คอลัมน์ ด้วยสมองและสองมือ: ไข่เค็มใบเตยดินสอพอง วัตถุดิบท้องถิ่น สู่สินค้าเลื่องชื่อ

สยามรัฐ ฉบับวันที่ 07 พฤษภาคม พ.ศ. 2562
จากความพิถีพิถันในการคัดเลือกวัตถุดิบท้องถิ่น ผสมกับประสบการณ์รุ่นสู่รุ่นของสมาชิกในชุมชน เกิดเป็นผลิตภัณฑ์โอทอปจังหวัดขึ้นชื่อ การันตีด้วยรางวัลชนะเลิศศูนย์ศิลปาชีพบางไทร
ด้วย “ไข่เค็มใบเตยดินสอพอง” ที่สร้างจุดขาย ทั้งความหอม นุ่ม ไม่คาว และก้าวสู่ตลาดออนไลน์
กรรณาภรณ์ คำดี แกนนำสมาชิกวิสาหกิจชุมชนหมู่ 2 บ้านโคกพุทรา จ.ลพบุรี เผยว่าการรวมตัวของสมาชิกชุมชนกว่า 32 คน ทำไข่เค็มใบเตยดินสอพองออกจำหน่าย ที่มีกำลังการผลิตมากกว่า 500 ใบต่อวัน ซึ่งผู้ซื้อและนักท่องเที่ยวเอ่ยปากต่อปากในรสชาติที่กลมกล่อม หอมใบเตย ไม่คาว ซึ่งต่างจากไข่เค็มทั่วไปที่พอกด้วยแกลบดำ
จุดเริ่มต้นการรวมกลุ่มคือ การสร้างงาน สร้างรายได้และสร้างความเข้มแข็ง จึงนำเอาวัตถุดิบท้องถิ่นภายใน จ.ลพบุรี มาทำไข่เค็ม โดยไข่เป็ดได้มาจากเป็ดไล่ทุ่งที่เลี้ยงด้วยวิธีธรรมชาติในระบบเปิดตามทุ่งนา ที่ย้ำถึงความสดใหม่ ส่วนใบเตยก็ปลูกเองตามพื้นที่ที่เหลือจากการใช้สอย
แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้รสชาติดี คือ ดินขาวหรือดินสอพอง จะช่วยทำให้ไข่ขาวนุ่มนวลไม่แข็งกระด้าง
“หัวใจหลักของไข่เค็มใบเตยดินสอพองคือ เราใช้วัตถุท้องถิ่นทั้งหมด คัดเลือกอย่างดี โดยไม่รับจากแหล่งอื่น คุณภาพความอร่อยจึงคงที่และได้มาตรฐาน”
กรรมวิธีไม่ยุ่งยาก กรรณาภรณ์ เล่าโดยสรุปว่า เริ่มต้นจากเลือกไข่เป็ดจากเล้าธรรมชาติไม่เกิน 2 วัน มาล้างทำความสะอาดอย่างหมดจด นำไปดองในน้ำส้มสายชูประมาณ10-15 นาทีแล้วพักไว้จากนั้นหั่นใบเตย
เป็นฝอยแล้วปั่นกับน้ำจนได้น้ำใบเตยเข้มข้น
ขั้นตอนสำคัญคือนำใบเตยที่ได้ ผสมกับเกลือและดินสอพองที่ผ่านการฆ่าเชื้อ แล้วใส่ไข่เป็ดลงไป พอกให้ทั่วทั้งใบ เก็บให้มิดชิดตามระยะเวลาที่สมควร จนดินสอพองแห้งเกิดกลิ่นหอม เพียงเท่านี้จะได้ไข่เค็มใบเตยที่พร้อมจัดจำหน่าย
ทั้งนี้ สมาชิกวิสาหกิจชุมชนจะเรียนรู้และถ่ายทอดความรู้ร่วมกันจากรุ่นสู่รุ่น ทำให้องค์ความรู้ยังคงอยู่ แต่ในบางขั้นตอนอาจมีการพัฒนาเพื่อยกระดับคุณภาพให้เพิ่มมากขึ้นโดยจับตลาดนักท่องเที่ยวที่ตั้งใจซื้อกลับบ้านเป็นของขวัญของฝากและกลุ่มคนที่ใส่ใจสุขภาพ โดยเฉพาะกลุ่มคนทำงานจนถึงผู้สูงวัยรวมถึงบรรดากลุ่มพ่อค้าแม่ค้าที่เลือกสรรเสริมจุดขายในขนมหวานประเภทบัวลอยไข่หวานใส่ไข่เค็ม
