มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ร่วมกับ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) และสมาคมพัฒนาการขายตรงไทย จัดทำโครงการวิจัยเพื่อจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพสาขาวิชาชีพธุรกิจค้าปลีก สาขาธุรกิจขายตรง

รองศาสตราจารย์ ดร.เนตร์พัณณา ยาวิราช อาจารย์คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ผู้จัดการโครงการวิจัยเพื่อจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพสาขาวิชาชีพธุรกิจค้าปลีก สาขาธุรกิจขายตรง เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ร่วมกับ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ได้จัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพสาขาวิชาชีพธุรกิจค้าปลีก สาขาธุรกิจขายตรง ในครั้งนี้ขึ้นเนื่องจากเป็นนโยบายของรัฐบาลในการแก้ปัญหาการขายสินค้าที่ไม่ตรงตามคำโฆษณา การหลอกลวงสรรพคุณของสินค้าทำให้ผู้บริโภคหลงเชื่อตกเป็นเหยื่อผู้กระทำผิดและถูกหลอกลวงด้วยข้อความอันเป็นเท็จได้ง่าย ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนและประเทศชาติ จึงได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ร่วมกันจัดทำมาตรฐานอาชีพธุรกิจขายตรง ตามกรอบมาตรฐานอาชีพแห่งชาติ TQF ซึ่งเป็นการยกระดับผู้ประกอบอาชีพขายตรง ให้แตกต่างจากธุรกิจที่ผิดกฎหมาย สร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ผู้บริโภคให้พ้นจากการแอบแฝงทางธุรกิจแชร์ลูกโซ่อันสร้างความเสียหายต่อประชาชน และเพื่อเป็นการแก้ปัญหาและกระตุ้นให้ผู้จำหน่ายอิสระ/ตัวแทนขายตรง ที่มีจำนวนมากกว่า 1.2 ล้านคน สามารถยกระดับสมรรถนะในการทำงาน อันจะนำไปสู่ค่าตอบแทนที่สูงขึ้น เป็นการยกระดับรายได้ของคนจำนวนมาก นำไปสู่การก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง (Middle-Income Trap) เป็นการส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมในวิชาชีพ เนื่องจากธุรกิจขายตรงในปัจจุบันเริ่มมีการประยุกต์นำเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้ในการประกอบธุรกิจ เช่นระบบ E-Money, E-Payment และเป็นการส่งต่อมาตรฐานอาชีพในสาขาธุรกิจขายตรงสู่ระบบการศึกษาในระดับอาชีวศึกษา และอุดมศึกษาไทย อันจะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาสมรรถนะในการทำงานให้นักศึกษาตรงกับความต้องการของผู้ประกอบธุรกิจ ธุรกิจขายตรงนับว่ามีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และมีผู้ประกอบอาชีพในธุรกิจขายตรงกว่า 2 ล้านคน โดยเฉพาะปัจจุบันในยุคการค้าออนไลน์ การขายตรงจึงมีทั้งประโยชน์และโทษต่อผู้บริโภค จึงต้องมีการจัดทำมาตรฐานอาชีพขายตรงให้มีการยกระดับมาตรฐานอาชีพให้มีความเชื่อถือได้ สร้างคุณภาพและความภูมิใจให้ผู้ประกอบอาชีพขายตรง มีกฎระเบียบ ข้อบังคับ กติกาทางการประกอบอาชีพ เพื่อมิให้มิจฉาชีพอาศัยช่องทางการขายตรงในการกระทำที่ไม่ดีก่อให้เกิดปัญหาเช่นแชร์ลูกโซ่ มาตรฐานอาชีพธุรกิจขายตรงจึงเป็นมาตรฐานสากลเปี่ยมด้วยจรรยาบรรณในวิชาชีพ การจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพธุรกิจค้าปลีก สาขาธุรกิจขายตรงในครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐที่เกียวข้องได้แก่ หน่วยงานภาครัฐ สมาคม และผู้ประกอบการขายตรง ที่มีความเชี่ยวชาญ ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย) ธนาคารแห่งประเทศไทย กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ กรมอาชีวศึกษา กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน สมาคมการค้าพาณิชย์อีเล็คทรอนิกส์ สมาคมอุตสาหกรรมขายตรงไทย กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณต้นปี 2562 เข้าสู่ระบบการประเมินสมรรถนะได้เพื่อถือปฎิบัติเป็นมาตรฐานต่อไป จึงนับเป็นนิมิตหมายอันดีต่อผู้ประกอบอาชีพขายตรงให้เกิดความเป็นมาตรฐานสากล มีความเชื่อถือได้ และมีความภูมิใจในอาชีพ

รศ. ดร. เนตร์พัณณา กล่าวถึงรายละเอียดการจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพธุรกิจขายตรงในครั้งนี้ จะเสร็จสิ้นและพร้อมนำไปประกาศในพระราชกฤษฎีกาถือปฎิบัติได้ประมาณต้นปี 2562 ซึ่งการจัดทำจะต้องมีระบบตามหลักการและวิธีการที่ถูกต้อง โดยมีการศึกษาแนวทางจากต่างประเทศที่เป็นตัวอย่างที่ดีเป็นต้นแบบแล้วนำมาปรับให้สอดคล้องกับประเทศไทย ทั้งนี้เพื่อให้มีความเป็นสากลตามมาตรฐานที่เรียกว่า IEC/ISO 17024 มาตรฐานสากลในการรับรองสมรรถนะบุคคล ตามกรอบคุณวุฒิวิชาชีพแห่งชาติ TQF ขั้นตอนการจัดทำประกอบด้วยการประชุมระดมสมอง (Brain Stroming) จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอาชีพธุรกิจขายตรง มีการประชุมคณะทำงาน มีการสัมภาษณ์เชิงลึกจากกลุ่มเป้าหมาย (focus Group) เพื่อจัดทำแผนผังแสดงหน้าที่งาน (Functional Map) ประกอบด้วย บทบาทหลัก (Key Roles) และหน้าที่หลัก (Key Functions) หน่วยสมรรถนะ (Unit of Competence) หน่วยสมรรถนะย่อย (Element of Competence) เกณฑ์การปฎิบัติงาน (Performance Criteria) หลักฐานความรู้ในการทำงาน (Knowledge Evidence) ทักษะและความรู้ที่ต้องการ (Required skill and knowledge) กฎระเบียบ ข้อกำหนดของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง (Law and Regulations) ขอบเขตการทำงาน (Range Statement) ตลอดถึงคุณธรรม จริยธรรมของผู้ประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจขายตรง รวมถึงรายละเอียดวิธีการและกระบวนการประเมินสมรรถนะ อาชีพนักธุรกิจขายตรงระดับต่าง ๆ โดยมีการจัดแบ่งชั้นคุณวุฒิวิชาชีพออกเป็นระดับชั้นต่าง ๆ ตามสมรรถนะของแต่ละอาชีพที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจขายตรงทั้งหมด เป็นต้น นอกจากนี้จะได้มีการจัดทำประชาพิเคราะห์ (Public Opinion) เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนเพื่อให้มาตรฐานอาชีพในครั้งนี้มีความสมบูรณ์และถูกต้องและมีความเป็นสากลมากที่สุด

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]