นักวิจัยมทร.ธัญบุรีคิดหน้ากากวัดอุณหภูมิ

ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2564
มีไข้ 37.5 องศาเซลเซียสเปลี่ยนสีทันที
ช่วยป้องกันไวรัสโควิด-19 ได้ดี
ดร.นารีรัตน์ จริยะปัญญา อาจารย์นักวิจัยภาควิชาวิศวกรรมสิ่งทอ สาขาวิศวกรรมการจัดการผลิตภัณฑ์สิ่งทอ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(มทร.) ธัญบุรี เปิดเผยว่า ตนและ ผศ.สุนีย์ หทัยวสีวงศ์ อาจารย์ที่ปรึกษาและทีมนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ชั้นปีที่ 3 ประกอบด้วย น.ส.วิจิตรา ควรรับผล,น.ส.มนัญญา จำปาศรี และ น.ส.คนิษฐา สุวรรณศิลป์ ได้ร่วมกันพัฒนานวัตกรรมหน้ากากเปลี่ยนสี เมื่อผู้สวมใส่มีอุณหภูมิร่างกายสูง ด้วยการพัฒนาชิ้นส่วนหน้ากากและแถบยางยืด(Elastic Band) เคลือบตกแต่งด้วยสารเทอร์โมโครมิก เมื่อผู้สวมใส่มีอุณหภูมิร่างกายสูงประมาณ 37.5 องศาเซลเซียส สีของสารเทอร์โมโครมิกบนหน้ากากและยางยืดจะมีการเปลี่ยนไปเป็นสีเดิมของเนื้อผ้า
“สารเทอร์โมโครมิกมีความสามารถในการเปลี่ยนสีตามอุณหภูมิที่กำหนด ซึ่งจากการทดสอบได้กำหนดให้การเปลี่ยนสีมี 3 อุณหภูมิจุดวิกฤติหรือ Melting point ประกอบไปด้วยสีน้ำตาลที่อุณหภูมิ 35 องศาเซลเซียส สีดำที่อุณหภูมิ 37 องศาเซลเซียส และสีน้ำเงินที่อุณหภูมิ 38 องศาเซลเซียส ซึ่งในเบื้องต้นได้นำแถบยางยืดชนิดเดียวกันมาย้อมสารเทอร์โมโครมิกและทดสอบการเปลี่ยนสีในช่วงอุณหภูมิ 35-38.5 องศาเซลเซียส ปรากฏว่าสารเทอร์โมโครมิกที่นำมาตกแต่งนั้นสีน้ำเงินมีอุณหภูมิการเปลี่ยนสีได้ใกล้เคียงกับความต้องการนำไปใช้งานที่ 37.5 องศาเซลเซียส โดยจะมีการเปลี่ยนสีเหมือนอุณหภูมิเริ่มต้นของผู้ที่มีอาการไข้จึงนำสารสารเทอร์โมโครมิกสีน้ำเงินนี้มาประยุกต์ใช้บนผ้า และแถบยางยืดพร้อมกับออกแบบหน้ากากผ้าที่เหมาะสมที่มีลักษณะเป็น 3 D” อาจารย์นักวิจัยภาควิชาวิศวกรรมสิ่งทอ กล่าว
ดร.นารีรัตน์กล่าวอีกว่า นวัตกรรมหน้ากากผ้าป้องกันไวรัสโควิด-19 ที่คิดค้นขึ้นมานี้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เหมาะกับทุกกลุ่มคนที่ต้องอยู่ในคนหมู่มาก เพื่อช่วยคัดกรองผู้ที่มีอุณหภูมิสูงออกจากคนปกติ แต่อาจจะมีราคาสูงกว่าหน้ากากผ้าทั่วไปประมาณ 10-15 บาท สามารถซักด้วยน้ำสะอาดและสบู่ใช้งานซ้ำได้กว่า 30 ครั้ง ซึ่งนวัตกรรมชิ้นนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับการพัฒนานวัตกรรมหรือสิ่งประดิษฐ์ ที่สามารถแก้ปัญหาและผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และจะสามารถเป็นต้นแบบนวัตกรรมหน้ากากผ้าในเชิงพานิชย์ได้ในอนาคต โดยขณะนี้คณะผู้วิจัยได้ยื่นคำขอจดทะเบียนอนุสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้ว สำหรับผู้สนใจงานวิจัยชิ้นนี้สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร.0-2549-3450.

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]