ตั้งต้นจาก’ปัญหา’พลิกโฉมโลกสไตล์’วันเดอร์ วูแมน’

กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2562
“ผู้หญิงจะรับมือกับความเสี่ยงอย่างระมัดระวัง คิดรอบ คิดครบ’

กรุงเทพธุรกิจ อีกภาพหนึ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนก็คือ ผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพไทย (Startup Founders) ที่เป็น “ผู้หญิง” มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น หลายกูรูที่คร่ำหวอดในแวดวงธุรกิจและสตาร์ทอัพ ต่างก็มองเห็นตรงกันว่า เมื่อเจาะลึกลงไปก็พบว่าโอกาสประสบความสำเร็จของสตาร์ทอัพที่ผู้ก่อตั้งเป็น ผู้หญิงก็มีค่อนข้างสูงอีกด้วย เนื่องจากผู้หญิง จะรับมือกับความเสี่ยงอย่างระมัดระวัง คิดรอบคอบ คิดครบ และที่กล้าเข้ามาในแวดวงนี้ก็เพราะหลายคนได้เห็นเคสรวมทั้งเคยทำธุรกิจเคยลองผิดลองถูกมาแล้วเมื่อได้เห็นแนวโน้มที่เติบโตจึงกล้าที่จะเข้ามา
เมื่อไล่ย้อนสตาร์ทอัพผู้หญิงที่ “กรุงเทพธุรกิจ” ได้เคยพูดคุย ก็พบว่ามัก เริ่มต้นที่ “เพนพ้อยท์” หรือปัญหาที่ได้เห็น เริ่มจาก “พิมพ์ฐดา สหัชอติเรกลาภ” ผู้ก่อตั้ง “สยาม เอาท์เลต” (Siam Outlet) ที่เคยกระโจนลงสนามอีคอมเมิร์ซแต่กลับพบกับความล้มเหลว เนื่องจากไม่มีความเข้าใจในกลไกของตลาดออนไลน์ ทำให้เสียทั้งแรง เสียทั้งเงิน และเสียทั้งเวลา “พอไปค้นหาข้อมูลก็พบว่าคนที่ทำมีอยู่ เป็นจำนวนมาก คิดจะแข่งคงไม่ไหว สู้ให้มา เป็นลูกค้าเราน่าจะดีกว่า แต่ต้องคิดหาเซอร์วิส ดีๆให้กับพวกเขา แต่ทำอย่างไรก็คิดไม่ออก เลยโทรไปชวนรุ่นน้องซึ่งขายของบนลาซาด้า ให้มาเจอมาช่วยเล่าชีวิตแม่ค้าออนไลน์ให้ฟัง แต่เขาบอกว่ามาไม่ได้เพราะมีออร์เดอร์เป็น พันๆ กล่องที่ต้องแพ็คส่งลูกค้า ก็บอกว่าถ้าอย่างนั้นเราจะไปช่วยแพ็ค เขาก็บอกว่า ไม่ได้อีกเพราะอยู่คอนโดค่อนข้างแคบต้องใช้ วางสินค้าที่นอนยังแทบจะไม่มีเลย ที่สำคัญเขาไม่ได้ทำสต็อกสินค้าไว้ ถ้าคนอื่นช่วยแพ็ค เดี๋ยวมันจะผิดหรือหายได้” จึงเป็นที่มาของสยาม เอาท์เลต ที่ให้บริการเก็บ แพ็ค ส่งของ สำหรับร้านค้าออนไลน์
ขณะที่ไอเดียเริ่มต้นของ “สยามคาร์ดีล” (SiamCarDeal) แพลตฟอร์มที่รวบรวม
โปรโมชั่นต่างๆ พร้อมทั้งข้อมูลรถยนต์ใหม่ทุกรุ่นทุกค่ายและดีลเลอร์ ทั่วไทย เสมือนได้ชมโชว์รูมรถทุกวันตลอด 24ชั่วโมง โดยวางตัวเองเป็นช่องทางการตลาดบนโลกออนไลน์สำหรับโชว์รูมรถ ก็คงไม่ต่างจากสตาร์ทอัพทั่วไปซึ่งเริ่มด้วย “ปัญหา” ที่ตัวเองต้องพบเจอ กระทั่งทำให้รู้ว่ามันเป็นโอกาสธุรกิจที่น่าสนใจ “ศิริพร เชาวน์ว่องเลิศ” ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ สยามคาร์ดีล เล่าว่า เมื่อ 2-3 ปีก่อน
