‘ประยุทธ์’ งัดม.44 แก้กฎหมายป.ป.ช.

คม ชัด ลึก ฉบับวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2561
ยกเลิกบอร์ดมหาวิทยาลัย-กองทุนแจงทรัพย์สิน
“บิ๊กตู่” งัด ม.44 ไฟเขียว “กก.สภามหาวิทยาลัย-บอร์ดสุขภาพ-กองทุน” ไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน เปลี่ยนนิยาม “ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง” ด้าน รมช.ศธ.ชี้ทุกฝ่ายน่าจะพอใจ อธิการบดี มทร.ธัญบุรีเชื่อรัฐบาลต้องการผู้ทรงคุณวุฒิช่วยงาน
เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราชกิจานุเบกษาได้เผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 21/2561 เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้มีความเห็นและข้อเสนอแนะมายังคสช.เกี่ยวกับประกาศป.ป.ช. เรื่องกำหนดตำแหน่งของผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 102 พ.ศ.2561 ที่กำหนดให้กรรมการและ ผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานอื่นของรัฐทุกแห่งต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะ กรรมการป.ป.ช.โดยเฉพาะการกำหนด ตำแหน่งตามมาตรา 102 (7) ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงซึ่งมีการนิยามความหมายไว้ในมาตรา 4 ให้ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงหมายความรวมถึงกรรมการและผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานอื่นของรัฐ จึงส่งผลให้คณะกรรมการป.ป.ช.ไม่สามารถใช้ดุลพินิจ กำหนดตำแหน่งเฉพาะหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งให้เป็นผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงได้ แต่เนื่องจากการที่ประกาศดังกล่าวกำหนดให้กรรมการและผู้บริหารสูงสุดในหน่วยงานอื่นของรัฐทุกแห่งต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการป.ป.ช.ได้ส่งผลให้การบริหารจัดการภายในหน่วยงานบางแห่งประสบปัญหา
ดังนั้นเพื่อให้การตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สิน รวมถึงการป้องกันการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพตามหลักธรรมา ภิบาลและเป็นไปตามหน้าที่และอำนาจของป.ป.ช.ซึ่งควรให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการป.ป.ช.ในการพิจารณาใช้ดุลพินิจกำหนดตำแหน่งซึ่งมีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน จึงจำเป็นต้องมีการปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญอันเป็นส่วนสำคัญของการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 265 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบกับมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 หัวหน้าคสช.โดยความเห็นชอบของคสช.จึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้
1.ให้ยกเลิกความในบทนิยามคำว่า “ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง” ในมาตรา 4 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง” หมายความว่าผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวง ทบวง กรม หรือส่วนราชการที่มีฐานะเป็นนิติบุคคลซึ่งมิใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สำหรับข้าราชการพลเรือน และปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการเหล่าทัพ สำหรับข้าราชการทหารและผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และให้หมายความรวมถึงผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดกรุงเทพมหานคร กรรมการและผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจ หัวหน้าหน่วยงานขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ แต่ไม่รวมถึงผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้ดำรงตำแหน่งอื่นตามที่กฎหมายกำหนด ผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานอื่นของรัฐตามที่คณะกรรมการป.ป.ช.กำหนด หรือผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งเทียบเท่า ตามที่คณะกรรมการป.ป.ช.กำหนด”
2.ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสองของมาตรา 8 “ในกรณีที่มีปัญหาการปฏิบัติตาม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ให้คณะกรรมการป.ป.ช. มีอำนาจในการตีความและวินิจฉัย ทั้งนี้มติในการวินิจฉัยของคณะ กรรมการป.ป.ช. ต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่” 3.ให้ยกเลิกข้อ 5 แห่งประกาศป.ป.ช. เรื่องกำหนดตำแหน่งของผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 102 พ.ศ.2561
