เสียงจากผู้บริหารมหา’ลัย ต่อทิศทาง..’ก.การอุดมศึกษาฯ’

มติชน (กรอบบ่าย) ฉบับวันที่ 08 พฤษภาคม พ.ศ. 2562
หมายเหตุ – เมื่อเร็วๆ นี้ ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศเกี่ยวกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) จำนวน 10 ฉบับ ซึ่งเป็นการยุบรวมระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และหน่วยงานวิจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยกระทรวงการอุดมศึกษาฯ เริ่มอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2562 “มติชน” จึงสอบถามความเห็นผู้เกี่ยวข้องมานำเสนอ
รศ.ดร.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ
อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
“เมื่อ อว.เกิดขึ้นมา เป็นเรื่องดี ถือว่าประเทศไทยได้ปฏิรูปการบริหารจัดการโครงสร้างของการศึกษาอย่างแท้จริง เพราะมหาวิทยาลัยที่มีนักวิจัยเป็นจำนวนมาก ได้เข้ามารวมอยู่ในหน่วยงานที่สนับสนุนทุนวิจัย ทำให้การวิจัยไทยในอนาคตจะเป็นไปอย่างราบรื่น เชื่อว่ากระทรวงใหม่จะมีโครงสร้างใหม่ มีการจัดสรรอัตรากำลังใหม่ มีการขับเคลื่อนการวิจัย และนวัตกรรม ที่จะเชื่องโยงบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไว้ด้วยกัน
หวังว่าการทำงานของ อว.จะต้องวางแผนจัดการการทำงานที่บูรณาการร่วมกันระหว่างบุคลากรจาก วท., สกอ.และบุคลากรจากหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม อยากย้ำว่าบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษา ไม่ได้มีหน้าที่สอนหนังสือเท่านั้น มีอีกหน้าที่หนึ่งที่สำคัญ คือผลิตงานวิจัย และพัฒนานวัตกรรมอีกด้วย โดยผลิตนวัตกรรมเพื่อให้ประเทศนำไปใช้แข่งขันกับนานาประเทศได้ รวมทั้งส่งเสริมให้ประเทศมีรายได้จากการสร้างนวัตกรรมต่างๆ
ทั้งนี้ สถาบันอุดมศึกษาในกลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) เป็นมหาวิทยาลัยหนึ่งที่ผลิตนวัตกรรมเพื่อส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมของประเทศในอนาคตด้วย เป็นมหาวิทยาลัยที่ผลิตกำลังคนเพื่อตอบสนองภาคอุตสาหกรรม สนับสนุนธุรกิจ SME เมื่อ อว.เกิดขึ้นมา อยากให้กระทรวงใหม่ให้ความสำคัญ และสนับสนุนกลุ่ม มทร.ทั้ง 9 แห่ง ในการวิจัย และผลิตนวัตกรรมด้วย ทั้งในเรื่องของงบประมาณ ที่ในอดีตยอมรับว่ากลุ่ม มทร.และมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) ได้รับงบสนับสนุนน้อยมาก เมื่อเทียบกับมหาวิทยาลัยเก่า ที่ส่วนใหญ่จะมีโรงพยาบาลอยู่ในมหาวิทยาลัยด้วย จึงอยากวิงวอนให้กระทรวงใหม่มองภารกิจ และเป้าหมายในการพัฒนาประเทศเป็นหลัก และช่วยให้งบสนับสนุน มทร. และ มรภ.ด้วย
