‘ธัญบุรี’คว้ารางวัลเจนีวา ขยับสู่มหา’ลัยนวัตกรรม

กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 07 พฤษภาคม พ.ศ. 2562
กรุงเทพธุรกิจ เส้นใยผักตบชวาตกแต่งทนไฟ, เจลทารักษาแผลในปากขาวละออและแผ่นแปะแก้ปวดสมุนไพรต้นทุนต่ำ ตัวอย่างผลงานวิจัยไทยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี ครองรางวัลใหญ่จากนิทรรศการสิ่งประดิษฐ์นานาชาติครั้งที่ 47 นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส มีสิ่งประดิษฐ์กว่า 1,000 ชิ้นจาก 40 ประเทศ และผู้เข้าชมมากกว่า 60,000 คน โดยการสนับสนุนจากรัฐบาล สวิตเซอร์แลนด์ และองค์กรทรัพย์สิน ทางปัญญาโลก จึงสร้างโอกาสให้นักวิจัยและนักลงทุนที่สนใจผลิตภัณฑ์นวัตกรรมได้รู้จักผลงานวิจัยที่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์จากประเทศไทย
รศ.ดร.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี เปิดเผยว่า จากนโยบายการสนับสนุนและ ส่งเสริมด้านงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้คุณภาพ ผลงานวิจัยของบุคลากรเป็นที่ยอมรับ ในระดับชาติและนานาชาติอย่างต่อเนื่อง
ล่าสุดส่งผลงานเข้าประกวด 5 ผลงาน และได้รับรวม 8 รางวัล สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพความพร้อมสำหรับก้าวสู่มหาวิทยาลัยแห่งนวัตกรรม หรือ Innovative University และพร้อมที่จะผลักดันงานวิจัยเพื่อให้เกิดประโยชน์และสร้างรายได้ให้กับประเทศไทยต่อไป
หนุนสมุนไพรไทยสู่เวทีโลก
ไฉน น้อยแสง อาจารย์ประจำวิทยาลัยการแพทย์แผนไทย เจ้าของผลงานผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากสเต็มเซลล์บัวฉลองขวัญ ได้รับรางวัลเหรียญทองแดงและรางวัลพิเศษจากประเทศจีน กล่าวว่า เกือบทุกส่วนของบัวหลวงสามารถนำมาสกัดสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพเพื่อใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอาง แต่ยังมีข้อจำกัดในเรื่องของวัตถุดิบบัวหลวงที่มีโอกาสปนเปื้อนสารเคมีหรือยาฆ่าแมลง ในกระบวนการปลูกได้ จึงได้ศึกษาวิจัยโดยเพาะพันธุ์เซลล์ต้นกำเนิดที่ไม่มีการปนเปื้อนสารพิษและโลหะหนัก
จากนั้นนำมาสกัดเพื่อให้ได้สารออกฤทธิ์ทางชีวภาพต่อยอดจากภูมิปัญญาพื้นบ้านเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ซึ่งมีคุณสมบัติยับยั้งการทำงานของเอ็นไซม์อิลาสเตส ช่วยลบเลือนริ้วรอย และไทโรซิเนสและโดปาออกซเดส ช่วยในเพิ่มความขาวกระจ่างใส รวมถึงมีความคงตัวเป็นเวลา 2 ปีภายใต้สภาวะอุณหภูมิต่างๆ ผลงานวิจัยนี้ได้ส่งต่อให้ภาคเอกชนทำเป็นผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิ กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง จีนและลาว
“การสร้างมูลค่าของบัวหลวง ผ่านงานวิจัย ต่อยอดจนมาเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ซึ่งผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงการประกวดและได้รางวัลในระดับนานาชาติ จะสร้างความมั่นใจในคุณภาพแก่ผู้บริโภค และอยากเห็นพืชสมุนไพรไทยเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากยิ่งขึ้น” ไฉน กล่าว ด้านผลงานเจลทารักษาแผลในปาก ขาวละออ ได้รับรางวัลเหรียญทองและรางวัลพิเศษจาก รมว.วิทยาศาสตร์และอุดมศึกษาของสหพันธรัฐรัสเซีย โดย ผศ.ภญ.เอมอร ชัยประทีป วิทยาลัยการแพทย์แผนไทย เป็นความร่วมมือกับบริษัท ขาวละออเภสัช ผู้ผลิตและส่งออกยา จากสมุนไพรภูมิปัญญาไทยมากว่า 90 ปี
“ขาวละออเม้าท์เจล” พัฒนาต่อยอดมาจากยากวาดสมานลิ้น เป็นผลิตภัณฑ์จากสารสกัดธรรมชาติ ไม่มีส่วนประกอบของ สเตียรอยด์ และมีงานวิจัย 4 ฉบับรองรับ มีคุณสมบัติช่วยให้แผลในปากหายเร็ว ต้านอักเสบได้ดี มีความปลอดภัยสูง และยังมีการวิจัยเนื้อเจลที่ปลอดภัยซึ่งทำให้สามารถใช้ได้แม้ในเด็กเล็ก
เส้นใยผักตบฯสู่อุตฯแฟชั่น
ถุงมือและผ้ากันเปื้อนจากเส้นใยผักตบชวาตกแต่งทนไฟ รางวัลเหรียญเงิน และรางวัลพิเศษจากประเทศมาเลเซีย โดย ผศ.สาคร ชลสาคร อาจารย์ประจำในสาขาวิชาสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ นำต้นผักตบชวามาพัฒนาเป็นเส้นใย เส้นด้าย และผืนผ้า ภายใต้โครงการวิจัยเรื่อง การพัฒนา ผลิตภัณฑ์ผ้าผักตบชวาสู่อุตสาหกรรมแฟชั่น ได้รับงบสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2560
นักวิจัยสนใจผักตบชวาเป็นพิเศษ และเคยเข้าร่วมการวิจัยพัฒนาเส้นใยจากผักตบชวาสู่ผลิตภัณฑ์สิ่งทอสร้างสรรค์ ที่ได้รับงบอุดหนุน จากสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ประจำปี 2558 โดยร่วมกับบริษัท สยามรุ่งเรือง จำกัด พัฒนาเป็นผ้าผืนแต่ยังติดปัญหาเรื่องต้นทุนสูงมาก เฉลี่ยผ้าหนึ่งหลาราคาเกือบหนึ่งพันบาท จึงต้องเริ่มใหม่อีกครั้งเนื่องจากต้องการให้บริษัทมีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่เป็นนวัตกรรมนอกเหนือจากการผลิตชุดเด็กและสตรี และต้องการช่วยลดมลภาวะสิ่งแวดล้อม ต่อมาได้โดยร่วมมือกันเพื่อปรับปรุงพัฒนาผักตบชวาออกมาเป็นเส้นด้าย ผ้าผืน เสื้อผ้าสตรีที่มีรูปแบบเรียบง่าย ผสมผสานความทันสมัย ด้วยสมบัติของผักตบชวาทำให้สวมใส่สบายระบายอากาศได้ดี กระทั่งล่าสุดได้พัฒนาถุงมือและผ้ากันเปื้อนที่มีคุณสมบัติพิเศษทนไฟ

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]