คอลัมน์ วิถีชีวิต: ‘อารามบอยยุค 4.0’ มีมุมคิดน่าสนใจ ‘จตุพล เนติธรรมรัตน์’ เลือกทางชีวิต…จากชีวิตที่เลือกไม่ได้!!

         “ผมไม่เคยเห็นหน้าพ่อแม่ แต่ไม่เคยโกรธ ไม่เคยน้อยใจที่พ่อแม่ทิ้งไปนะครับ และไม่อายที่เป็นเด็กวัดด้วยครับ”เสียงจาก “จตุพล เนติธรรมรัตน์” หรือ “นนท์” นักศึกษาชั้นปี 3 คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี บอกถึงความรู้สึกในฐานะ “เด็กกำพร้าที่โตมากับวัด” ให้เราฟังในวันที่ได้สนทนากัน ซึ่งแนวคิดชีวิตของหนุ่ม 22 ปีรายนี้ก็น่าสนใจ น่าใช้เป็น “ต้นแบบ” ได้ ที่วันนี้ “ทีมวิถีชีวิต” มีเรื่องราวมานำเสนอ…
นนท์ เจ้าของเรื่องราวนี้ได้เล่าให้ “ทีมวิถีชีวิต” ฟังว่า แม้ตัวเขาจะไม่เคยได้พบเจอหน้าพ่อแม่ผู้ให้กำเนิดมา แต่ถ้าหากเขามีโอกาส ก็อยากที่จะตอบแทนพระคุณของทั้งสอง ในฐานะผู้ให้กำเนิด และอยากกราบเท้าเพื่อขอบคุณที่ให้เขาได้เกิดมาในชาตินี้ ทั้งนี้ เขาเล่าเรื่องราวชีวิตให้เราฟังว่า ปัจจุบันศึกษาอยู่ที่คณะศึกษาศาสตร์ มทร. ธัญบุรี ซึ่งนับตั้งแต่เขาเริ่มจำความได้ ก็พบว่า บ้านของเขาคือวัด โดยมี หลวงพ่อไพฑูรย์ เขมวีโร เจ้าอาวาสวัดสระแก้ว อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง อดีตเจ้าอาวาสเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูเขามา ซึ่งความรู้สึกที่มีต่อพระอาจารย์นั้น นนท์บอกเราด้วยเสียงที่สั่นเครือว่า “หลวงพ่อเป็นเสมือนพ่อของผม เพราะนอกจากท่านจะเลี้ยงดูผมเหมือนเป็นลูกของท่านเองแล้ว ก็ยังให้ผมได้ใช้นามสกุลของท่านด้วยครับ”

          สำหรับชีวิตในวัด นั้น นนท์ได้เล่าว่า เขามีความสุขมาก และไม่เคยเกิดความรู้สึกอ้างว้างแต่อย่างใด เพราะนอกจากจะได้รับความรักความอบอุ่นจากหลวงพ่อไพฑูรย์ที่คอยดูแลอบรมเขาแล้ว ยังมีเพื่อน ๆ เด็กวัดรุ่นเดียวกัน และต่างรุ่นช่วยทำให้เขาไม่รู้สึกเหงา หรือเกิดความรู้สึกแม้สักนิดเลยว่า เขาอยู่ตัวคนเดียวเพียงลำพัง
“จะเรียกว่าทุกคนที่วัดเหมือนเป็นครอบ ครัวเดียวของผมก็ได้ครับ” เขาบอกความรู้สึกนี้กับเรา ก่อนจะเล่าว่า เมื่ออายุเข้าเกณฑ์เรียนหนังสือ เขาก็ได้ไปเข้าเรียนที่โรงเรียนวัดสระแก้ว จนเรียนจบชั้น ป.6 ซึ่งตอนที่เรียนชั้นประถมนั้น ก็เป็นเรื่องธรรมดาไปแล้วว่า… เด็กวัดมักจะถูกเพื่อน ๆ ในโรงเรียนนำเรื่องนี้มาล้อเลียน ซึ่งไม่ได้ทำให้เขาเกิดความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจแต่อย่างใดเลย หนำซ้ำยังทำให้เขามีจิตใจที่เข้มแข็งมากขึ้นมากกว่าด้วย โดยนนท์ได้เล่าถึงเรื่องราวที่ทำให้เขารู้สึกเสียใจที่สุดในชีวิต
