที่พาไปชื่นชมและศึกษาความวิจิตรในงานจิตรกรรม รวมถึงความแยบยลที่ช่างโบราณประดิษฐ์สร้างสรรค์ โดยที่โดดเด่นดังเช่น วัดสุวรรณารามราชวรวิหาร บางกอกน้อย ที่นี่เป็นหนึ่งในวัดสำคัญที่มีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เป็นต้นแบบในช่วงต้นรัตนโกสินทร์
“ย้อนกลับไปยังจิตรกรรมช่วงสมัย รัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาล ที่ 3  จะพบกับภาพจิตรกรรมฝาผนังที่บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติของพระพุทธเจ้าเป็นส่วนใหญ่ อย่างที่ วัดสุวรรณาราม ภาพจิตรกรรมมีความสมบูรณ์ เขียนเรื่องพุทธประวัติ ทศชาติ หรือ ชาดกสิบชาติที่สำคัญของพระพุทธเจ้า บริเวณหน้าต่าง บนกรอบหน้าต่าง และมีเรื่องไตรภูมิ สวรรค์ นรก ฯลฯ ปรากฏอยู่ด้านหลังพระประธาน วาดสร้างสรรค์โดยช่างหลวง มีองค์ประกอบงดงาม ใช้การระบายสี ตัดเส้น สร้างมิติด้วยการทับซ้อน รวมทั้งมีการปิดทองบ้างในส่วนภาพที่มีความสำคัญ อย่างเช่น ปิดทองรูปเทวดา ปราสาท เป็นต้น”
จิตรกรรมฝาผนังช่วงต้นรัตนโกสินทร์ ยังมีบรรยากาศของบ้านเรือนแบบจีน วิถีชีวิต มีเรือสำเภา เรือสินค้าตะวันตก หรือแม้แต่ในด้านเศรษฐกิจ สังคมก็สามารถย้อนกลับไปศึกษา ค้นคว้าได้จากภาพจิตรกรรมฝาผนัง แต่อย่างไรแล้วภาพเขียนดังกล่าวยังมีเพียงส่วนน้อย หลัก ๆ ของภาพยังคงเป็นเรื่องราวพุทธประวัติและทศชาติ
รศ.ดร.สมพร กล่าวอีกว่าจิตรกรรมฝาผนังช่วงต้นสมัยรัตนโกสินทร์ ศิลปินที่มีผลงานการเขียนภาพ เป็นครูให้กับคนรุ่นหลังเรียนรู้สืบสานต่อมาคือ ครูทองอยู่และครูคงแป๊ะ โดยผลงานของท่าน ไม่ว่าจะเป็นลวดลาย สีสัน มีเอกลักษณ์เฉพาะ ส่วนจิตรกรรมฝาผนังในช่วงสมัย รัชกาลที่ 4 หากย้อนกลับไปศึกษา สามารถชมได้ที่พระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร อีกหนึ่งวัดสำคัญ โดยจากเดิมจะเห็นการเขียนเรื่องราวพุทธประวัติ แต่สำหรับจิตรกรรมในยุคนี้จะเขียนปริศนาธรรม โดยประยุกต์นำความรู้ช่างตะวันตกมาสร้างสรรค์ มีพัฒนาการจากการคลี่คลายแบบอุดมคติ มาสู่แบบความเป็นจริง สะท้อนแนวคิดและศิลปวิทยาอย่างศิลปะตะวันตก
ดังนั้นหากวัดใดเขียนภาพในรูปแบบดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นบรรยากาศ แสงสี สัดส่วนสวยงาม ถูกต้อง มีการจัดองค์ประกอบ ที่เหมือนจริงมากขึ้น ก็อาจสังเกตได้ว่าเป็นภาพเขียนที่เกิดขึ้นใน ช่วงสมัยดังกล่าว โดยช่างวาดสำคัญของช่วงเวลานี้คือ ท่านขรัว อินโข่ง
“จิตรกรรมฝาผนังช่วงสมัยรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 ยังมีอีกหลายสถานที่ที่มีความโดดเด่น ทั้งยังส่งต่ออิทธิพลให้กับวัดอื่น ๆ ในภูมิภาคต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคใต้ เป็นอีกบันทึกสำคัญต่อการศึกษาประวัติศาสตร์ และศิลปวัฒนธรรม โดยที่ผ่านจากการศึกษา ค้นคว้างานพุทธศิลป์ภาพจิตรกรรมฝาผนังในภาคใต้หลายจังหวัด อย่างเช่น วัดในจังหวัดสงขลา ก็มีแนวทางการเขียนลักษณะนี้ โดยเขียนเป็นปริศนาธรรม”
