‘เก้าอี้’ยางรถยนต์ศิลปะสร้างรายได้

กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2561
ทีมข่าวคุณภาพชีวิต
qualitylife4444@gmail.com
สาขาอาชีพที่จะฝึกนั้น ต้องมองระยะยาว ด้วยว่าจะสามารถต่อยอดได้ ฝึกจบแล้วนำไปประกอบอาชีพได้จริง การคัดเลือกสาขาที่สามารถทำตลาดต่อได้หรืออยู่ในความต้องการของตลาด จึงเป็นข้อพิจารณาในลำดับต้นๆ อย่างเช่น สาขาด้านงานประดิษฐ์ เป็นอีกสาขาที่น่าสนใจ เพราะ บางชิ้นงาน สร้างรายได้เป็น กอบเป็นกำเลยทีเดียว
สุทธิ สุโกศล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กล่าวว่าสาขาด้านงานประดิษฐ์ เป็นสาขาที่น่าสนใจอย่างที่เห็นเด่นชัดในการฝึกอาชีพ เพราะทำขึ้นโดยใช้ความคิดสร้างสรรค์ให้เกิดความประณีต สวยงามโดยอาศัยการเรียนรู้จากสิ่งรอบๆ ตัว นำมาดัดแปลงเช่น การประดิษฐ์ของใช้จากเศษวัสดุ หรืองานประดิษฐ์บางชิ้น นำเอาวัสดุเหลือใช้มาดัดแปลงเป็นของใช้อีกรูปแบบหนึ่ง หรืออาจเป็นของตกแต่ง สร้างความแปลกตาให้กับผู้พบเห็น
การฝึกอบรมที่จัดขึ้นจะเป็นการนำเอายางรถยนต์เก่าๆ มาห่อด้วยหนัง PVC ที่มีลวดลายสวยงาม ปิดฝาด้านบนด้วยไม้พร้อมวัสดุเพิ่มความนุ่มเพื่อให้นั่งสบาย ส่วนด้านล่างปิดช่องโหว่ตรงกลางด้วยไม้รูปวงกลม ต่อขาแบบเก้าอี้นั่ง สูงตามต้องการ นำมาวางประกอบกันเป็นชุดโซฟา ใช้งานได้จริง ราคาที่ใครๆ สามารถเลือกซื้อกลับไปใช้ที่บ้านได้ จะซื้อเป็นเซ็ต หรือจะซื้อเป็นตัวเดี่ยวได้งานนี้ ทำเอากลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่เข้าอบรม มองเห็นอนาคตของการสร้างรายได้ ทั้งนี้ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงห์แก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้ได้ให้นโยบายการฝึกอาชีพให้กับผู้มีรายได้น้อย ต้องใช้แนวทางประชารัฐประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันดำเนินการเพื่อให้ ที่ได้รับการอบรมสามารถนำความรู้ไปต่อยอดสร้างงาน สร้างอาชีพได้อย่างแท้จริง ไม่น้อยกว่าร้อยละ 65 มีรายได้เพิ่มขึ้น
วรพจน์ แสงรัก (อาจารย์หน่อง) อายุ 48 ปี จบจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี คณะศิลปกรรม เป็นวิทยากรผู้สอนงาน ประดิษฐ์การทำเก้าอี้จากยางรถยนต์ เล่าว่า เห็นยางรถยนต์เก่าๆ ที่ร้านจำหน่ายยางรถยนต์นำมาวางเรียงรายอยู่ตามหน้าร้าน การทำลายยางรถยนต์ค่อนข้างยาก และถ้าเผาทำลายจะก่อให้เกิดมลพิษ ต่อสิ่งแวดล้อม
จึงนำยางรถยนต์เหล่านี้มาประดิษฐ์ใน รูปแบบต่างๆ เพื่อให้ใช้งานได้ ที่ผ่านๆ มา เห็นตามสถานศึกษา นำยางรถยนต์ไปทาสี แล้วตกแต่งตามสวนหย่อม สนามเด็กเล่น บางแห่งนำไปประดิษฐ์ทำเป็นเครื่องเล่นให้กับเด็กๆ หารูปแบบอื่นที่แตกต่างออกไป และสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นไปอีก