“พอโตขึ้นมาสักนิด ก็ได้รู้จากหลวงพ่อว่า พ่อแม่นำมาทิ้งไว้ที่วัด ตั้งแต่ผมยังแบเบาะ หลวงพ่อท่านจึงรับเลี้ยงผมไว้ เพราะที่วัดก็ได้รับเลี้ยงดูเด็กด้อยโอกาสอยู่แล้ว ทำให้นับตั้งแต่จำความได้ ผมก็อยู่วัด เป็นเด็กวัด กินข้าวก้นบาตร เดินตามหลวงพ่อไปบิณฑบาตทุกวันแบบนี้ แต่ผมเคยคิดที่จะถามหลวงพ่อหลายครั้งว่า พ่อแม่ของผมเป็นใคร อยู่ที่ไหน เพราะหลวงพ่อเป็นคนเดียวที่เคยเห็นหน้าพ่อแม่ผม แต่ไม่ทันได้ถามเรื่องนี้ หลวงพ่อก็ได้มรณภาพไปเสียก่อน ตอนนั้นผมเรียนอยู่ ป.5 ซึ่งเป็นการสูญเสียที่ทำให้ผมเสียใจอย่างที่สุด จนร้องไห้ติดต่อกันนานหลายวัน เพราะหลวงพ่อไพฑูรย์เป็นทุกอย่างของผม ถ้าไม่มีท่านก็คงไม่มีผมในวันนี้” นนท์เล่า พร้อมน้ำตาที่เอ่อ
หลังการมรณภาพของหลวงพ่อไพฑูรย์ เจ้าอาวาสรูปปัจจุบันคือ ดร.พระมหาไพเราะ ฐีตสีโล ได้เป็นผู้รับช่วงดูแลนนท์ รวมถึงเด็กด้อยโอกาสที่ทางวัดรับดูแลอยู่ต่อ ซึ่งหลังจากเขาเรียนจบชั้น ป.6 จึงไปสอบเรียนต่อเพื่อเข้าเรียน ที่โรงเรียนบางเสด็จวิทยาคม โดยเขาบอกว่าต้องขอบพระคุณ อาจารย์รัชริน พุ่มพวง ที่ได้พาเขาไปสมัครเรียนที่นี่ เนื่องจากตอนที่ต้องสมัครเรียนนั้นจะต้องมีผู้ปกครองเป็นคนพาไปสมัคร แต่เขาไม่มีพ่อแม่ อาจารย์รัชวิน จึงอาสาพาเขาไปสมัครเรียน ทำให้มีโอกาสได้เรียนต่อเหมือนเด็กคนอื่น ๆ ทำให้เขาตั้งใจจะเรียนให้ดีที่สุด เพื่อตอบแทนพระ คุณอาจารย์
“ตอนนั้นผมก็ทำงานพิเศษหลังเลิกเรียนไปด้วยครับ โดยไปทำงานเป็นเด็กเสิร์ฟโต๊ะจีน และรับจ้างทั่วไปตามที่จะมีคนว่าจ้างครับ เพราะเราอยากเก็บเงินไว้ใช้จ่ายในเรื่องการเรียนของตัวเอง” นนท์เล่าถึงเส้นทางชีวิตที่ต้องสู้ให้ฟัง
นนท์บอกว่า ตอนที่เขาใกล้จะเรียนจบชั้น ม.6 ตอนนั้นเกิดลังเลใจว่า จะตัดสินใจเรียนต่อ หรือจะเลิกเรียนแล้วหันมาทำงานเต็มตัวดี แต่เมื่อมองไปพบว่าเพื่อนทุกคนล้วนเลือกเรียนต่อ ทำให้เขากลับมาคิดได้ว่า การศึกษาทำให้คนมีความรู้ และเมื่อมีความรู้ก็มีโอกาสเลือกทางเดินชีวิตได้มากขึ้น เขาจึงอยากเรียนต่อ และอยากที่จะเรียนให้สูงยิ่งขึ้นไปเรื่อย ๆ เท่าที่ตัวเองจะสามารถไปถึง เพราะคิดว่า การที่มีความรู้จะช่วยให้เขาเลือกโอกาสในชีวิตได้เพิ่มขึ้น
“ตอนที่ตัดสินใจไปสมัครสอบเข้าเรียน มทร.ธัญบุรี ผมยังไม่กล้าคิดเลยว่า ผมจะสอบติดด้วยซ้ำ แต่เมื่อถึงวันประกาศผลสอบ พอผมรู้ว่าสอบติดได้เรียนมหาวิทยาลัยสมใจ ยอมรับว่าดีใจมาก แต่ดีใจได้ไม่นาน ก็รู้สึกเครียดขึ้นมาทันที เมื่อมองไปที่ทางเดินข้างหน้าต่อไปจากนี้ของผม”นนท์เล่าเรื่องนี้ พร้อมรอยยิ้มเศร้า ๆ
