คอลัมน์ เดลินิวส์วาไรตี้: ‘บัว’ไม้มงคล’เปี่ยมคุณค่า’ ดอกไม้บูชาต่อยอดสู่เศรษฐกิจ

เดลินิวส์ (กรอบบ่าย) ฉบับวันที่ 01 มีนาคม พ.ศ. 2561
พงษ์พรรณ บุญเลิศ
ดอกไม้ที่เกี่ยวเนื่องใน พระพุทธศาสนา ที่นำมาใช้ในพิธี สำคัญ ๆ แม้มีมากมายหลายชนิด แต่ที่พบเห็นสม่ำเสมอ ที่นำมา ใช้เพื่อการบูชา คงต้องกล่าวถึง”ดอกบัว” ไม้มงคลที่งดงามในความหมาย มากด้วยคุณประโยชน์…
มาฆบูชา วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา หนึ่งในดอกไม้สำคัญที่มีการนำมาใช้แพร่หลายก็คือ ดอกบัว โดยนอกจากมีความหมายเชื่อมโยง สื่อถึงหลักธรรมคำสอน แล้ว หลากเรื่องน่ารู้ยังค้นคำตอบได้จากดอกบัวนานาพันธุ์ที่งดงามของไทย ซึ่ง ผศ.ภูรินทร์ อัครกุลธร อาจารย์ประจำสาขาวิศวกรรมแปรรูปผลิตผลเกษตร คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ให้ความรู้ พาสัมผัสความงาม ความนัย ของไม้งามนามว่า “บัว”ว่า คนไทยเรารู้จักกับบัวมาเนิ่นนาน ทั้งนี้ บัวนั้นเกี่ยวเนื่องกับวิถีชีวิตไทยเรานับแต่การเกิดจวบถึงวาระสุดท้ายของชีวิต
ความน่าสนใจของบัว ยังถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรม มีประวัติเกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนา โดยดอกบัวเชื่อมโยงหลักธรรมคำสอน ขณะที่ การโกนผมไฟของเด็ก คนโบราณจะใช้ ใบบัวมารองผมที่โกน ซึ่งใบบัวเป็นใบไม้ที่สะอาด แม้จะเกิดจากโคลนตม แต่เมื่อพ้นน้ำตามธรรมชาติ บัวมีความบริสุทธิ์ สะอาดเกลี้ยงเกลา งดงาม หรือแม้แต่ในเรื่องอาหารการกินก็เกี่ยวเนื่องกับบัว ทั้งนี้ บัวมีสรรพคุณ มีสารอาหารที่มีประโยชน์อยู่ไม่น้อย
บัวสื่อถึงความเชื่อ ความศรัทธาในศาสนาพุทธ โดย ดอกบัวที่ใช้ไหว้พระเป็นดอกไม้ที่บริสุทธิ์ ซึ่งในพิธีกรรมงานบุญต่าง ๆ ก็จะเห็นดอกบัวแทบทุกพิธี อย่างเช่น พิธีบวชนาค จะใช้ดอกบัวถือเวียนรอบโบสถ์ กระทั่งถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ก็ยังคงได้เห็นดอกบัวอยู่ในพิธีกรรม โดยมีความเชื่อว่าผู้ตายจะได้นำดอกบัวไปบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์บนสรวงสวรรค์
ทั้งนี้ บัวมีความหมาย มีความงดงามที่ลึกซึ้ง แม้แต่ การพนมมือไหว้ ก็เช่นเดียวกัน สื่อแสดงความนัยของดอกบัว ไม้มงคลที่มีความบริสุทธิ์สะอาดได้ชัดเจน เป็นการแสดงออกที่มีเอกลักษณ์ เป็น อัตลักษณ์ของชาวพุทธ โดยการพนมมือไหว้ที่คล้ายกับดอกบัวเหมือนเป็นการแทนด้วยดอกบัว ที่นำไปกราบไหว้บูชาพระรัตนตรัย
