คอลัมน์ มุมศึกษาหาความสุข: สนามเด็กเล่นสร้างปัญญาสร้างสุขภาวะ

สยามรัฐ ฉบับวันที่ 07 พฤษภาคม พ.ศ. 2562
อลงกรณ์ รัตตะเวทิน/ มทร.ธัญบุรี
เมื่อไม่นานมานี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิสนามเด็กเล่นสร้างปัญญานำภาคีเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ กว่า 2,000 อปท.ประกาศเจตนารมณ์ “สานพลัง สร้างปัญญา พัฒนาเด็กปฐมวัยและประถมศึกษา” เพื่อปรับเปลี่ยนและปรับปรุงกลไกและวิธีการร่วมกันพัฒนาระบบดูแลเด็กปฐมวัยและประถมศึกษา
ว่าที่ร้อยตรีดำรงศักดิ์ ขวัญชัย นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลป่ากอดำ อำเภอแม่ลาว จังหวัดเชียงราย หนึ่งในชุมชนที่สร้างสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา กล่าวว่า ที่ผ่านมา 1 ปี 6 เดือนกับการทำงานร่วมกับ สสส.มีการทำข้อมูลระบบตำบลและนำข้อมูลมาทำเป็นหลักสูตรในการพัฒนาเด็กปฐมวัย โดยบริบททั้ง 7 ชุมชนจะเป็นข้อมูลพื้นฐานของเด็กทั้งหมดนำเข้าสู่กระบวนการพัฒนาเรียนรู้ของโรงเรียนในสังกัด มีการถ่ายทอดข้อมูลการเรียนรู้การทำงานเรื่องเด็กปฐมวัยจากความร่วมมือขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหมด เพื่อช่วยกันพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กและสร้างเด็กเหล่านี้ให้เป็นประชากรที่มีคุณภาพ ซึ่งการเกิดศูนย์เรียนรู้นั้น ทาง สสส.ได้คัดเลือกจากองค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นอันดับแรก โดยมีทางมหาวิทยาลัยขอนแก่น นำกระบวนการเรียนรู้มาเชื่อมโยงกับในพื้นที่ศูนย์เรียนรู้ทั้งหมดได้รับการอบรมและถอดบทเรียน และต่อยอดเพื่อให้เชื่อมโยงกับพระราชบัญญัติตัวใหม่ที่ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขับเคลื่อน เกี่ยวกับเด็กปฐมวัยในพื้นที่ของตนเอง โดยจะขยับช่วงอายุ จาก 0-5 ปี เป็น 0-12 ปี
ว่าที่ร้อยตรีดำรงศักดิ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังประสานกับสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.)ตามนโยบายของรัฐบาล เรื่องการดูแลเด็กแรกเกิดด้วยการรับขึ้นทะเบียนเด็กที่ปฏิสนธิอยู่ในครรรภ์ เพื่อรอรับสวัสดิการสำหรับเด็กแรกเกิด แต่กระบวนการรับสิทธิ์นั้นไม่ได้จบเพียงเท่านี้ เพราะเด็กที่เติบโตขึ้นมาต้องมีการต่อยอด ดังนั้น สสส. จึงเข้ามาเป็นตัวเชื่อมโยงให้ในเรื่องการขับเคลื่อนเรื่องของเด็กปฐมวัยจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพราะมีหน่วยงานนี้อยู่ทั่วประเทศและใกล้ชิดกับชาวบ้านมากที่สุด จึงเป็นที่มาของการเกิดโครงการพัฒนาเด็กปฐมวัยให้กับท้องถิ่นทั้งหมด และสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาช่วยสร้างการเรียนรู้ให้กับตัวเด็กได้จริง
“ฐานต่างๆ เหล่านี้ จะช่วยการเรียนรู้ให้ครบทุกมิติ และในอนาคตจะขยายไปถึงโรงเรียนในเขตเทศบาล แต่อุปสรรคของการทำงาน คือ การปรับทัศนคติว่า สนามเด็กเล่นสามารถตอบโจทย์การพัฒนาศักยภาพของเด็กได้จริง ทั้งด้านร่างกายและสติปัญญาที่เป็นกุญแจสำคัญในกระบวนการเรียนรู้ที่ดีของเด็กในอนาคตได้”ว่าที่ร้อยตรีดำรงศักดิ์กล่าว
เรื่องการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับเด็กสร้างความสำคัญในการเรียนรู้นางเพ็ญศรี สร้อยมาตร์ ผู้อำนวยการกองการศึกษา ครูชำนาญการพิเศษองค์การบริหารส่วนตำบลยางขี้นก อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานีเป็นอีกหนึ่งชุมชนที่เห็นความสำคัญ กล่าวว่า ในการทำงานเกี่ยวกับเด็กนั้นต้องอาศัยทุกภาคส่วน ทั้งผู้นำท้องถิ่น ปราชญ์ชาวบ้านข้าราชการที่เกษียณอายุ หรือบุคคลที่มีศักยภาพ โดยการเชิญทุกกลุ่มเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงาน มีการประชุมพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อปรับพัฒนากิจกรรมต่างๆ ให้เหมาะสมกับเด็ก ซึ่งอุปสรรคของการทำงานคือ ความวิตกกังวลของผู้ปกครองในช่วงแรก ที่ห่วงว่าลูกจะเล่นได้จริงหรือไม่จึงต้องมีการสร้างความเข้าใจ และรับฟังข้อเสนอแนะของผู้ปกครองเพื่อปรับเพิ่มและค่อยๆ แก้ไข จนพบว่า ปัญหาคือการสร้างความร่มรื่นในพื้นที่ ซึ่งตอนนี้เร่งดำเนินงานเขียนโครงการเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมให้ร่มรื่นมากขึ้น
“ทั้งนี้การเกิดสนามเด็กเล่นสร้างปัญญานั้นมาจากการที่ สสส.เข้ามาช่วยสนับสนุนทั้งเรื่องงบประมาณ และตัวกระบวนการทำงานแผนงานที่ใช้ได้จริง ทำให้เห็นผลลัพธ์ของการดำเนินงานออกมาเป็นตัวชี้วัดอย่างชัดเจน ระยะแรกของการสร้างสนามเด็กเล่นต้องทำความเข้าใจทั้งเรื่องการเล่น ความสำคัญของการเล่นเพราะการเล่นไม่ได้สร้างแต่ความสนุกเพลิดเพลินเท่านั้นแต่การเล่นยังฝึกกล้ามเนื้อมือและแขนขาได้อย่างดี จากการสอบถามผู้ปกครองและการสังเกตพฤติกรรมเด็กของคุณครูพบว่า การเล่นทำให้เด็กที่ไม่เคยเข้าสังคมหรือพูดน้อย มีพัฒนาการที่ดีขึ้น”นางเพ็ญศรี กล่าวทิ้งท้ายการทำงานเกี่ยวกับเด็กเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและต้องใส่ใจเป็นพิเศษแล้ว กระบวนการเรียนรู้นอกเหนือจากห้องเรียนก็มีส่วนสำคัญในพัฒนาเด็ก การมีสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา จะทำให้เด็กเรียนรู้ทั้งการผิดพลาดและความสนุกนาน ได้ทดลองด้วยตัวเองมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น เกิดกระบวนการฝึกเรียนรู้ได้อย่างยั่งยืนและไม่มีวันสิ้นสุด

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]