มทร.ธัญบุรี ผลิตหน้ากากย่อยสลายรักษ์สิ่งแวดล้อม

ไทยรัฐ (กรอบบ่าย) ฉบับวันที่ 06 เมษายน พ.ศ. 2563
ผศ.ดร.สมหมาย ผิวสอาด อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี เปิดเผยว่า จากวิกฤตการณ์มลพิษทางอากาศจากปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 รวมทั้งโรคเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ผู้คนตระหนักถึงความจำเป็นในการสวมใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกัน ซึ่งหน้ากากอนามัยชนิดใช้แล้วทิ้งชนิดมาตรฐานนี้ ประกอบด้วย โครงสร้างผ้าแบบนอนวูฟเวน จำนวน 3 ชั้น ได้แก่ สปันบอนด์/เมลท์โบรน/สปันบอนด์ โดยชั้นที่มีความสำคัญในการกรองคือชั้น เมลท์โบรนชั้นกรองอนุภาคขนาดเล็กส่วนใหญ่ประเทศไทยมักนำเข้าจากต่างประเทศ นอกจากนี้ หน้ากากอนามัยแบบใช้แล้วทิ้งนี้ ยังมีวัสดุพอลิเมอร์ตั้งต้นที่ใช้ในการผลิตด้วย เป็นหนึ่งในพลาสติกประเภทเทอร์โมพลาสติก เมื่อหน้ากากอนามัยถูกใช้งานแล้วทิ้งในระบบฝังกลบจะต้องใช้เวลาในการย่อยสลายนานถึง 400 ปี และในช่วงวิกฤตินี้ปริมาณขยะที่เกิดขึ้นจากขยะหน้ากากอนามัยเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ
อธิการบดี มทร.ธัญบุรี กล่าวอีกว่า เพื่อช่วยลดปริมาณขยะดังกล่าวอาจารย์นักวิจัยและนักศึกษาระดับปริญญาเอก คณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี ซึ่งเป็นนักวิจัยในโครงการพัฒนานักวิจัยและงานวิจัยเพื่ออุตสาหกรรม (พวอ.) จึงคิดค้นแผ่นกรองชนิดเปลี่ยนได้ และสามารถย่อยสลายได้ ใช้คู่กับหน้ากากอนามัยชนิดที่สามารถเปลี่ยนชั้นกรองและซักได้หลายครั้ง เพื่อเป็นหน้ากากอนามัยทางเลือกทดแทนหน้ากากอนามัยชนิดใช้แล้วทิ้ง โดยงานวิจัยนี้มุ่งเน้นศึกษาและพัฒนาแผ่นกรอง ชั้นเมลท์โบรนที่มีขนาดละเอียดจากพอลิแลคติกแอซิด หนึ่งในพอลิเมอร์ทางชีวภาพสังเคราะห์ ได้จากกรดแลคติกแอซิดที่มาจากแหล่งทรัพยากรที่สามารถปลูกทดแทนได้ เช่น อ้อย มันสำปะหลัง เมื่อใช้แล้วทิ้งในระบบฝังกลบที่มีสภาวะเหมาะสม จึงสามารถย่อยสลายได้ในระยะเวลา 4-6 เดือน ทั้งนี้ ถือว่างานวิจัยชิ้นนี้ นอกจากจะเป็นทางเลือกหนึ่งของการผลิตหน้ากากอนามัยที่มีคุณภาพมาตรฐานที่ส่งออกสู่ตลาดในช่วงที่มีความต้องการเป็นจำนวนมากแล้วยังถือว่าได้มีส่วนช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆกันด้วย.

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]