คอลัมน์ รอบรั้วการศึกษา: มทร.ธัญบุรี ส่งต่อความรู้…ตลาดออนไลน์ กระตุ้นยอดขายเอสเอ็มอีไทย

สยามรัฐ ฉบับวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2561
เดินหน้าต่อเนื่องสำหรับโครงการส่งเสริมพัฒนาตลาดอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับเอสเอ็มอี ปี 2561 หรือ SME Online โดย สสว.และ มทร.ธัญบุรี ซึ่งเริ่มขยายข่ายไปยังพื้นที่ภาคกลาง และภาคตะวันตก เพื่อสนับสนุนการตลาดออนไลน์ และกระตุ้นยอดขายให้ผู้ประกอบการ ตามนโยบายรัฐบาลไทยแลนด์4.0
นายนิติ วิทยาวิโรจน์ ผอ.สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี เป็นวิทยากรร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เดินสายจัดกิจกรรมอบรมให้กับกลุ่มผู้ประกอบการจังหวัดกาญจนบุรี เน้นส่งเสริมการค้าตลาดออนไลน์ในด้านต่างๆ ทั้งการให้ความรู้ การบริหารจัดการโลจิสติกส์ การชำระเงิน การยกระดับมาตรฐานสินค้า บรรจุภัณฑ์ การให้คำปรึกษาเป็นรายกรณี และยังจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายเพื่อกระตุ้นให้เกิดการซื้อขายร่วมด้วย
สำหรับ มทร.ธัญบุรี ได้รับมอบหมายจาก สสว. ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่ส่งเสริมสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ให้รับผิดชอบในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันตก ซึ่งได้ดำเนินการมาใกล้แล้วเสร็จ และได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากผู้ประกอบการที่เข้าร่วม นอกจากการส่งเสริมการค้าตลาดออนไลน์แล้ว เรายังมุ่งเน้นการ เตรียมความพร้อมสินค้าและผลิตภัณฑ์เพื่อนำเข้าระบบตลาดอิเล็กทรอนิกส์หรือออนไลน์ เช่นการถ่ายภาพสินค้า การจัดทำและการปรับปรุงเรื่องราวของสินค้าเพื่อให้ผู้บริโภคเกิดการรับรู้มีความสนใจและตัดสินซื้อในที่สุด
นายสุรศักดิ์ เหลืองอุษากุล Strategic Planning Director จากบริษัท แบรนด์เบเกอร์ จำกัด และกรรมการบริหารสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย ในฐานะวิทยากรบรรยายสัมมนาในหัวข้อ “การตลาดออนไลน์สำหรับผู้ประกอบการยุคใหม่ปรับตัวอย่างไรให้สตรอง” ให้คำแนะนำผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ต้องเข้าใจกลุ่มเป้าหมายอย่างแท้จริงสร้างความต้องการซื้อหรือใช้สินค้าที่เพิ่มมากขึ้น และเมื่อลูกค้าซื้อแล้วจะต้องเปลี่ยนให้เป็นลูกค้าประจำให้ได้ โดยสร้างเนื้อหาที่มีคุณค่าผ่านการเล่าเรื่องบนโลกออนไลน์ รวมถึงเลือกใช้สื่อที่เหมาะสม เพราะสื่อออนไลน์เป็นสื่อที่ผู้บริโภคให้ความสนใจและสามารถเข้าถึงอย่างกว้างขวาง ในฐานะผู้ประกอบการธุรกิจจะต้องรู้ว่าสื่อใดตอบโจทย์ตอนไหนมากที่สุดและสื่อที่เลือกนั้นเหมาะกับกลุ่มเป้าหมายใดของเรา
ขณะเดียวกัน ต้องดึงความสนใจจากผู้บริโภคบนออนไลน์ ทำให้พวกเขาหยุดเลื่อนผ่านและสนใจดูในสิ่งที่เรานำเสนอให้ได้ อีกข้อหนึ่งที่พึงระวังคืออย่าเหมารวมว่าทุกคนคือลูกค้า เพราะบุคคลแต่ละประเภทหรือแต่ละกลุ่มมีความต้องการไม่เหมือนกัน และต้องไม่ลืมบริบทข้ออื่นด้วย เช่น การส่งเสริมการขายหรือโปรโมชั่น เพราะโปรโมชั่นจะช่วยให้ลูกค้าที่สนใจสินค้าอยู่แล้วนั้น ตัดสินใจง่ายและไวยิ่งขึ้น
ขณะที่ น.ส.กัญญ์ศิริ ยิ้มประสิทธิ์เจ้าของธุรกิจแปรรูปมะม่วงหาวมะนาวโห่หนึ่งในผู้ประกอบการที่ร่วมโครงการ มองว่าเราต้องเรียนรู้ตลอดเวลาเพื่อการพัฒนาตนเองและธุรกิจ ซึ่งโครงการ SME Online ให้ความรู้ได้มาก เพราะรูปแบบการขายและผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป ผู้ขายหรือผู้ประกอบการก็ต้องปรับตนเองไปอยู่ในโลกออนไลน์ ต้องมีหน้าร้าน มีเรื่องราวหรือรูปภาพสินค้า มีช่องทางการชำระเงินที่อำนวยความสะดวกให้กับผู้บริโภค แม้ตนเองจะเป็นกลุ่มเอสเอ็มอีแต่ก็สนใจและมุ่งเน้นการขายออนไลน์ และอยากทำให้สินค้าเป็นที่รู้จัก เป็นที่นิยมของกลุ่มผู้บริโภคในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น
โครงการ SME Online ยังเดินหน้าต่อไป เพื่อส่งเสริมความรู้และสร้างโอกาสแก่ผู้ประกอบและผู้สนใจซึ่ง สามารถติดตามได้ที่http://www.smeonline.rmutt.ac.th หรือที่ Facebook Fanpage: Smeonline by osmep

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]