คอลัมน์ หน้ามองฟ้าเท้าหยั่งดิน: คลัสเตอร์สมุนไพรแห่งชาติ

ไทยรัฐ (กรอบบ่าย) ฉบับวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2562
สะ-เล-เต
กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกสมุนไพรบ้านเรามีด้วยกันหลายกลุ่ม ต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างผลิต ขาดการบูรณาการร่วมกัน สินค้าที่ผลิตออกมาเลยมักซ้ำๆกัน ได้คุณภาพบ้าง ไม่ได้บ้าง
ด้วยการปลูกทำกันแบบตามมีตามเกิด ส่วนใหญ่ไม่ได้คุณภาพตามมาตรฐานที่ตลาดต้องการ วัตถุดิบสมุนไพรเลยขายไม่ค่อยได้ราคา
แม้จะมีการรวมตัวกันเป็นคลัสเตอร์ให้เห็นในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงกันตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ เพื่อการทำงานอย่างสอดประสานขึ้น แต่ก็เป็นเพียงการประสานระหว่างกลุ่มเล็กๆ ทำให้ยังแก้ปัญหาหลายอย่างไม่ตกโดยเฉพาะแหล่งผลิต เพราะสมุนไพรบางตัวจะปลูกให้ได้สาระสำคัญสูง ปลูกได้เฉพาะบางพื้นที่เท่านั้น
ปี 2560 จึงเกิดการรวมตัวกันระหว่างคลัสเตอร์สมุนไพร จ.ขอนแก่น นครราชสีมา นครพนม สระบุรี พิษณุโลก ลำปาง น่าน จันทบุรี และนครศรีธรรมราช เป็นคลัสเตอร์สมุนไพรแห่งชาติ
หลังจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เป็นตัวประสานเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายสอดประสาน สร้างความเข้มแข็งให้กลุ่มสมุนไพรไทยทั้งองคาพยพ
ตั้งเป้าเพิ่มศักยภาพ ส่งเสริมให้เกิดความเข้มแข็ง พัฒนาการผลิต การบริหารจัดการทุกขั้นตอน นำนวัตกรรม เทคโนโลยีมาช่วยลดต้นทุน เพิ่มศักยภาพการผลิต พัฒนาสู่มาตรฐานเดียวกัน รวมไปถึงการเพิ่มมูลค่าโดยการออกแบบผลิตภัณฑ์ ยกระดับสู่การส่งออก
ปรียาวรรณ มีนุ่น เครือข่ายสมุนไพร คลัสเตอร์นักกษัตรนครไพร นครศรีธรรมราช ขยายความเพิ่มเติม การรวมเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ระดับชาติ ทำให้ได้เรียนรู้เพิ่มเติมถึงนวัตกรรม งานวิจัย องค์ความรู้จากทุกภาคส่วน อันจะนำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรของแต่ละกลุ่มเพื่อเพิ่มมูลค่า ขยายช่องทางตลาด ถือเป็นการช่วยเหลือทั้งเกษตรกรต้นน้ำผู้ผลิตกลางน้ำ และผู้ขายปลายน้ำ
นอกจากเป็นอีกช่องทางในการแลกเปลี่ยนความรู้ ยังทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนวัตถุดิบ รวมถึงสินค้าระหว่างกัน ก่อให้เกิดการเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน สร้างความสัมพันธ์อันดี ความสามัคคีก่อเกิดในหมู่คณะ.

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]