ผศ.ภูรินทร์ ให้ความรู้เพิ่มถึง ประเภทของบัว ที่พบเห็นในพื้นที่ต่าง ๆ อีกว่า หากนึกถึงบัวไหว้พระ จะเป็น บัวหลวง หรือ กลุ่มบัวปทุมชาติเป็นบัวกลุ่มก้านแข็งก้านเป็นหนาม ๆ ซึ่งที่รู้จักกันก็จะมีดอกซ้อน เวลาบานจะเห็นกลีบซ้อนอยู่มาก โดย บัวหลวง ที่ดอกซ้อนสีชมพู เรียกว่า สัตตบงกช บัวหลวงดอกซ้อนสีขาว เรียก สัตตบุษย์โดยทั่วไปจะเรียกว่า บัวฉัตรซ้อนสีขาว บัวฉัตรซ้อนสีชมพู
อีกประเภทก็คือ บัวหลวงปทุมสัญลักษณ์ จ.ปทุมธานี ซึ่งมีกลีบซ้อนไม่มาก หากเป็นสีขาวจะเรียก บัวหลวงบุณฑริก และในกลุ่มบัวหลวงปทุมก็มีหลายแหล่งกำเนิด อาทิ แหล่งศาลายา แหล่งนครสวรรค์ แหล่งพิจิตร แหล่งสามร้อย ยอด ฯลฯ โดยแต่ละพื้นที่ก็จะแตกต่างกันตามสภาพภูมิอากาศ แต่ภาพรวมของกลุ่มบัวหลวงก็จะมีดอกซ้อนและไม่ซ้อน และบัวหลวงของไทยจะมีสีขาวและสีชมพู แต่แท้จริงแล้วบัวหลวงทั่วโลกมี 3 สี โดยมีสีเหลืองด้วย ซึ่งพบในเขตหนาว
กลุ่มบัวอุบลชาติ ต้องนึกถึง จ.อุบลราชธานี เมืองดอกบัว โดยเป็นบัวก้านอ่อน มีทั้งบัวบานกลางวันและบานกลางคืน อย่าง บัวผัน ที่บานกลางวัน เมื่อได้รับแสงจะบาน และเมื่อแสงหมดก็จะหุบ ส่วนกลุ่มบัวบานกลางคืน ได้แก่ บัวสาย ซึ่งก็เป็นตามชื่อ จะบานให้เห็นในช่วงสาย กลุ่มบัวอุบลชาติก็จะแบ่งเป็นสองเขตใหญ่คือเขตหนาวและเขตร้อน โดยไทยเป็นเขตร้อน ลักษณะใบบัวจะเป็นแฉก โดยที่รู้จักกันก็คือ บัวผัน และ บัวเผื่อน ส่วนถ้าเป็นบัวเขตหนาวจะเป็นใบกลม”สำหรับ บัวประจำถิ่นของประเทศไทย ก็มีหลายชนิด อย่างเช่น บัวจงกลนี บัวที่มีความพิเศษ ดอกสีชมพูสวยงาม โดยเมื่อบานแล้วจะไม่หุบ เพราะมีกลีบซ้อนอยู่มาก ทั้งยังถูกกล่าวขานถึงมายาวนานนับแต่สมัยสุโขทัย แต่ปัจจุบันเริ่มห่างหายไป เพราะหลายปัจจัย ทั้งการเปลี่ยนแปลงในการทำเกษตรกรรม สภาพอากาศ และด้วยเป็นบัวที่เมื่อมีดอกจะไม่ติด
เมล็ด ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้สูญพันธุ์ได้ง่ายขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยฯ ได้อนุรักษ์ไว้และเพาะขยายพันธุ์นำกลับคืนสู่ธรรมชาติ รวมถึงแหล่งที่อนุรักษ์พันธุ์บัวในสถานที่ต่าง ๆ ก็พยายามรักษาบัวชนิดนี้ไว้เช่นกัน”
