คอลัมน์ ด้วยสมองและสองมือ: ‘มทร.ธัญบุรี’ เปิดเวที ดวลไอเดียวิชานวัตกรรม ‘มหาวิทยาลัยสีเขียว’

สยามรัฐ ฉบับวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2563
นอกจากจะวางทิศทางสู่การเป็น Innovative University มหาวิทยาลัยแห่งนวัตกรรม มุ่งผลิตบัณฑิตนักปฏิบัติมืออาชีพและสร้างผลงานด้วยนวัตกรรมมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรียังเดินหน้าสู่การเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว
ผศ.ดร.สมหมาย ผิวสอาด อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี(มทร.ธัญบุรี) เผยว่า มหาวิทยาลัยได้มีการบริหารจัดการด้านการเรียนการสอนในกลุ่มบูรณาการ หมวดวิชาศึกษาทั่วไป หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ.2562 ในรายวิชามหาวิทยาลัยสีเขียว หรือ Green University เพื่อให้สามารถตอบสนองการพัฒนาคุณภาพบัณฑิตตามปรัชญาพื้นฐานของการจัดการวิชาศึกษาทั่วไป และสอดคล้องกับเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับปริญญาตรี พ.ศ.2558 ที่สะท้อนถึงเอกลักษณ์ของบัณฑิตมหาวิทยาลัย เพื่อให้การวัดประเมินผลในรายวิชาดังกล่าวได้ผลสัมฤทธิ์ และสร้างความตะหนัก กระตุ้นให้เกิดการอนุรักษ์พลังงานและรักษาสิ่งแวดล้อม อันสนองต่อนโยบายของมหาวิทยาลัย และการจัดการเรียนการสอนวิชาดังกล่าว
ในภาคการศึกษาที่1ปีการศึกษา 2563 จึงได้จัดกิจกรรมและนิทรรศการแสดงผลงานนักศึกษา ในด้านการจัดการขยะและของเสีย ด้านพลังงานทดแทน และด้านน้ำ และกิจกรรม “#50 min RMUTT Save Energy” เพื่อกระตุ้นให้ชาวราชมงคลธัญบุรีมีจิตสำนึกที่ดีในการร่วมสร้างมหาวิทยาลัยสีเขียว และร่วมกันรณรงค์ปิดไฟปิดแอร์ ลดการใช้พลังงาน เป็นเวลา 50 นาที (12.00-12.50 น.) ระหว่างวันที่ 26-29 ต.ค.63
ด้าน ผศ.ดร.สุมนมาลย์ เนียมหลางผู้ช่วยอธิการบดี กล่าวว่า ในรายวิชามหาวิทยาลัยสีเขียว ได้จัดการเรียนการสอนตั้งแต่ปีการศึกษา 2562 และในภาคการศึกษาที่ 1 ปีการศึกษา 2563 นั้น มีจำนวนนักศึกษาลงทะเบียนเรียน 1,287 คน จาก 6 คณะคือ คณะบริหารธุรกิจ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชนคณะศิลปกรรมศาสตร์ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม คณะเทคโนโลยีการเกษตรและมีอาจารย์ผู้สอน 24 ท่าน จากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม คณะเทคโนโลยีการเกษตร รวมถึงวิทยาลัยการแพทย์แผนไทย
กิจกรรมและนิทรรศการแสดงผลงานครั้งนี้ นับว่าเป็นโครงการที่ดีที่มุ่งเน้นการปฏิบัติตนเพื่อเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การใช้พลังงานและทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ปลูกฝังจิตสำนึกรับผิดชอบ การแบ่งปันและช่วยเหลือสังคม อีกทั้งยังสร้างการตระหนักต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญยังเป็นส่วนหนึ่งในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยสีเขียวหรือGreen UI Ranking Metric อีกด้วย
นายจิรศักดิ์ปานพุ่ม และนายอธิวัฒน์ ทองสุข ตัวแทนนักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะบริหารธุรกิจ ที่เรียนในรายวิชาดังกล่าวได้นำเสนอผลงานพลังงานทดแทนจากผักตบชวา “ถ่านจากผักตบชวา” โดยมี ผศ.ดร.เนตรนภิส แก้วช่วย จากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา โดยนำผักตบชวาจากคลองภายในมหาวิทยาลัยมาตัดรากและใบ นำไปตากแห้ง จากนั้นบดให้ละเอียด แล้วผสมกับผงถ่านรวมให้เป็นเนื้อเดียว ใส่น้ำแป้งมันผสมกับน้ำเล็กน้อยคลุกเคล้าให้เข้ากันจนเป็นเนื้อเดียว อัดลงท่อพีวีซีให้แน่นเป็นแท่ง แล้วนำไปตากแห้งถือเป็นการลดปัญหาผักตบชวาในแม่น้ำลำคลอง และเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพอัดแท่งให้เป็นพลังงานทดแทน
“ดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งที่ลดการใช้พลังงาน แม้จะเป็นจุดเริ่มต้นเพียงเล็กน้อย แต่ถ้าทุกคนร่วมมือกัน ไม่เพียงแค่มหาวิทยาลัยสีเขียวจะเกิดขึ้น แต่จะเป็นสังคมสีเขียวที่ลดการใช้พลังงาน หรือใช้พลังงานอย่างคุ้มค่ามากที่สุด”
ขณะที่2 สาวคณะบริหารธุรกิจ ชั้นปีที่2 น.ส.วรัญญา รอดกองใหญ่ และ น.ส.ชุติมณฑน์สุทธารมณ์เลือกนำกากกาแฟเหลือทิ้งมาผลิตเป็นถ่านอัดแท่ง จากผลงานและการลงมือศึกษาเบื้องต้นพบว่ามีความเป็นไปได้ที่จะนำกากกาแฟมาใช้แทนเชื้อเพลิงจากฟืนและถ่านไม้ธรรมชาติ
ส่วนทีมนักศึกษาชั้นปีที่ 2 จากคณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน นำโดยนายภานุพงษ์ คุ้มกาย เล่าว่า ตนและเพื่อนในทีมได้ร่วมกันพัฒนาสร้างเกม Plastic Adventure เก็บขวดพลาสติกที่กระตุ้นจิตสำนึก ซึ่งมีอาจารย์วีรศักดิ์ หมู่เจริญจากคณะวิศวกรรมศาสตร์เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ถือเป็นอีกหนึ่งผลงานนวัตกรรมที่สร้างความสนุกควบคู่กับการสร้างความรับผิดชอบต่อสังคมและโลกในด้านการรักษาความสะอาด รู้จักจัดการกับขยะอย่างชาญฉลาด โดยทิ้งท้ายอย่างน่าสนใจอีกด้วยว่า “โลกของเราจะน่าอยู่ยิ่งขึ้นถ้าทุกคนมีความรับผิดชอบ และหวงแหนสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง”

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]