สร้างเครือข่ายสมุนไพร4ภาค เพิ่มขีดความสามารถแข่งขัน

ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 02 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560
สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี แถลงผลสำเร็จการดำเนินกิจกรรมคลัสเตอร์สมุนไพร ภายใต้โครงการสนับสนุนเครือข่ายธุรกิจเอสเอ็ม อีในกลุ่มอุตสาหกรรมสมุนไพรไทยปี 2560 ในการสร้างเครือข่ายและพัฒนาสมุนไพรไทยสู่ความมั่งคั่งและยั่งยืน โดยเริ่มตั้งแต่ผู้ปลูก ผู้แปรรูปและผู้ขาย สร้างเครือข่ายคลัสเตอร์สมุนไพร 4 ภูมิภาค 9 จังหวัด ขยายตัวทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 21 ล้านบาท
รศ.ดร.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดี มทร.ธัญบุรี เปิดเผยว่า การดำเนินกิจกรรมโครงการคลัสเตอร์สมุนไพรทั่วประเทศไทยทั้งหมด 4 ภูมิภาค ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 700 ราย แต่มีผู้สนใจเข้าร่วมโครงการมากถึง 940 ราย เนื่องจากเป็นการยกระดับและการแปรรูปต่างๆ รวมถึงการจัดแสดงโรดโชว์ของ 2 ประเทศ ได้แก่ ลาวและฮ่องกง อนาคตทาง มทร.ธัญบุรีและ สสว.จะบูรณา การยกระดับสมุนไพรให้สูงขึ้น อีกทั้ง 8 มทร.ทั่วประเทศยินดีบริการองค์ความรู้และผลงานวิจัยที่สามารถช่วยเหลือกลุ่มคลัสเตอร์สมุนไพร นอกจากนี้ มทร.ธัญบุรียังได้ทำ e-market place นำผลิตภัณฑ์ในกลุ่มคลัสเตอร์สมุนไพรเข้าร่วมเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันต่อไป
นางสาวพรทิพย์ ตันติวงศ์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยการแพทย์แผนไทย มทร.ธัญบุรี กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินกิจกรรมสร้างเครือข่ายและพัฒนาอุตสาหกรรมสมุนไพรไทย ตั้งแต่ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ เกิดการรวมตัวของ
กลุ่มจำนวน 9 คลัสเตอร์ใน 9 จังหวัด 4 ภูมิภาค และมีสมาชิกทั้งหมด 940 ราย ได้แก่ ภาคเหนือ คลัสเตอร์ไพรล้านนา จ.เชียงใหม่ คลัสเตอร์ไพรสองแคว จ.พิษณุโลก
ภาคกลาง คลัสเตอร์ภูมิพรรณไพร จ.สระบุรี คลัสเตอร์จันท์พันไพร จ.จันทบุรี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คลัสเตอร์ไพรร้อยแก่นสารสินธุ์ จ.ร้อยเอ็ด ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ คลัสเตอร์ไพรไทสกล จ.สกลนคร คลัสเตอร์ไพรเมืองย่า จ.นครราชสีมา ภาคใต้ คลัสเตอร์นวไพร จ.พังงา คลัสเตอร์นักษัตรนครไพร จ.นครศรีธรรมราช
ทั้งนี้ ได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์ในการพัฒนาคลัสเตอร์ทั้ง 9 แห่ง โดยอบรมสัมมนาให้ความรู้เรื่องการทำแผนกลยุทธิ์ทางการตลาด การสร้างแบรนด์ และการสร้างเครือข่าย เพื่อยกระดับผู้ประกอบการจำนวน 30 คน ตลอดการสร้างช่องทางการตลาดทั้งออฟไลน์และออนไลน์ รวมทั้งการจัดกิจกรรม Business Matching ในประเทศและต่างประเทศ นำนวัตกรรม ผลงานวิจัยมาปรับปรุงผลิตผลและผลิตภัณฑ์จำนวน 5 ราย โดยคาดว่าจะมีการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกไม่น้อยกว่า 21 ล้านบาท
นางสุจินตนา ไพศาล ประธานกลุ่มคลัสเตอร์นักษัตรนครไพร จ.นครศรีธรรมราช เล่าว่า ในกลุ่มมีวิสาหกิจชุมชนทั้งหมด 40 ชุมชน ผู้ประกอบการ 20 ผู้ประกอบการ โดยการสร้างเครือข่ายครั้งนี้เป็นการรวมตัวของคลัสเตอร์สมุนไพรภาคใต้ ซึ่งมีผลิตภัณฑ์สมุนไพรหลากหลาย เช่น แชมพู สบู่ และที่ได้รับความนิยมคือ ผลิตภัณฑ์ทางด้านความงาม เช่น แบรนด์กรรณิการ์เฮิร์บ สมุนไพรจากมะเฟือง การเข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ได้รับความรู้มากมาย โดยเฉพาะการสร้างบรรจุภัณฑ์ให้น่าสนใจ
นายภาดล แสงกุดเรือ ประธานกลุ่มคลัสเตอร์ร้อยแก่นสารสินธุ์ เล่าว่า สำหรับกลุ่มไพรร้อยแก่นสารสินธุ์ เป็นการรวมตัวของผู้ประกอบการสมุนไพรจาก 4 จังหวัด โดยมีสมาชิกประมาณ 200 คน ผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรในท้องถิ่น เช่น ว่านชักมดลูก ขมิ้นชัน มะกรูด ทั้งเครื่องใช้ บริโภคและอุปโภค ตลาดของกลุ่มวางขายตามงานโอท็อป การเข้าร่วมโครงการครั้งนี้ช่วยให้ตัวผลิตภัณฑ์มีความน่าสนใจมากขึ้น เนื่องจากมีนักวิจัยเข้ามาให้ความรู้และยังสนับสนุนช่องทางการตลาดอีกด้วย.

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]