มทร.ธัญบุรี พัฒนา ‘น้ำปลาหวานกุ้ง’ โซเดียมต่ำ ผลิตภัณฑ์วิสาหกิจชุมชนกลุ่มอาชีพแปรรูปกุ้ง

สยามรัฐ ฉบับวันที่ 20 ม.ค. 2565
“น้ำปลาหวานของกลุ่มมีปริมาณโซเดียมน้อยกว่าน้ำปลาหวานทั่วไปในท้องตลาด” ผู้ช่วยศาสตราจารย์กฤตินชุมแก้วและคณะอาจารย์สาขาวิชาอาหารและโภชนาการ คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) บอกถึงข้อแตกต่างของผลิตภัณฑ์น้ำปลาหวาน วิสาหกิจชุมชน กลุ่มอาชีพแปรรูปกุ้ง ตำบลทรายมูลอำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ภายใต้โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชน (ตามแนวทางคูปองวิทย์เพื่อโอทอป) ปีงบประมาณ 2563

ผศ.กฤติน ชุมแก้ว และ เรณู บูรณะสุคนธ์ ประธานวิสาหกิจชุมชุนฯ เล่าว่า เดิมทางกลุ่มมีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์กุ้งขาวอบแห้งคางกุ้งอบกรอบ สำหรับนำไปประกอบอาหารจึงมีแนวคิดพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ให้กับทางกลุ่ม พื้นที่ในอำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก ซึ่งมีเกษตรกรอาชีพเลี้ยงกุ้งขาว เป็นกุ้งที่ปรับสายพันธุ์มาจากกุ้งทะเลที่สามารถเลี้ยงในน้ำจืดได้ พื้นที่การเลี้ยงกุ้งขาวในอำเภอองครักษ์มีมากกว่า1หมื่นไร่ ผลผลิตมากกว่า 2,000 ตันต่อปี การเลี้ยงกุ้งของเกษตรกรจะมี 2 แบบแบบแรกคือ เลี้ยงด้วยวิธีธรรมชาติ โดยเลี้ยงรวมกันกับปลานิล วิธีนี้จะสามารถจับกุ้งได้ปีละ 4 ครั้ง จับปลาได้ปีละ 1 ครั้ง กุ้งกับปลาจะพึ่งพากันและกัน กุ้งจะกินอาหารปลา กินขี้ปลาปลาจะกินขี้กุ้ง กินกุ้งที่ตาย ทำให้น้ำไม่เน่าเสีย

แบบที่สอง คือการเลี้ยงกุ้งอย่างเดียว วิธีนี้จะสามารถเก็บเกี่ยวกุ้งได้ในปริมาณมาก แต่จะมีความเสี่ยงเรื่องสภาพน้ำ หรือโรคกุ้งได้ ในการเลี้ยงกุ้งแบบวิธีแรกและวิธีที่สองนั้น เมื่อถึงเวลาจับกุ้งเพื่อนำไปจำหน่าย ขนาดของกุ้งที่จับได้จะมีหลายขนาด หนึ่งในนั้นคือกุ้งขาวขนาดเล็กที่มีขนาด 150-200 ตัวต่อกิโลกรัม ซึ่งเกษตรกรจะขายไม่ได้ราคา ดังนั้น จึงเป็นที่มาในการนำกุ้งขาวขนาด 150-200 ตัวต่อกิโลกรัม มาอบแห้งและนำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์น้ำปลาหวาน ซึ่งเป็นแนวคิดร่วมกันระหว่างวิสาหกิจชุมชนและนักวิจัย

“น้ำปลาหวานสูตรนี้จะใช้กุ้งขาวในการผลิต ซึ่งกุ้งขาวจะมีรสชาติจืด ไม่มีรสเค็ม สามารถควบคุมคุณภาพด้านรสชาติ และโซเดียมในผลิตภัณฑ์ได้ง่าย รสชาติที่อร่อย กลมกล่อม รสไม่จัดจนเกินไป สีสวยน่ารับประทาน กลิ่นไม่แรงสามารถรับประทานในออฟฟิศที่มีเครื่องปรับอากาศโดยกลิ่นไม่เหม็นฟุ้ง สะอาด ได้คุณภาพสามารถรับประทานกับผลไม้ได้หลายชนิด เช่น มะม่วงมัน มะม่วงเปรี้ยว มะขาม มะยงชิด กระท้อน ส้มโอ ฝรั่ง แอปเปิล สตรอว์เบอร์รี มันแกว สับปะรด ฯลฯ นำไปดัดแปลงเป็นเมนูน้ำปลาหวานทรงเครื่องได้ เช่น สามารถเพิ่มมะพร้าวคั่ว ถั่วลิสงคั่ว”
น้ำปลาหวานของทางกลุ่มปริมาณ 230 กรัม ราคากระปุกละ 69 บาท บรรจุด้วยขวดแก้วมีฝาปิดสนิท ง่ายและสะดวกต่อการขนส่งมีเครื่องหมาย อย.รองรับมาตรฐานในการผลิตและฉลากโภชนาการ ในช่วงเทศกาลสามารถจัดเป็นกระเช้าของฝากผู้ใหญ่ได้ โดยจะมีผลิตภัณฑ์ของอื่นๆ ด้วย เช่น กุ้งอบแห้ง คางกุ้งอบกรอบ เป็นการสนับสนุนเกษตรเลี้ยงกุ้ง นำวัตถุดิบภายในท้องถิ่นมาแปรรูป ซึ่งเป็นต้นน้ำและรายได้เกิดการไหลเวียนในชุมชน

สนใจอุดหนุนช่วยเหลือเกษตรกรติดต่อได้ที่วิสาหกิจชุมชน กลุ่มอาชีพแปรรูปกุ้ง ตำบลทรายมูล อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก โทร.0-61287-4944

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]