ทั้งนี้ หลังจากที่เขารู้ตัวว่า สอบติดแม้ตอนแรกจะรู้สึกดีใจ ที่สามารถทำฝันให้เป็นจริงได้ แต่ก็ต้องมาเครียดหนัก เพราะมองไม่ออกว่า เขาจะนำเงินจากไหนเพื่อมาเป็นค่าใช้จ่ายในการเรียนตลอด 4 ปี ซึ่งสุดท้ายก็โชคดี เพราะทาง มูลนิธิพุทธรักษาของโรงเรียนบางเสด็จพิทยาคม ที่เขาเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษานั้นมีทุนการศึกษาสนับสนุน โดยเขาก็ได้ทุนนี้ ก็จึงได้เข้าเรียนมหาวิทยาลัยในท้ายที่สุด ซึ่งนนท์ได้เลือกเข้าเรียนในสาขาวิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา เพราะเขาอยากจะเป็นคนผลิตสื่อการเรียนการสอน ที่จะนำไปใช้ให้เด็ก ๆ ให้เกิดความรู้ควบคู่ไปกับการเรียนอย่างมีความสุข
ชีวิตมหาวิทยาลัย กับเด็กวัดนั้น นนท์บอกว่า เมื่อต้องมาเรียนมหาวิทยาลัย ทำให้เขาต้องออกจากวัดสระแก้ว มาอาศัยอยู่ใกล้ ๆ กับมหาวิทยาลัย โดยเขากับเพื่อน 4 คนช่วยกันหารค่าใช้จ่ายเพื่อนำไปเช่าบ้านหลังหนึ่งเพื่ออยู่รวมกันซึ่งค่าเช่าบ้านตกอยู่ที่เดือนละ 5,500 บาทครับ ทุกคนก็ต้องช่วยกันหารค่าใช้จ่ายส่วนนี้ตกคนละ1,375 บาทต่อเดือน ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายการกินการอยู่ และอื่น ๆ ของแต่ละคน นนท์บอกว่า หลังต้องออกมาใช้ชีวิตด้วยตัวเอง หลังที่ต้องออกจากวัด ทำให้เขาต้องปรับตัวหลากหลายด้าน เพราะเป็นสังคมใหม่ที่ไม่คุ้นเคย ตั้งแต่เรื่องของการเข้าสังคมกับกลุ่มเพื่อน แต่ก็ทำได้ไม่บ่อยนัก เพราะเขาต้องทำงานช่วงหลังเลิกเรียนทุกวัน เพื่อที่จะหาเงินมาเป็นค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนของตนเอง
“ผมทำงานพิเศษที่ร้านกาแฟ แถวมหาวิทยาลัยช่วงหลังเลิกเรียนครับ โดยจะเริ่มงานตั้งแต่ 5 โมงเย็นไปจนถึง 5 ทุ่ม เฉลี่ยทำงานวันละ 6 ชั่วโมง ก็จะได้เงินค่าแรงชั่วโมงละ 40 บาท ต่อวันแล้วก็จะมีรายได้ราว 240 บาท ซึ่งเมื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายรายวันวันละ 100 บาท แล้ว ก็จะมีเงินเก็บต่อวันอยู่ที่ 140 บาท ซึ่งเงินก้อนนี้ผมจะนำมาเก็บไว้เพื่อเป็นเงินสำรอง เพื่อจะเอาไว้ใช้จ่ายในยามฉุกเฉินครับ นอกจากนั้นก็นำเงินเก็บก้อนนี้นำมาผสมกับเงินที่เป็นทุนจากทางมูลนิธิพุทธรักษา ที่ให้ทุนค่าครองชีพตกปีละ 9,000 บาท กับอีก 3,000 บาทเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายรายเดือนไปจนกว่าจะเรียนจบระดับปริญญาตรีครับ ซึ่งถ้าไม่ได้เงินทุนของมูลนิธิฯ ก็คงจะแย่อยู่เหมือนกันครับ” นนท์บอก
