ยล ‘พุทธศิลป์ภาคใต้’ ทรงคุณค่าศิลปวัฒนธรรม

เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2560
“ไม่เพียงคุณค่า ความโดดเด่นในด้านศิลปะ “พุทธศิลป์ในภาคใต้” ยังเป็นแหล่งสืบทอดวิทยาการด้านศิลปะ เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์สำคัญ แสดงถึงสังคม วิธีคิด ภูมิปัญญาช่างโบราณ…”
ด้วยความสำคัญของงานศิลป์ที่ทรงคุณค่าและความตั้งใจอนุรักษ์ รวมถึงเผยแพร่ส่งต่อองค์ความรู้ผลงานพุทธศิลป์ในภาคใต้ รศ.ดร.สมพร ธุรี อาจารย์ภาควิชาทัศนศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี จากที่ผ่านมาลงพื้นที่ค้นคว้า บันทึกข้อมูลงานพุทธศิลป์จังหวัดภาคใต้ฝั่งตะวันออก เริ่มจากจังหวัดชุมพรเรื่อยไปทุกจังหวัด รศ.ดร.สมพร เล่าถึงการศึกษาพุทธศิลป์ที่รวบรวมไว้ในหนังสือว่า พุทธศิลป์ในภาคใต้มากด้วยคุณค่ามีความรุ่งเรืองมานับแต่สมัยศรีวิชัยจวบถึงรัตนโกสินทร์ และด้วยคุณค่าเหล่านี้ หากไม่ได้รับการดูแลอนุรักษ์ไว้นับเป็นสิ่งที่น่าเสียดาย จึงเป็นที่มาของการบันทึก ศึกษาคุณค่าเหล่านี้เผยแพร่ เพื่อร่วมกันรักษาความดั้งเดิมได้คงอยู่
“พุทธศิลป์ในที่นี้จากการลงพื้นที่ศึกษารวบรวมผลงาน ใน ด้านจิตรกรรม ประติมากรรม และงานสถาปัตยกรรม ซึ่งถ่ายทอดแสดงความงดงามในงานพุทธศิลป์ ได้เห็นแบบแผนการสร้างสรรค์ศิลปะที่มีเอกลักษณ์ ปราณีต ถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรมแนวความคิด อย่าง งานจิตรกรรมไทย เกี่ยวกับการเขียนภาพจิตกรรมทางพุทธศาสนาตามผนังอุโบสถ วิหาร ศาลาการเปรียญหรือตามถ้ำ สถาปัตยกรรมไทย เกี่ยวกับการก่อสร้างสถาปัตยกรรมชั้นยอดของไทย เช่น อุโบสถ วิหาร พระสถูปเจดีย์ และ งานประติมากรรมไทย การปั้น แกะสลัก อาทิ เทวรูป พระพุทธรูป ฯลฯ”
รศ.ดร.สมพร เล่าเพิ่มอีกว่า อย่างภาพจิตรกรรมฝาผนัง วัดมัชฌิมาวาสวรวิหาร จ.สงขลา แสดงเรื่องราวที่มีความเป็นจริงตามสภาพแวดล้อม สังคม วิถีชีวิต ซึ่งปรากฏภาพต่าง ๆ ทั้ง ซุ้มประตู ภาพเรือขนส่งสินค้าชาวตะวันตกอยู่ในเนื้อหาหลักของภาพพุทธประวัติและทศชาดก รวมถึงรายละเอียดอีกหลายด้านที่น่าศึกษา หรือในงานสถาปัตยกรรม ประติมากรรม จากสถานที่ต่าง ๆ นอกจากความงามในความหลากหลายยังเป็นดั่งบันทึกประวัติศาสตร์ส่งต่อความรู้อย่างเด่นชัด
นอกจากหนังสือพุทธศิลป์ในภาคใต้ องค์ความรู้ทั้งหมดยังมีโครงการจัดทำเป็นอีบุ๊ค เพื่อการเข้าถึงเผยแพร่คุณค่า ความสำคัญงานพุทธศิลป์อีกทางหนึ่งด้วย.

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]