ที่รู้จักกันดีจะเป็นบัวผัน บัวเผื่อน อย่างบัวผัน ที่เรียกชื่อนี้นั้น อาจมองได้จากการเปลี่ยนสีในแต่ละวัน เมื่อแรกแย้มอาจมีสีเข้ม แต่เมื่อถูกแสง สีก็อาจซีดจางลงไม่เหมือนกัน ขณะที่บัวบางชนิดสีอาจจะเข้มขึ้น ซึ่ง “ผัน” ในที่นี้จึงมองได้ว่าเป็นการผันเปลี่ยนสีส่วนบัวเผื่อน จะเป็นบัวที่มีดอกเล็ก ๆ สีฟ้าคราม และด้วยเหตุที่ออกดอกมากในท้องทุ่งนา ยิบ ๆ ย่อย ๆ เผื่อนหูเผื่อนตา ก็อาจเป็นที่มาของการเรียกชื่อ โดยเหล่านี้เป็นบัวในท้องถิ่นดั้งเดิม ถ้าระบบนิเวศเปลี่ยน ก็จะส่งผลกระทบต่อบัว
นอกจากบัวในท้องถิ่นที่ได้พบเห็นกันทั่วไป ยังมีความสวยงามจาก บัวที่นำเข้ามาปลูก แต่อย่างไรก็ตามปัจจุบัน ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีชื่อเสียงในเรื่อง “บัว” ลำดับต้น ๆ ของโลก ทั้งด้านองค์ความรู้ และการปรับปรุงพันธุ์ โดยมีพันธุ์บัวใหม่ ๆ ที่เพิ่มความหลากหลายด้วย และไม่เพียงความสวยงามของ ดอก หากแต่บัวนั้นยังมีความสวยงามของ ใบ ทั้งใบลายและสีสันที่แปลกตา มีทั้งที่มีอยู่เดิม และที่แปลกแตกต่างไปจากเดิม
ผศ.ภูรินทร์ ยังเล่าเพิ่มถึงเสน่ห์ของบัวที่น่าหลงใหลอีกว่า นอกจากเป็น ไม้มงคล และมีความ สวยงาม จนได้ชื่อว่าเป็น “เทพธิดาแห่งไม้น้ำ” หรือ “ราชินีไม้น้ำ” แล้ว ปัจจุบันบัวยังเป็น ไม้ตัดดอกที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจมาก ไทยมีการส่งออกไปยังหลายประเทศ ขณะเดียวกันยังส่งต่อความรู้ เกิดการศึกษาวิจัยใหม่ ๆ โดยที่ผ่านมามหาวิทยาลัยฯ บูรณาการร่วมกับหลายคณะ ศึกษาวิจัยบัวถึงการนำมาใช้ประโยชน์ด้านต่าง ๆ ทั้งด้านความงาม แปรรูปอาหาร ฯลฯ
“ส่วนต่าง ๆ ของบัว ล้วนมากประโยชน์ อย่างเช่น เกสรดอกบัวหลวง องค์ประกอบทางเคมีมีสารประกอบพวกฟลาวโวนอยด์หลายชนิด มีสรรพคุณทางยาไทย ช่วยบำรุงหัวใจ บำรุงกำลัง ฯลฯ ขณะที่ ดอกบัวหลวง มีสรรพคุณทางยาที่ดีเช่นกัน โดยถ้านำมาต้มน้ำดื่มขณะอุ่น ๆ จะช่วยให้หลับสบาย เป็นต้น
นอกจากนี้ ในงานที่เกี่ยวข้องทางด้านการเกษตรที่ดูแล ยังมองถึงการปรับปรุงพันธุ์บัวหลวง เพื่อให้ฝัก ให้เมล็ด รวมถึงเหง้าบัว ที่สมบูรณ์ และปรับปรุงพันธุ์บัวใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่า ความสวยงาม และความหลากหลาย ให้มีมากขึ้น”
.ทั้งนี้ ทั้งส่วนดอกที่เห็นกันมากในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา และส่วนอื่น ๆ ล้วนมีความเกี่ยวเนื่องกับวิถีชีวิตไทยแทบทุกมิติ ซึ่งกล่าวได้ชัดเจนว่า “เปี่ยมด้วยคุณค่าและมนต์เสน่ห์”…สำหรับ “บัว”…
“ราชินีไม้น้ำ” ที่อยู่คู่ไทยมายาวนาน…

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]