ช่วงแรกๆ ทำออกมาจำหน่าย ต่อมาได้รับการติดต่อจากสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานนนทบุรี ให้มาเป็นวิทยากรสอนงานประดิษฐ์จากยางรถยนต์ แก่ผู้สนใจทั่วไป ที่ต้องการนำไปประกอบอาชีพ งานประดิษฐ์สามารถต่อยอดได้ ขึ้นอยู่กับความคิดสร้างสรรค์หรือประยุกต์ใช้ ซึ่งไม่มีขีดจำกัด ยังมีชิ้นงานอื่นๆ อีกมากที่คิดจะทำ การที่ได้มาเป็นวิทยากรให้กับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ถือว่าเป็นโอกาสที่ดี และรู้สึกดีใจกับพี่น้องประชาชนและ ผู้มีรายได้น้อย ที่รัฐบาลให้ความช่วยเหลือ ผ่านหน่วยงานของรัฐที่ยึดมั่นเรื่องมาตรฐาน การฝึก
“กานดา จรูญจงจิต”อายุ 39 ปีปัจจุบันขายเสื้อผ้า หลังจากผ่านการอบรม ศิลปประดิษฐ์ (เก้าอี้ยางรถยนต์) 30 ชั่วโมง จากสนพ.นนทบุรี ได้รวมกลุ่มกับเพื่อนๆ ที่เข้าฝึกอาชีพด้วยกัน ประมาณ 5 คน ผลิตสินค้าตามคำสั่งซื้อตามออร์เดอร์ จำหน่ายผ่านออนไลน์ เป็นเก้าอี้ทางเตี้ย สามารถ พกพาไปเที่ยวได้เพราะน้ำหนักไม่มาก ราคาตัวละประมาณ 1,500 บาท เช่นเดียวกับที่สนพ.ตราดจัดฝึกอบรมสาขาศิลปะประดิษฐ์ (การทำเก้าอี้จากยางรถยนต์)อีก 1 รุ่นกลางเดือนสิงหาคมนี้
หลังจากฝึกอบรมไปแล้วจำนวน 3 รุ่นเนื่องจากผู้สมัครฝึกอบรมให้ความสนใจ และมองหาช่องทางการจำหน่ายได้ อีกทั้งต้นทุนไม่สูง สามารถทำตลาดผ่าน on line ได้ด้วย อีกทั้งช่วงระหว่างฝึกมีการสั่งซื้อเข้ามาด้วย ทำให้ผู้ฝึกอบรมมีความกระตือรือร้นและตื่นเต้นกับการฝึกเป็นอย่างมาก
โครงการฝึกอาชีพให้ผู้มีรายได้น้อย 625,120 คน เพื่อให้มีอาชีพ มีงานทำ หรือประกอบอาชีพอิสระโดยผู้ผ่านการฝึกอบรมอย่างน้อยร้อยละ 65 มีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งในส่วนของสพร.13 กรุงเทพมหานคร มีผู้แจ้งความประสงค์ฝึกอาชีพจำนวน 13,248 คน และช่างอเนกประสงค์ 220 คน แบ่งเป็นฝึกอาชีพเสริมหรืออิสระ 13,033 คน ซึ่ง ผู้เข้าร่วมฝึกอบรมในครั้งนี้จะแบบอย่างที่ดีให้แก่คนอื่น ในการแสวงหาโอกาสใน การพัฒนาตนเอง ให้มีทักษะฝีมือ สร้างอาชีพหลักและอาชีพเสริมในการเลี้ยงดูตนเองและครอบครัว
ทั้งนี้จังหวัดที่มีผู้มีรายได้น้อยลงทะเบียนฝึกอาชีพสูงสุด 5 อันดับ ได้แก่นครราชสีมา จำนวน 20,867 คน สุรินทร์ จำนวน 14,978 คน เชียงราย จำนวน 13,950 คน อุบลราชธานี จำนวน 13,301 คน และกรุงเทพมหานคร จำนวน 13,248 คน ช่วงอายุของผู้ต้องการฝึก มากที่สุด คือช่วง 35-50 ปี
“ฝึกจบแล้ว นำไปประกอบอาชีพได้จริงการคัดเลือกสาขาที่สามารถทำตลาดต่อได้หรืออยู่ในความต้องการของตลาด”

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]