4.เพื่อประโยชน์ของการกำหนดตำแหน่งของผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ให้สำนักงานป.ป.ช.เร่งดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมประกาศป.ป.ช.เสียใหม่ให้ถูกต้องและสอดคล้องกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งนี้เสนอต่อคณะกรรมการป.ป.ช.เพื่อประกาศใช้ต่อไป 5.ในกรณีที่เห็นสมควรนายกรัฐมนตรีอาจ เสนอให้คสช.แก้ไขเปลี่ยนแปลงคำสั่งนี้ได้6.คำสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจำนุเบกษาเป็นต้นไป สั่ง ณ วันที่ 11 ธันวาคม 2561 ลงชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประกาศป.ป.ช. ดังกล่าว ส่งผลให้บอร์ดขององค์กรหลายแห่งรวมทั้งกรรมการสภามหาวิทยาลัยหลายแห่งได้ลาออกไป และมีอีกจำนวนมากได้ยื่นจำนง ลาออกจากเก้าอี้เนื่องจากต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน โดยบางส่วนเห็นว่าการยื่นบัญชีทรัพย์สินเต็มใจยื่นได้แต่ควรไม่เปิดเผยต่อสาธารณะ ทั้งนี้บอร์ดสุขภาพในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นกรรมการที่จะลาออกจำนวนมาก เช่น คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบอร์ดสปสช. บอร์ดสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เป็นต้น
ทั้งนี้การใช้มาตรา 44 ตัดคำว่า “กรรมการและผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานอื่นของรัฐ” ออกจากมาตรา 4 ส่งผลให้กรรมการสภามหาวิทยาลัยและหน่วยอื่นๆ รวมถึงกรรมการในบอร์ดสุขภาพทั้งคณะกรรมการสุขภาพ แห่งชาติ (สช.) คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ฯลฯ และกรรมการในองค์กรมหาชน ไม่ต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินหนี้สิน
ก่อนหน้านี้ประธานป.ป.ช. ลงนามเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน “ประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง กำหนดตำแหน่งของผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 102 (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2561” เผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษาโดยมีผลเลื่อนเวลาการใช้บังคับการยื่นบัญชีทรัพย์สินให้กรรมการของหน่วยงานอื่นของรัฐหลายหน่วยงาน จากเดิม 2 ธันวาคม 2561 เป็น 1 กุมภาพันธ์ 2562 มาแล้ว ก่อนที่หัวหน้า คสช. จะใช้มาตรา 44 เพื่อแก้ไขนิยามในพ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ดังกล่าว
ด้าน นพ.อุดม คชินทร รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า คิดว่าเป็นเรื่องที่ดีและทุกฝ่ายก็น่าจะพอใจ แต่ส่วนตัวแล้วไม่มั่นใจว่าป.ป.ช.จะต้องมีการออกประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่องกำหนด ตำแหน่งของผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินใหม่หรือไม่ ซึ่งหากต้องมีการประกาศใหม่ คิดว่าป.ป.ช.ก็คงต้องมีการพิจารณาอย่างจริงจังว่าจะต้องไม่ให้มีผลกระทบ เพราะหากมีการปรับแล้วเป็นไปตามรูปแบบเดิม ปัญหาก็จะยังคงกลับมาเหมือนเดิมและไม่ได้ประโยชน์จากการออกคำสั่งคสช.ครั้งนี้
ขณะที่ รศ.ดร.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี เปิดเผยถึงการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ว่าเหมือนเป็นการเปิดทางกฎหมาย ซึ่งประกาศนี้พบว่าสภามหาวิทยาลัยไม่ได้ทำหน้าที่บริหารงานจึงไม่ต้องยื่นแสดงทรัพย์สิน แต่ทั้งนี้ต้องรอให้ป.ป.ช.มีดุจพินิจอีกครั้งว่าตำแหน่งใดต้องยื่นทรัพย์สินโดยไม่เปิดเผยและตำแหน่งใดได้รับการปลดล็อกไม่ต้องยื่น ซึ่งการเข้ามาช่วยงานมหาวิทยาลัยของคณะกรรมการสภามหาวิทยาลัยไม่ได้มีผลประโยชน์ใดและการให้แสดงทรัพย์สินเป็นเรื่องลำบากถึงแม้จะให้ยื่นแต่ปกปิดก็เชื่อว่ากรรมการสภามหาวิทยาลัยจะลาออก จึงอยากวิงวอนให้ป.ป.ช.ประกาศออกมาว่า ผู้เป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยไม่ต้องยื่นทรัพย์สิน
ทั้งนี้อยากให้มองถึงการปฏิบัติงานของกรรมการสภามหาวิทยาลัยไม่ได้มีอำนาจใดๆ ทั้งสิ้น และควรมองผลประโยชน์ที่มหาวิทยาลัยจะได้รับมากกว่าเพราะกรรมการสภาส่วนใหญ่เป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จที่จะช่วยเสนอความคิดเห็นที่เป็นผลดีต่อมหาวิทยาลัยและเป็นผู้ใช้บัณฑิตอย่างแท้จริง ส่วนกรรมการที่ลาออกไปแล้วก็จะมีผลเป็นไปตามกฎหมาย มหาวิทยาลัยจะต้องสรรหาเข้ามาเพิ่ม แต่การปลดล็อกของเงื่อนไขต่างๆ จากป.ป.ช.จะช่วยให้การสรรหาง่ายขึ้น
“การที่รัฐบาลมีประกาศเช่นนี้ออกมาเชื่อว่ารัฐบาลและป.ป.ช.กำลังมองเห็นสิ่งที่เป็นกฎหมายและสิ่งที่เป็นแนวทางปฏิบัติ กฎหมายก่อให้เกิดประโยชน์แต่ก็อาจส่งผลกระทบต่อแนวทางปฏิบัติ อยากให้มองถึงประโยชน์ของหน่วยงานการศึกษาเป็นที่ตั้ง และเชื่อว่าเจตนาของรัฐบาลต้องการให้มีผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก หรือผู้ประสบความสำเร็จในอาชีพได้เข้ามาช่วยงานมหาวิทยาลัย” รศ.ดร.ประเสริฐกล่าว

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]