คอลัมน์ ฉลาดคิด: มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2563 ชมงานวิจัย.. ในแบบ ‘นิวนอร์มัล’

เดลินิวส์ (กรอบบ่าย) ฉบับวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2563
จัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 15 กับงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2563” หรือ “Thailand Research Expo 2020” ที่สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศ จัดขึ้น ภายใต้แนวคิด “วิจัยเพื่อพัฒนาประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน เพื่อเป็นเวทีนำเสนอผลงานวิจัยคนไทยที่น่าสนใจ กว่า 300 ผลงาน
“ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล” เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ทำหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2563” เป็นเวทีระดับชาติในการนำเสนอผลงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่มีคุณภาพ เน้นการเชื่อมโยงบูรณาการองค์ความรู้สู่การใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ ซึ่งแบ่งเป็น 5 กลุ่มงานวิจัย คืองานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อพัฒนากำลังคนและสถาบันความรู้ เพื่อตอบโจทย์ท้าทายของสังคม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน เพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ และเพื่อขับเคลื่อน BCG Economy Model
และในปีนี้ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีจะเสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานเปิดงานในวันที่ 4 สิงหาคม เวลา 10.00 น.
ภายในงานฯ ประกอบด้วยภาคนิทรรศ การซึ่งนำเสนอผลงานวิจัยกว่า 300 ผลงาน และภาคการประชุมและสัมมนาซึ่งมีมากกว่า 100 เรื่อง รวมถึงมีเปิดตัว “อั้ม อธิชาติ ชุมนานนท์” ในฐานะ “ทูตวิจัย” คนแรกของประเทศไทย ประจำปี 2563
สำหรับผลงานวิจัยที่น่าสนใจ เช่น นวัตกรรมเครื่องตรวจหาเชื้อโควิด-19 โดย ศ.ดร.โกสุม จันทร์ศิริ ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศทางการวิจัยด้านไบโอเซนเตอร์และภาควิชาชีวเคมี คณะแพทยศาสตร์ มหา วิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ซึ่งประสบความสำเร็จในการคิดประดิษฐ์ ชุดทดสอบคัดกรองผู้ป่วยโรคโควิด-19 แบบง่าย ๆ คล้ายชุดตรวจการตั้งครรภ์ ที่ไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องมือที่มีราคาแพง แต่สามารถทราบผลได้ภายใน 1-2 ชั่วโมง แถมค่าใช้จ่ายเบื้องต้นอยู่ในราคาหลักร้อยเท่านั้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพัฒนาเฟสที่ 2 ซึ่งหากมีเปอร์เซ็นต์ความเชื่อมั่นที่ดีขึ้น จะเข้าสู่เฟสที่ 3 ซึ่งจะมีการส่งต่อเทคโนโลยีนี้ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบหรือหน่วยงานที่ให้การรับรองต่อไป
นอกจากนี้ยังมีการพัฒนา “ผ้าใยกล้วยบัวหลวง” ผ้าประจำจังหวัดปทุมธานี โดย ผศ.ดร.สาคร ชลสาคร และคณะนักวิจัยจาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับต้นกล้วยที่เหลือจากการเก็บผลผลิตทางการเกษตร โดยเส้นใยจากกล้วย เมื่อผ่านกระบวนการวิจัยคิดค้นด้วยนวัตกรรมแล้ว ทำให้เกิดเส้นใยที่มีความเหนียวและนุ่ม ปั่นเป็นเส้นด้ายและนำมาทอเป็นผืนผ้าได้ ปัจจุบันโครงงานนี้สามารถทอขึ้นเป็นผืนผ้า และนำมาตัดเย็บเครื่องนุ่งห่มได้อย่างสวยงาม
ด้าน รศ.ดร.ทศวรรษ สีตะวัน และคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร คิดค้น เครื่องสูบน้ำพลังเซลล์แสงอาทิตย์ เพื่อกู้วิกฤติชุมชน แก้ปัญหาเรื่อง “น้ำ” ให้เกษตรกรที่อยู่ห่างไกลระบบสายส่งไฟฟ้าและเขตชลประทาน จุดเด่นของนวัตกรรมนี้คือ สามารถเคลื่อนที่ได้ แผงเซลล์แสงอาทิตย์ ปรับมุมรับแสงอาทิตย์และพับเก็บได้ ปริมาณการสูบน้ำได้สูงสุด 2,500 ลิตร ต่อชั่วโมง สูบน้ำใต้ดินได้ลึก 10 เมตร ส่งน้ำในแนวราบได้ 300 เมตร มีหน้าจอแสดงผลการใช้พลังงานไฟฟ้า เกษตรกรในชุมชนสามารถดูแล บำรุงรักษาได้เอง
สำหรับผู้สนใจเข้าชมงาน เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แม้ปัจจุบันสถานการณ์ในประเทศไทยจะดีขึ้น แต่เพื่อความปลอดภัยและปฏิบัติตามมาตรการของทางกระทรวงสาธารณสุข การจัดงานในปีนี้ จึงปรับรูปแบบการนำเสนอให้สอด คล้องกับรูปแบบการใช้ชีวิตแบบ “นิวนอร์มัล” โดยสามารถ เข้าร่วมงานได้ใน 2 รูปแบบ คือ Online หรือ การเข้าร่วมประชุมสัมมนาและชมนิทรรศการในรูปแบบออนไลน์ผ่านช่องทางต่าง ๆ ที่ผู้จัดงานจัดทำขึ้น
และ Onsite หรือการเข้าร่วมสัมมนาและชมนิทรรศการ ณ สถานที่จัดงาน ซึ่งการชมแบบ Onsite นี้ต้องลงทะเบียนล่วงหน้าผ่านทางเว็บไซต์ www.research expo.nrct.go.th และ www.nrct.go.th ภายในวันที่ 31 กรกฎาคมนี้ โดยงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2563” จะเริ่มตั้งแต่ 2-6 สิงหาคม 2563 ที่โรงแรมเซ็น ทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์
ย้ำ..งดลงทะเบียนหน้างาน และ Walk in ในทุกกรณี.

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]