นอกจากนี้ ยังสามารถทำเป็นยำไข่เค็มส้มตำไข่เค็ม ไข่เค็มตุ๋น ผัดสมุนไพรไข่เค็ม และรังสรรค์ได้อีกหลายรายการทั้งหวานและคาว
ปัญหาสำคัญในยุคปัจจุบันของกลุ่มฯคือ ช่องทางการจัดจำหน่าย โดยเฉพาะช่องทางบนตลาดออนไลน์ จึงเข้าร่วมโครงการส่งเสริมพัฒนาตลาดอิเล็กทรอนิกส์สำหรับเอสเอ็มอี ปีงบประมาณ 2562 หรือเอสเอ็มอี ออนไลน์ ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว.ที่จัดอบรมแก่ผู้ประกอบการทั้งรายเก่าและรายใหม่ให้มีความรู้ด้านออนไลน์ในยุค 4.0
“สิ่งที่คาดหวังต่อจากนี้ คือพัฒนาไข่เค็มให้เป็นสินค้าพรีเมียม และวางแผนเพื่อทำการตลาดบนออนไลน์ต่อไป ขอบคุณ สสว.และ มทร.ธัญบุรี ที่ตั้งใจมาบริการความรู้ตอบข้อสงสัยและขยายวิสัยทัศน์ในการทำธุรกิจถึงในพื้นที่”
ทั้งนี้ กรรณาภรณ์ มองว่าการตลาดออนไลน์มีอิทธิพลและมีความสำคัญอย่างมาก ที่จะเชื่อมระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภคเข้าด้วยกันเพราะตลาดออนไลน์เข้าถึงง่าย ไม่มีข้อจำกัดในโครงการเอสเอ็มอี ออนไลน์ดังกล่าวยังช่วยการถ่ายภาพสินค้า ช่วยเขียนคอนเทนต์ และให้ความรู้เรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์เพื่อขายบนออนไลน์อีกด้วย
“ผู้ประกอบการธุรกิจจะต้องเติมเต็มความรู้ พัฒนาตนเองควบคู่กับการพัฒนาธุรกิจ ถึงจะประสบความสำเร็จ และเติบโตต่อไปได้อย่างมั่นคง”
ด้วยสีเขียวและความหอมจากใบเตยรวมถึงความแตกต่าง ทำให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความสนใจสนนราคาขายปลีกอยู่ที่ ใบละ 10 บาท จัดเป็นแพ็กและใส่ชะลอมเหมาะกับการเป็นของฝากขึ้นชื่อ ซึ่งไข่เค็มใบเตยดินสอพองยังได้รับเครื่องหมายมาตรฐานสินค้าจ.ลพบุรี และได้รับการเทียบเชิญออกร้านในงานสำคัญระดับจังหวัดและระดับประเทศอย่างต่อเนื่อง
“ทรัพยากรหรือวัตถุดิบในแต่ละจังหวัดของประเทศไทยถือว่าอุดมสมบูรณ์ ขึ้นอยู่กับความคิดและความตั้งใจที่จะพัฒนา ต่อยอดหรือเลือกนำเสนอจุดขาย อยากเห็นสินค้า ผลิตภัณฑ์ในประเทศไทยได้รับการสนับสนุน เพื่อให้เกิดรายได้หมุนเวียน กระตุ้นเศรษฐกิจ และคนในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป” กรรณาภรณ์ ทิ้งท้าย
ผู้สนใจผลิตภัณฑ์สอบถามเพิ่มเติม โทร.065-681-9586 หรือผู้ประกอบการที่สนใจร่วมกิจกรรมในโครงการดูรายละเอียดได้ที่Facebook : SMEONLINE BY OSMEP หรือ www.smeonline.rmutt.ac.th โทร.0-2549-4004

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]