พร้อมย้ำว่า “เพราะเราไม่ได้มีเหมือนคนอื่น ทำให้เราจะต้องรู้จักจัดสรรเวลาเรียน เวลาทำงาน รวมถึงค่าใช้จ่ายของตัวเองให้ดี ๆ ครับ”
ในฐานะเด็กกำพร้า นนท์เผยว่า เขาต้องบอกกับตัวเองทุกวันว่า ท้อ ไม่ได้แม้แต่วินาทีเดียว ด้วยความที่ตัวคนเดียว ทำให้ต้องสู้มากกว่าคนอื่น ๆ ที่มีครอบครัว มีญาติพี่น้องคอยช่วยเหลือ ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งที่คอยเตือนสติเขาตลอดว่า จะต้องมุ่งมั่นให้มากกว่าคนอื่น อย่างไรก็ตาม ในอีกมุมหนึ่ง “ชีวิตที่ขาด” ก็ช่วยทำให้เขามีภูมิคุ้มกันชีวิตเข้มแข็งมากขึ้น”ถามว่าอายไหม ที่ต้องทำงานไปด้วย เรียนไปด้วย หรือเวลาทำงานเสิร์ฟ ที่ต้องเจอกับเพื่อน ๆ ที่มาใช้บริการ ผมก็ไม่รู้สึกอะไร เพราะไม่รู้จะอายไปทำไม ก็ชีวิตของเราเป็นอย่างนี้มาตั้งแต่เกิดแล้ว” นนท์เล่าเรื่องนี้ ด้วยรอยยิ้ม ก่อนบอกว่า เขารู้สึกโชคดีที่หลวงพ่อไพฑูรย์ สอนสั่งเขามาว่า ให้คิดบวก แล้วชีวิตจะมีกำไร ซึ่งบางคนอาจมองเขาว่า ขาดโอกาส แต่เขากลับมองว่า โอกาสที่เข้ามาในชีวิตตอนนี้ของเขา อาจจะดีมากกว่าอีกหลาย ๆ คนที่ไม่ได้มีโอกาสเช่นนี้ก็ได้ อย่างไรก็ตาม เขาได้ย้ำว่า เป้าหมายชีวิตของเขาตอนนี้มีเพียงสิ่งเดียวคือ ต้องเรียนให้จบให้ได้ “หลวงพ่อเคยบอกว่า… คนเราเกิดมา ต้องเอาดีให้ได้ ไม่เช่นนั้นก็เสียแรงเกิด คำสอนนี้เตือนสติอยู่เสมอครับ”เขาบอกเรา
อนึ่ง ในช่วงที่เป็นเด็กวัดใหม่ ๆ นั้น ด้วยความที่ยังเด็ก นนท์ยอมรับว่า เคยคิดหนีออกจากวัดเหมือนกัน ไม่ใช่เพราะรู้สึกลำบาก แต่อยากไปตามหาพ่อแม่ของเขา เพราะเขาจินตนาการหน้าตาพ่อแม่ไม่ออก ที่สำคัญ อยากไปถามว่า… ทำไมถึงต้องทิ้งเขา??? แต่พอเติบโตขึ้น ความคิดนี้ก็เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเขาก็พยายามคิดว่า พ่อแม่คงมีเหตุผลจำเป็น จึงต้องนำเขามาทิ้งไว้กับวัด
“จริง ๆ เรื่องที่ผมไม่มีพ่อแม่ ก็เป็นปมด้อยตอนเด็กเหมือนกันครับ ทำให้ไม่อยากสุงสิงกับใคร เพราะกลัวเขาจะนำปมด้อยนี้มาล้อเรา และตอนที่เข้าเรียนมหาวิทยาลัย เรื่องนี้ก็แว่บกลับมาเป็นความกลัวในใจอีกครั้ง เพราะกลัวเพื่อน ๆ ที่เรียนด้วยจะรังเกียจ เพราะผมเป็นทั้งเด็กวัด เป็นทั้งเด็กกำพร้า ทำให้ตอนเข้ามาเรียนใหม่ ๆ ผมไม่กล้าคุยกับใครเลย แต่เอาเข้าจริง ๆ เพื่อน ๆ ทุกคนน่ารักมาก ยิ่งรู้ว่าผมต้องสู้ชีวิต เพราะเป็นเด็กกำพร้า ทุกคนก็พยายามช่วยเหลือทุกอย่าง ทำให้ผมตัดสินใจว่า…ผมจะไม่วิ่งหนีความจริงแล้ว เพราะวิ่งหนีไป ก็หนีไม่พ้นอยู่ดี” นนท์กล่าว
