แฟชั่นสุดชิค ศิลปนิพนธ์ นศ.ออกแบบแฟชั่น มทร.ธัญบุรี

22 ไอเดีย ว่าที่ดีไซน์เนอร์หน้าใหม่ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาออกแบบแฟชั่นและศิลปะสิ่งทอ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี ออกแบบและตัดเย็บชุดลำลองและชุดราตรี โชว์ผลงานศิลปนิพนธ์กว่า 154 ผลงาน จากแนวคิดและเทคนิคเฉพาะตัว

นายสุระจิตร แก่นพิมพ์ ประธานหลักสูตรการออกแบบแฟชั่นและศิลปะสิ่งทอ คณะศิลปกรรมศาสตร์ เล่าว่า ศิลปนิพนธ์ของนักศึกษาสาขาวิชาออกแบบแฟชั่นและศิลปะสิ่งทอ มีความแตกต่างกันออกไปในแต่ละรุ่น เนื่องด้วยนักศึกษาแต่ละคนมีเทคนิคและความชอบเฉพาะตัว นำความเป็นสากลและความเป็นไทยประยุกต์เข้าด้วยกันอย่างลงตัว  นำมาออกแบบและตัดเย็บชุด ได้แก่ ชุดลำลอง ชุดแฟชั่นชั้นสูง และชุดปาร์ตี้ สามารถสวมใส่เกิดเป็นแฟชั่นใหม่แห่งวงการแฟชั่นไทย

นางสาวศศิมาภรณ์ แซ่เหลี่ยง การศึกษาเทคนิคป๊อปอัพเพื่องานแฟชั่นสร้างสรรค์ “Sightometric Collection” เล่าว่า งานศิลปนิพนธ์ของตนเองนำเอา เทคนิคป๊อปอัพเข้ามาใช้ สำหรับเทคนิคป๊อปอัพ ความโดดเด้ง สร้างความตื่นตาตื่นใจ มีสิ่งอื่นที่แปลกไปจากธรรมชาติ ออกมาในลักษณะสามมิติ เสนอผ่านเทคนิคป๊อปอัพที่มีรูปทรงเรขาคณิต โดยใช้วิธีการกรุ การเจาะ พับให้เกิดการยกระดับ และจัดองค์ประกอบเพื่อเป็นการจำลองการตกกระทบของแสงเงาผสมผสานการไล่เฉดสี ทำให้เกิดมิติ เพิ่มความเก๋ๆ ให้กับเสื้อผ้า

นางสาวณัฏฐ์นรี ศีละวงษ์เสรี การศึกษาภาพจิตรกรรมฝาผนังอียิปต์เพื่อออกแบบเครื่องแต่งกายปาร์ตี้ เล่าว่า ภาพจิตรกรรมฝาผนังอียิปต์ที่ใช้ประดับตกแต่งสุสานและวิหารของชนชั้นสูงของอียิปต์ในสมัยโบราณเป็นสิ่งที่สื่อถึงเรื่องราวอารายธรรมและความเชื่อมของชาวยียิปต์โบราณซึ่งเป็นอารายธรรมที่มีอายุมากกว่า 5,000 ปี พร้อมรูปแบบตัวอักษรภาพที่เป็นเอกลักษณ์ ซึ่งถูกนำมาเป็นแรงบันดาลใจเพื่อสื่อออกมาด้วยการออกแบบเสื้อผ้าสตรีปาร์ตี้ ลวดลายแปลกตาไม่ซ้ำใคร

นายสุพพัต หวันชิตนาย การศึกษาศิลปะเปอร์เซียเพื่อออกแบบชุดสร้างสรรค์ “The Prosperity of Persia Collection” เล่าว่า ศิลปะเปอร์เซีย เป็นผลงานศิลปะที่ผสมผสานอัตลักษณ์ทางอารายธรรมที่หลากหลายได้อย่างลงตัว นำเสนอเรื่องราวผ่านผืนพรมและกระเบื้อง ถ่ายทอดผ่านเทคนิคการพิมพ์ผ้าด้วยระบบดิจิทัล เทคนิคการฉลุลายด้วยเลเซอร์ และการปักประดับตกแต่งในรูปแบบเครื่องแต่งการสร้างสรรค์

นายอธิพงษ์ ปรีชา การศึกษาศิลปะการตัดกระดาษเพื่อออกแบบชุดสร้างสรรค์ “Artistic Dimension Collection” เล่าว่า ทางประเทศญี่ปุ่นมีการอนุรักษ์งานศิลปะที่ยังได้รับความนิยมในปัจจุบัน คือ ศิลปะการตัดกระดาษแบบญี่ปุ่น บอกเล่าเรื่องราวผ่านรูปทรง รูปร่าง สีสัน และลวดลายจากธรรมชาติ ผ่านการออกแบบเครื่องแต่งกายเชิงสร้างสรรค์นำเสนอผ่านโครงร่างแบบ Straight Line โทนสีพาสเทล เทคนิคการพับ และตัดเพื่อสร้างลวดลาย การตัดฉลุหนังเทียม และการซ้อนทับชิ้นงาน มาออกแบบชุดสร้างความแปลกใหม่ให้กับวงการแฟชั่น

นายไพสัน ศรีเทพ การศึกษาเครื่องแต่งกายวิกตอเรียเพื่อออกแบบชุดราตรีสร้างสรรค์ เล่าว่า เครื่องแต่งกายวิกตอเรีย มีบทบาทสำคัญต่อเสื้อผ้า และเข้ามามีอิทธิพลต่อการพัฒนารูปแบบ ที่แปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ผ่านลักษณะโครงสร้าง ที่เข้ารูปช่วงเอว สะโพกเผยช่วงอก นำเสนอลวดลาย สีสัน เทคนิคการปักตกแต่งด้วยเส้นไหม ดิ้นเงิน ดิ้นทอง และลูกปัด มาสร้างสรรค์เครื่องแต่งการชุดราตรี โดยประยุกต์ลวดลายดอกไม้ และการปักตกแต่งด้วยริบบิ้น

แฟชั่นทั้ง 154 ชุด เป็นตัวบ่งบอกไอเดียเฉพาะตัวที่นักศึกษาได้เรียนรู้ตลอดระยะเวลา 4 ปี ถ่ายทอดผ่านเสื้อผ้าด้วยไอเดียแต่ละบุคคล

 

ชลธิชา ศรีอุบล

กองประชาสัมพันธ์ มทร.ธัญบุรี 0-2549-4994

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]