มทร.ธัญบุรี ยกระดับสมรรถนะ ‘ธุรกิจอีคอมเมิร์ซและเว็บไซต์’

มติชน (กรอบบ่าย) ฉบับวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2561
รศ.ดร.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) เปิดเผยว่า มทร.ธัญบุรี ร่วมกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) จัดทำโครงการ “การพัฒนามาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ” สาขาวิชาชีพเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และดิจิทัลคอนเทนต์ สาขาธุรกิจอีคอมเมิร์ซและเว็บไซต์ ขึ้นเพื่อยกระดับมาตรฐานสมรรถนะของกำลังคนในภาคธุรกิจอีคอมเมิร์ซและการบริการออนไลน์ สาเหตุสำคัญเนื่องมาจากธุรกิจอีคอมเมิร์ซโดยส่วนใหญ่ มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นทุกปีอย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งมีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ซึ่งเป็นกลไกสำคัญมาใช้ในการดำเนินกิจกรรมหลายภาค ทั้งในกระบวนการผลิต การดำเนินธุรกิจ การค้า การบริการ การศึกษา การสาธารณสุข การบริหารราชการแผ่นดิน กิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมที่ส่งผลต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจ การพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในสังคม รวมทั้งการดำเนินงานตามนโยบายที่เชื่อมโยงและสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ครอบคลุมถึงนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลในการก้าวสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0
“มาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพที่พัฒนาขึ้นนี้ มีสมรรถนะอาชีพทั้งด้านความรู้ ทักษะการปฏิบัติ และคุณลักษณะพึงประสงค์ในการประกอบอาชีพ รวมทั้งสิ้น 25 หน่วยสมรรถนะ ประกอบด้วยบริหารจัดการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์และการตลาดดิจิทัล บริหารจัดการเว็บไซต์ และพัฒนาระบบเว็บ ซึ่งคุณวุฒิวิชาชีพดังกล่าวนี้ มีความครอบคลุมถึง 15 คุณวุฒิ ใน 8 อาชีพ คือ 1) ที่ปรึกษาด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ 2)นักพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ 3)นักการตลาดดิจิทัล 4) นักบริหารจัดการระบบบริการออนไลน์ 5) นักประเมินระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ 6) นักบริหารระบบความมั่นคงปลอดภัยด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ 7) นักพัฒนาและบริหารข้อมูลระบบเว็บไซต์ด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และ 8) นักออกแบบเว็บไซต์”
โดยการพัฒนามาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ สาขาวิชาชีพเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และดิจิทัลคอนเทนต์ สาขาธุรกิจอีคอมเมิร์ซและเว็บไซต์ ถือเป็นการยกระดับคุณภาพของทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ ให้มีสมรรถนะในการแสวงหาโอกาสใหม่ๆ ในการสร้างนวัตกรรมทางธุรกิจและการบริการออนไลน์ได้อย่างยั่งยืน
ที่สำคัญยังตอบโจทย์ด้านการพัฒนาสมรรถนะซึ่งเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันด้านทุนมนุษย์ของประเทศ เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล สู่ “ยุค 4.0” อย่างยั่งยืนต่อไปได้

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]