พร้อมระบุด้วยเสียงที่จริงจังอีกว่า หลังจากนั้นเขาก็ตัดสินใจนำเรื่องราว “ชีวิตเด็กวัดกำพร้า” ของเขาเพื่อเปิดเผยกับสังคมภายนอก โดยเฉพาะเพื่อให้ มทร.ธัญบุรี นำไปถ่ายทอดให้คนอื่น ๆ ได้รับรู้ เพราะอยากจะเป็นกำลังใจให้กับเพื่อน ๆ อีกหลายคน ที่อาจจะมีชีวิตเหมือนเช่นเดียวกันกับเขา รวมถึงเพื่อให้แรงบันดาลใจกับคนที่กำลังท้อแท้สิ้นหวังอยู่ ได้นำเรื่องราวของเขาไปเป็น “เชื้อไฟให้ชีวิต” เพื่อจะกลับมา สู้ชีวิต-สู้ปัญหาต่อไปให้ได้ โดยได้ย้ำว่า “การที่ผม เปิดเผยเรื่องราวนี้ เพราะอยากเป็นกำลังใจให้อีกหลาย ๆ คนลุกขึ้นมาสู้ชีวิตครับ ตอนนี้ผมวางเป้าหมายในอนาคตไว้แล้วว่า ฝันแรกที่ผมอยากทำหลังเรียนจบคือ ผมอยากเป็นคุณครู เพราะอยากจะสอนเด็ก ๆ และอยากจะช่วยเหลือเด็ก ๆ ที่มีชีวิตเหมือนเช่นเดียวกันกับผมให้ได้รับโอกาส เหมือนกับที่ผมเคยได้รับจากหลายคน”
ก่อนจากกัน “ทีมวิถีชีวิต” ถามเขาว่า อะไรทำให้เขาไม่ท้อกับ “ชีวิตที่ขาด” แต่กลับเลือกที่จะ “สู้เพื่อเติมเต็มชีวิต” เช่นนี้ เขายิ้ม พร้อมตอบคำถามนี้ ว่า “คนเราเลือกเกิดไม่ได้ ดังนั้น เราจึงต้องเข้าใจไว้ว่า ชีวิตของคนเราเกิดมาไม่เท่ากันเสมอ แต่ถึงแม้จะไม่มีเหมือนคนอื่น แต่สามารถสร้างได้ด้วยหนึ่งสมอง สองมือ และอีกหนึ่งหัวใจของตัวเอง ฉะนั้นคนเราไม่ควรนำตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่น โดยเฉพาะถ้านำไปเปรียบเทียบแล้วยิ่งทำให้ตัวเองท้อ” …เป็น “แนวคิด” จาก “อารามบอยยุค 4.0” ที่เรื่องราวของ “นนท์-จตุพล” คนนี้ ซึ่งหลาย ๆ คนสามารถนำไปใช้เพื่อ… Delete ความท้อได้.

‘คำขวัญ’ เพิ่มพลัง
สำหรับ “แรงบันดาลใจ” ในการใช้ชีวิตนั้น นนท์บอกว่า คือตัวเขาเอง เพราะคิดว่ายังมีคนที่ลำบากกว่าเขาอีกตั้งมากมาย แต่เขายังดีที่ยังมีมือเท้าครบ  32 ดังนั้นจึงไม่มีประโยชน์ที่จะไปกล่าวโทษโชคชะตาชีวิตที่เกิดมาเป็นเช่นนี้ สู้เอาเวลาและแรงที่มีไปทำชีวิตตัวเองให้คุ้มค่ากับการที่ได้เกิดมา ทั้งนี้ เขาบอกพร้อมรอยยิ้มว่า บางครั้งเมื่อรู้สึกท้อและเหนื่อย ก็เคยแอบคิดว่า ทำไมเราเกิดมาไม่มีคำว่าครอบครัวเหมือนกับคนอื่น ๆ จนเคยแอบนั่งร้องไห้คนเดียว ซึ่งอารมณ์แบบนี้ จะเกิดช่วงวันพ่อหรือวันแม่ แต่ก็แค่ชั่ววูบที่เกิดอารมณ์เช่นนี้ เพราะ “คำสอนของหลวงพ่อ” จะคอยดึงสติเขาให้ออกจากความรู้สึกลบได้เสมอ นั่นคือ…
“ไม่สูง..ให้เขย่ง..ไม่เก่ง..ให้ขยัน”.

บรรยายใต้ภาพ
ภาพสมัยเรียนชั้นประถมฯ ของนนท์
ทำงานพิเศษ หลังเลิกเรียน
คณะศึกษาศาสตร์..ที่เขาเลือกเรียน
นนท์ในวัยเด็ก ถ่ายกับเพื่อนที่วัด

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]