เธอต้องการซื้อรถคันใหม่ และก็เหมือนกับ คนส่วนใหญ่ที่พยายามค้นหาข้อมูลทางออนไลน์ แต่ที่ค้นเจอมักจะเป็นข้อมูล ของรถยนต์มือสองเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากจำนวนรถยนต์ใหม่ที่ขายกัน ในตลาดเมืองไทยแต่ละปีมีอยู่ราว 7-8 แสนคัน ประการสำคัญทุกคันล้วนปิดการขายในช่องทาง “ออฟไลน์” ทั้งหมด ขณะที่โลกวันนี้กำลังก้าวสู่ “ออนไลน์”
เพนพ้อยท์ก็เป็นที่มาของ “ZeekDoc” (ซีคด็อก) เว็บไซต์ที่ช่วยทำให้ทุกคนสามารถค้นหาหมอเฉพาะทางที่อยู่ใกล้ๆ บ้าน และทำการนัดหมายได้ทันทีด้วยเช่นกัน “วลัยพรรณ ฉันท์มิตรกุล” ผู้ก่อตั้งซึ่งเรียนจบทางด้านเภสัชศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและทำงานในแวดวงธุรกิจสุขภาพมาตลอดพบว่าตัวเธอมักจะได้รับ คำถามจากเพื่อนฝูงมาโดยตลอดว่า เจ็บป่วยโรคนั้นโรคนี้ แล้วจะไปหาหมอที่ไหนดี?
“สุพิชญา สูรพันธุ์” ประธานกรรมการ บริษัท เนเวอร์ซิทอัพ จำกัด ผู้พัฒนา แอพพลิเคชั่น Piggipo เองเคยให้สัมภาษณ์สื่อไว้ว่าการเข้ามาในลู่วิ่งฟินเทคเกิดจากปัญหา ที่พบเจอด้วยตัวเอง ซึ่งเวลานั้นเธอยังเรียนอยู่มหาวิทยาลัย และมีบัตรเครดิตหลายใบ ซึ่งทุกๆ ปลายเดือนก็มักจะช็อคกับตัวเลขการใช้เงินที่มาจากการช้อปเพลิน รูดเพลิน ในฐานะที่ร่ำเรียนทางสายการตลาดก็เลยจุดประกายไอเดียว่าควรพัฒนาโซลูชั่นด้านการบริหารจัดการด้านการเงินและการใช้บัตรเครดิตอย่างมีประสิทธิภาพให้กับคนที่ถือบัตร
เช่นเดียวกันที่มาของ Ooca เป็นแพลตฟอร์มที่ทำให้ทุกคนเข้าถึงจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น โดยเข้าใช้งานได้อย่างเป็นส่วนตัวและปลอดภัย ทุกที่ ทุกเวลา ผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือสมาร์ทโฟน ก็มาจากการทำงานที่ทั้งหนักและเหนื่อยของ “ทพญ.กัญจน์ภัสสร
สุริยาแสงเพ็ชร์” ประธานบริหารและผู้ร่วม ก่อตั้ง กระทั่งเกิดความเครียด ความไม่สบายใจ ทำให้ต้องการขอคำปรึกษาจากจิตแพทย์ ซึ่งเมื่อได้พบได้พูดคุยก็รู้สึกสบายใจ รู้สึกผ่อนคลาย