ส่วนผู้ที่จะมาเป็นรัฐมนตรีว่าการ อว.หรือปลัด อว.ในอนาคต ความคิดเห็นของผม อยากให้ผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งเหล่านี้ มีความรู้ความเข้าใจทั้งในด้านอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ และวิจัย มีความเข้าใจเรื่องการพัฒนากำลังคน พัฒนานวัตกรรม บูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างในกระทรวง และนอกกระทรวงได้ เช่น นพ.สรนิต ศิลธรรม อดีตปลัด วท.มีความเหมาะสมในตำแหน่งปลัด อว.เพราะเคยดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ด้วย ด้วยความที่เคยผ่านงานมาทั้ง 2 ฝ่าย ย่อมเข้าใจทั้งในด้านอุดมศึกษา และวิทยาศาสตร์”
ศ.พิเศษ ดร.ภาวิช ทองโรจน์
อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา
“อว.เป็นการรวบรวมหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเข้ามาอยู่ด้วยกัน แน่นอนว่าต้องมีภาระหน้าที่ และมีความยุ่งยากมากขึ้น มองว่ากระทรวงใหม่มีโจทย์สำคัญอย่างหนึ่งคือ ต้องรวมภารกิจอุดมศึกษา และการวิจัยเข้ามาไว้เป็นเนื้อเดียวกัน ไม่ใช่แค่นำ 2 อย่างมาแตะกัน แต่ต้องทำให้เกิดความกลมกลืน หากมองถึงเหตุผล ก็มีความเหมาะสมที่จะนำทั้ง 2 สิ่งนี้ เข้ามาด้วยกัน เพราะการวิจัยในประเทศ ไม่ว่าจะมองในแง่ไหนก็อ่อนแอมาก เช่น งบประมาณ ที่รัฐให้งบในการวิจัยแค่ 0.2% ของ GDP ในขณะที่ต่างประเทศให้งบเพื่อการวิจัยมากกว่า 2% ของ GDP ของประเทศ เพราะการที่เม็ดเงินเข้าสู่การวิจัยมาก หรือน้อย สะท้อนถึงระดับการวิจัย คุณภาพการวิจัย ว่ามีความหลากหลาย และเข้มข้นแค่ไหน
สิ่งที่ตามมาคือ ไทยเป็นประเทศที่ผลิตนวัตกรรมออกมาน้อยมาก ทำให้ประเทศต้องนำเข้านวัตกรรม ซึ่งเป็นผลเสียอย่างหนึ่งที่ประเทศทำงานวิจัยน้อยเกินไป กำลังคนในการวิจัยอยู่ที่มหาวิทยาลัยอยู่แล้ว จึงเป็นเหตุผลที่หน่วยงานทั้ง 2 ส่วนจึงมารวมกัน เพราะการวิจัยอ่อนแอ ถ้านำมาเสริม และสามารถจัดระบบให้ดี อาจจะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งในการผลิตงานวิจัย และนวัตกรรมให้กับประเทศได้
ส่วนตัวมีข้อกังวลอยู่คือ อว.ยังตอบโจทย์ไม่ได้ทั้งหมดในแง่ของการพัฒนากำลังคน และการวิจัยมากพอ หากไม่นำอาชีวะเข้ามารวมไว้ด้วย เพราะเมื่อการศึกษาขั้นพื้นฐานได้สร้างให้นักเรียนอ่านออกเขียนได้ แต่หลังจากนั้นคือการสร้างคนเข้าสู่วิชาชีพต่างๆ ซึ่งบทบาทนี้ถือเป็นบทบาทที่อุดมศึกษา และอาชีวศึกษา มีบทบาทเดียวกัน แม้แต่การวิจัยนั้น อาชีวศึกษาก็ผลิตงานวิจัยเช่นกัน ดังนั้น อุดมศึกษา และอาชีวศึกษา มีพันธกิจอันเดียวกัน หากแยกกันบริหารเช่นนี้ จะแก้ปัญหาไม่ได้ เพราะปัญหาที่แก้ไม่หายในปัจจุบันคือ รัฐต้องการให้คนเข้าเรียนอาชีวะเพิ่มมากขึ้น เพราะต้องการแรงงานฝีมือ มากกว่าคนที่จบในระดับปริญญา
เรื่องนี้มีความพยายามแก้กันมานาน แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ แต่หากนำอาชีวะ และอุดมศึกษามาบริหารในเนื้อเดียวกัน เพื่อหาวิธีที่เหมาะสมในการบริหารจัดการ เชื่อว่าจะตอบโจทย์ในการพัฒนาประเทศได้ ถ้าคิดกันใหม่ตั้งแต่ต้น รวมอาชีวะเข้ามาใน อว.ด้วย จะทำให้การวางแผนกำลังคนกระชับยิ่งขึ้น อาจจะนำไปสู่เป้าหมายได้ง่ายกว่า