ยุคต่อมาของภาพจิตรกรรมฝาผนัง สมัย รัชกาลที่ 6  ต่อมาถึงปัจจุบัน เป็นแบบจิตรกรรมไทยผสมผสานศิลปะตะวันตก ภาพจิตรกรรมยุคสมัยดังกล่าวมีความอิสระ คลี่คลายไปจากเดิม อีกทั้งช่วงสมัยดังกล่าวยังมีช่างชาวตะวันตกเดินทางเข้ามาเป็นช่างหลวง สร้างสรรค์ศิลปะไว้หลายสถานที่ และยังมีความเฟื่องฟูในงานด้านประติมากรรม การปั้นมีความเหมือนจริง เช่นเดียวกับภาพเขียนซึ่งมีความสมจริงยิ่งขึ้น ดังเช่นที่ วัดราชาธิวาสราชวรวิหาร ปรากฏภาพเขียนพระเวสสันดรชาดกภายในพระอุโบสถ มีรูปแบบการเขียนภาพแบบตะวันตก ทั้งในด้านสัดส่วน สีสันซึ่งเหมือนจริง โดยที่ยังคงเนื้อหาทศชาติ
จากนั้นต่อมาจิตรกรรมฝาผนังนอกจากการสร้างสรรค์ปรากฏบนผนังพระอุโบสถ วิหาร ยังได้รับการถ่ายทอดลงบนเฟรม ศิลปินนำบางช่วงบางตอน นำข้อธรรม นำวลีเนื้อหาบางส่วนมา สร้างสรรค์ อย่างเช่น อาจเขียนเฉพาะพระพุทธรูป ใช้แสง เงาเป็นสื่ออย่างเดียว หรือนำเทคนิคปิดทอง สื่อแสดงความหมาย สืบทอดความเชื่อ ความศรัทธาในพุทธศาสนา อีกทั้งประดับตกแต่ง จัดแสดงในอาคารที่พักอาศัย จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ ฯลฯ
รศ.ดร.สมพร ให้ความรู้เล่าเพิ่มถึงเอกลักษณ์พุทธศิลป์ในภาพจิตรกรรมฝาผนังอีกว่า ในช่วงสมัยอยุธยาก็มีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ทรงคุณค่า เป็นหลักฐานประวัติศาสตร์สำคัญเช่นกัน ภาพจิตรกรรมฝาผนังเขียนเรื่องอดีตพระพุทธเจ้า สีที่ใช้เป็น สีเอกรงค์ ซึ่งมีสีไม่มาก อย่างเช่น สีน้ำตาล ใช้ดินแดงนำมาบดและใช้ยางไม้ สีเหลือง จากขมิ้น สีดำ จากเขม่าควัน ฯลฯ”ภาพจิตรกรรมฝาผนังไม่ว่าจะเป็นยุคสมัยใด การได้เข้าชมได้ย้อนกลับไปศึกษานับเป็นคุณค่า ด้วยที่เป็นคลังแห่งสรรพความรู้ ดังที่กล่าวไม่เพียงเฉพาะความงาม แต่ยัง สะท้อนถ่ายทอดความดีงาม ความมุ่งมั่นตั้งใจของช่าง ของผู้อุทิศสร้างเพื่อร่วมกันทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา จากภาพยังให้คติคำสอน เป็น บันทึกประวัติศาสตร์สำคัญของยุคสมัย ฉายแสดงทั้งในด้านสถาปัตยกรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณีวัฒนธรรม ความเชื่อศรัทธา ฯลฯ”
ในความหลากหลายเหล่านี้ไม่เพียงเฉพาะความรู้เทคนิคเชิงช่างในช่างวันวาน แต่ยังส่งต่อการสร้างสรรค์…
การพัฒนา ต่อยอดองค์ความรู้ใหม่ ๆ เชื่อมโยงจากอดีตสู่ปัจจุบัน เป็นความล้ำค่าที่ฉายชัดจากจิตรกรรมฝาผนัง.
“เป็นคลังแห่งความรู้ส่งต่อจากอดีตสู่ปัจจุบัน”

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]