2 รั้วอุดมฯค้นนวัตกรรมสกัดโควิด-19

ไทยรัฐ (กรอบบ่าย) ฉบับวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564
มทร.ธัญบุรีโชว์ประตูวัดอุณหภูมิ
มธ.ผลิตเสาฆ่าเชื้อด้วยแสง UVC
ดร.กุลชาติ จุลเพ็ญ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี(มทร.ธัญบุรี)กล่าวว่า ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการมทร.ธัญบุรีได้คิดค้นประดิษฐ์ประตูวัดอุณหภูมิอัตโนมัติขึ้น โดยเป็นผลงานของ น.ส.สิริวดี กิจจา นายชัยศิริ โพธิ์คำ และนายชาณุวัฒน์ สัตยาคุณนักศึกษาชั้นปีที่ 3 ออกแบบและสร้าง
โดยใช้บอร์ดอาดูโนในการควบคุมการทำงานทั้งหมด ส่วนประตูเปิดปิดให้เป็นแบบวิงเกตเช่นเดียวกับหลักการทำงานของประตูทางเข้าออกรถไฟฟ้า หากผู้ใช้งานตรวจวัดอุณหภูมิและไม่เกิน 37.5 องศาเซลเซียส ประตูจะเปิดให้ผ่านเข้าไป แต่ถ้ามีไข้สูงเกิน 37.5 องศาเซลเซียสประตูจะไม่เปิดพร้อมติดตั้งจอแสดงผลแอลอีดีและลำโพง เพื่อใช้บอกค่าของอุณหภูมิที่สแกนได้และตัวสแกนอินฟราเรดที่ใช้สแกนอุณหภูมิสอบถามรายละเอียดได้ ที่โทร.0-2549-3400
รศ.ดร.ธีรเจียร ศิริพงษ์กุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.)กล่าวว่า มธ.ได้คิดค้นและผลิตนวัตกรรมที่ชื่อว่า “TSE UVC Sterilizer ” หรือ เสาฆ่าเชื้อด้วยแสง UVC ได้สำเร็จ โดย ผศ.ดร.ปรัชญา เปรมปราณีรัชต์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลคณะวิศวกรรมศาสตร์ มธ.เป็นผู้คิดค้นมีลักษณะเป็นเสาสูง 1.2 เมตร พร้อมติดตั้งหลอดไฟ 4 ด้าน ที่มีกำลังสูงพอที่จะทำลายผนังเซลล์ของไวรัสโควิด-19 เหมาะสำหรับนำไปใช้ในพื้นที่กว้างในช่วงเวลาที่ไม่มีคนเช่นตลาดแผงค้าห้างสรรพสินค้าสนามพื้นที่สาธารณะที่ปิดแล้ว โดยการใช้งานเพียงนำไปตั้งตามจุดต่างๆ เปิดคำสั่งอัตโนมัติและถอยออกมาเมื่อเครื่องทำงานเสร็จในแต่ละรอบก็จะดับไปเอง ทั้งยังย้ายไปยังจุดอื่นๆได้ต่อไป ทั้งนี้ ข้อดีของการฆ่าเชื้อด้วยแสง UVC คือเชื้อไวรัสจะตาย 100% ในทุกๆที่ที่แสงส่องถึงไม่ต้องเช็ดเหมือนแอลกอฮอล์ไม่ต้องใช้กำลังคนมาก แต่ในกรณีที่แสงส่องไม่ถึง หรือไม่ทะลุเช่นพื้นผิวที่อยู่ด้านหลังก็จะไม่ถูกฆ่าเชื้อ โดยเครื่องนี้มีต้นทุนการผลิตราว 3,000-4,000 บาทเท่านั้น.

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]