หากมองงบด้านการอุดมศึกษาที่ผ่านมา แม้งบภาคการศึกษาในภาพรวมมีมาก แต่การจัดสรรเข้าไปยังอุดมศึกษายังมีน้อยอยู่ หลักการในการจัดสรรงบไปสู่มหาวิทยาลัยต่างๆ ไม่มีหลักเกณฑ์ที่ดีเท่าที่ควร เรียกได้ว่ายังเป็นระบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา หวังว่ากระทรวงใหม่จะดูแลเรื่องการจัดสรรงบด้วย โดยพัฒนาระบบที่แก้ไขจุดอ่อนต่างๆ ที่มีมาแต่อดีต
ส่วนผู้ที่มาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ อว.และปลัด อว.จะต้องเป็นคนที่มีความรู้ความสามารถ มีความเข้าใจทั้งในงานอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์และวิจัย เพื่อให้การดำเนินงานต่างๆ ของกระทรวงใหม่เป็นไปอย่างราบรื่น เท่าที่ทราบมีความเป็นไปได้สูงที่ นพ.สรนิต ศิลธรรม อดีตปลัด วท.จะเป็นปลัด อว.ซึ่งถือว่ามีความเหมาะสม เพราะ นพ.สรนิตเคยผ่านงานด้านอุดมศึกษา และด้านวิทยาศาสตร์มาแล้ว เข้าใจระบบการทำงานทั้ง 2 ฝ่ายเป็นอย่างดี เชื่อว่าสามารถบูรณาการให้ทั้ง 2 หน่วยงาน ทำงานด้วยกันอย่างราบรื่น ส่วนรัฐมนตรีว่าการ อว.จะเป็นใครนั้น ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่จะแต่งตั้งในวันที่ 7 พฤษภาคม”
ผศ.ดร.เรืองเดช วงศ์หล้า
อธิการบดี มรภ.อุตรดิตถ์ประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ
“ถื
อเป็นโอกาสดีของประเทศที่มี อว.เกิดขึ้นมา เชื่อว่าจะทำให้มหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง และหน่วยงานอื่นๆ ที่เข้ามารวมกันนี้ คล่องตัว มีอิสระมากขึ้น แต่ยังเหลือในส่วนของรายละเอียดโครงสร้าง การทำงานของกระทรวง ที่จะประสานการทำงานเข้าด้วยกันนั้น จะทำอย่างไร เพราะไม่ได้มีเพียงภาคอุดมศึกษาเท่านั้นที่เข้าร่วมด้วย
ทั้งนี้ เมื่อกระทรวงใหม่เกิดขึ้น มีความหวังว่าจะเข้ามาพัฒนา ให้ความสนับสนุนมหาวิทยาลัยในกลุ่มของ มรภ.เพิ่มมากขึ้น เพราะที่ผ่านมา มรภ.มุ่งเน้นวิจัย พัฒนา ผลิตนวัตกรรมต่างๆ ออกมาเพื่อช่วยเหลือชุมชน และท้องถิ่นเป็นหลัก อยากให้ อว.มองเห็นถึงความจำเป็นในการพัฒนากำลังคน พัฒนาท้องถิ่น ชุมชน และชนบท โดยสนับสนุนงบให้กับ มรภ.เพื่อวิจัย และสร้างองค์ความรู้พัฒนาชุมชนต่อไป
ส่วนความเหมาะสมของผู้ที่จะมาเป็นรัฐมนตรีว่าการ อว.หรือปลัด อว.นั้น จะต้องเป็นผู้บริหารที่มีความรู้ความเข้าใจ ทั้งในด้านอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม และสามารถส่งเสริมให้หน่วยงานต่างๆ เช่น มหาวิทยาลัย กลุ่มหน่วยงานสนับสนุนทุนวิจัย กลุ่มหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์ บูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน เพื่อให้การดำเนินงานของกระทรวงใหม่ราบรื่น และต้องสนองเป้าหมาย ภารกิจหลักที่ตั้งไว้ตั้งแต่แรกได้”

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]