ถุงตากแห้งข้าวลดชื้นเลี่ยงอุบัติเหตุ

ไทยรัฐ (กรอบบ่าย) ฉบับวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2564
กรวัฒน์วีนิล
รับผิดชอบในการพัฒนาคลัสเตอร์เทคโนโลยีทางการเกษตร เชื่อมโยงพัฒนาคลัสเตอร์ทั่วประเทศตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำถือเป็นหนึ่งในนโยบายหลักของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ที่ได้ทำมาตลอดหลายปี
เน้นนำองค์ความรู้ สิ่งประดิษฐ์ งานวิจัย ที่คำนึงถึงการทำงานได้ง่าย ไม่ซับซ้อน (Friendly User)เป็นเทคโนโลยีใหม่ ลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพ สามารถปรับปรุงให้เหมาะสมกับพื้นที่ “สร้างเองได้ซ่อมเองได้ยั่งยืน”…ถุงตากแห้งข้าว เป็นหนึ่งในนั้น
“การตากข้าวเปลือกลดความชื้นให้ได้ 14% เพื่อคุณภาพและการเก็บรักษาก่อนนำไปขาย เป็นเงื่อนไขที่กำหนดกันโดยทั่วไป แต่ในทางปฏิบัติต้องเห็นใจเกษตรกร เพราะไม่มีพื้นที่ตากข้าวเลยนำข้าวไปตากไล่ความชื้นบนถนนสร้างปัญหากีดขวางการจราจรและก่อให้เกิดอุบัติเหตุกันบ่อยครั้ง ที่สำคัญการตากแบบนี้ไม่สามารถสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคได้ เพราะอาจมีขี้นก หนู แมลงฝุ่นผงเจือปนได้และด้วยสภาพอากาศเดี๋ยวแดด เดี๋ยวฝน ของเมืองไทย คาดคะเนอะไรลำบากกลายเป็นภาระให้เกษตรกรต้องเสียเวลากับการวิ่งเก็บวิ่งตากใหม่ เราจึงคิดค้นถุงตากแห้งข้าวขึ้นมา”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มโน สุวรรณคำ ผู้อำนวยการกองกลาง อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเกษตร บอกถึงที่มาของถุงตากแห้งข้าว ช่วยลดความชื้น รักษาคุณภาพข้าวหลังการเก็บเกี่ยว และช่วยลดอุบัติเหตุบนถนน
ถุงตากแห้งข้าวเป็นความร่วมมือระหว่างภาควิชาวิศวกรรมเกษตร ในการออกแบบ คิดค้น วิจัย และคณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ใ นการตัดเย็บออกแบบมาให้ใช้งานง่ายต้นทุนการผลิตไม่สูง ใช้พลาสติกทั่วไป
ออกแบบให้มีพลาสติกใสอยู่ด้านบน เพื่อรับแสงมายังข้าวเปลือกด้านล่างใช้พลาสติกทึบสีดำ เพื่อดูดแสงเข้าไปที่ข้าวทำให้ข้าวแห้งเร็ว ใส่ซิปเปิด-ปิดถุง ติดตั้งพัดลมไล่ความชื้นในถุงติดตั้งโครงสร้างเหล็กเพื่อยึดพลาสติก เมื่อฝนตกทำให้น้ำไหลตามแนวเอียงของด้านบนถุงลงสู่ด้านข้าง น้ำไม่สามารถเข้าไปในถุงสามารถป้องกันฝนได้ถึง 99% ระดับความร้อนในถุงไม่เกิน 60 C รักษาระดับความร้อนในถุงไม่ให้ร้อนหรือชื้นเกินไป เพื่อคงความหอมของกลิ่นข้าวและเมื่อนำไปสี ช่วยลดการแตกหักของข้าว
การใช้งานถุงตากแห้งข้าวต้นแบบที่มีความยาว 10 เมตร แต่สามารถออกแบบความยาวได้ ตามความต้องการของผู้ใช้ได้…ตากข้าวเปลือกได้ประมาณ 500 กก.จึงเหมาะกับชาวนารายย่อยมีแปลงเล็ก ผลผลิตไม่มากเพียงแค่รูดซิปออก ใส่ข้าวเปลือก เกลี่ยให้ข้าวเปลือกเท่ากันสูงประมาณ 10 ซม. จากนั้นรูดซิปปิด เปิด พัดลมไล่ความชื้นออกจากถุงใช้เวลาตาก 3 วัน
ทั้งนี้ มทร.ธัญบุรี ได้เข้าไปนำนวัตกรรมถุงตากข้าวแห้งไปถ่ายทอดให้ความรู้กับคลัสเตอร์เทคโนโลยีข้าวศรีสะเกษ ที่ผลิตข้าวอินทรีย์ และได้มาตรฐาน IFOAM โดยเฉพาะด้านการผลิตกระบวนการตัดเย็บ วิธีการใช้ และวิธีการดูแลพบว่านอกจากช่วยลดอุบัติเหตุ ประหยัดพื้นที่สามารถตั้งในบริเวณบ้านได้
และยังสามารถนำไปปรับใช้ลดความชื้นกับพืชชนิดอื่นได้ เช่น พืชหลังนาอย่างถั่วเหลืองที่สำคัญทางกลุ่มยังสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยต่อยอดสร้างอาชีพถุงตากแห้งข้าว ขายสร้างรายได้ให้กลุ่มต่อไป…สนใจสอบถามได้ที่กองประชาสัมพันธ์ มทร.ธัญบุรี 0-2549-4994.

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]