เพราะตั้งแต่ยังเป็นเด็ก เธอได้ไปคลุกคลีกับกลุ่มเกษตรกรโดยตลอด และได้เห็นทุกกระบวนการตั้งแต่เริ่มปลูกพืชผัก การเก็บเกี่ยว ไปจนถึงขั้นตอนการขาย ทำให้ ได้เห็นว่าชีวิตของเกษตรกรมีความลำบากมาก “พงษ์ลดา พะเนียงเวทย์” จึงอยากทำให้ตลาดเกษตรประเทศไทย มีราคาที่เป็นธรรม มีคุณภาพ และโปร่งใส
เป็นที่มาของ “เฟรชเก็ต” (Freshket) ตลาดสดออนไลน์สำหรับร้านอาหาร แพลตฟอร์มที่เป็นตัวกลางเชื่อมผู้ซื้อ (กลุ่มภัตตาคาร ร้านอาหาร) ให้ได้เจอกับฝั่งผู้ผลิต (เกษตรกร) โดยตรง และด้วยแบ็คกราวน์ที่เธอเรียนปริญญาโทด้านบิสิเนส หลักสูตรMIM มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อีกทั้งเคยทำงานเป็นที่ปรึกษาในบริษัทที่เกี่ยวข้องกับสินค้าคอนซูมเมอร์ ทำให้เฟรชเก็ตเติบโตได้อย่างรวดเร็ว
“ปริณดา ประจักษ์ธรรม” ผู้ก่อตั้ง “กลาซซิค” (Glazziq) ซึ่งเป็นทายาท ไทยออพติคอลกรุ๊ป ที่คือมุ่งเปลี่ยนบรรยากาศ ของการซื้อการขายแว่นตาซึ่งในอดีตที่ผ่านมา มักมีลักษณะของความจำเป็น จำยอม เพราะแว่นตาหักเพราะสายตามีปัญหา และเมื่อเข้ามาเลือกแว่นตาในร้านก็มักจะพบเจอกับ ความอึดอัดนานับประการ แต่มันจะสะดวกสบายขึ้นเพียงแค่คลิกเข้าไปในเว็บไซต์กลาซซิค ซึ่งถือว่ายังเป็นต่อยอดธุรกิจเดิมของครอบครัวจากที่เป็น “ออฟไลน์” เป็นเทรดดิชั่นนอลเทรด นั่นคือ ร้านขายหอแว่นและร้านเบทเทอร์วิชั่น ตลอดจนโรงงานผลิตเลนส์ ให้ก้าวสู่ “ออนไลน์” ด้วย
อีกคนที่ยังสู้ไม่ถอยก็คือ “ชนิชา เสถียรปภาพร” ผู้ก่อตั้ง “คอลล่า” (Kolla) ซึ่งที่ผ่านมาเธอ Pivot หรือเปลี่ยนทิศบิสิเนส โมเดลมาโดยตลอด จากจุดเริ่มต้นชื่อว่า “มายโพรไฟล์”
(My Profile) มุ่งหวังให้คนหางานสามารถ สร้างประวัติหรือเรซูเม่สมัครงานได้ด้วยตัวเอง จากนั้นก็เปลี่ยนมาเป็น “แกร็บอะจ็อบ” (Grabajob) ที่เจาะจงหางาน หาคนในสายงาน โอเปอเรชั่น ซึ่งถือว่ามีอัตราการเทิร์นโอเวอร์ สูงมาก โดยเฉพาะพนักงานธุรกิจบริการ อย่างร้านอาหาร ร้านค้าต่างๆ จากนั้นก็เปลี่ยน เป็นคอลล่าแอพบนมือถือ ให้คนหางานเสิร์ซหาทำเลที่ต้องการทำงานว่ามีงานอะไรบ้างที่ประกาศรับสมัคร ส่วนฝั่งบริษัทก็ได้เห็นคนที่กำลังหางานและสามารถแชทสัมภาษณ์กันได้ทันทีโดยไม่จำเป็นต้องลางานหรือเดินทางเพื่อไปสัมภาษณ์ ชนิชา เล่าว่าธอเรียนจบด้านการจัดการอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี แต่มีโอกาสได้ทำงานสาย HR ทำให้มองเห็นถึงปัญหาเรื่องของการจ้างงานทั้งในมุมบริษัทและการหางาน ของคนทั่วไปมาโดยตลอด

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]