“เพริศแพร้ว งานศิลป์ แผ่นดินแม่” ทีม มทร.ธัญบุรี รางวัลถ้วยพระราชทานสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9

ผลงาน “เพริศแพร้ว งานศิลป์ แผ่นดินแม่” ทีมมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี ประกอบด้วยนักศึกษาคณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ และคณะศิลปกรรมศาสตร์ คว้ารางวัลถ้วยพระราชทานสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 การประกวดแกะสลักผัก-ผลไม้ ผสานงานใบตอง ดอกไม้สด ครั้งที่ 19 “ทศวรรษพระราชปณิธานสานฝันศิลป์ นวมินทรามหาราชินีจักรีพิภพ” จัดโดย โรงแรมแกรนด์ เมอร์เคียว กรุงเทพ ฟอร์จูน และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ณ ห้องแกรนด์บอลรูม ชั้น 3 โรงแรมแกรนด์ เมอร์เคียว กรุงเทพ ฟอร์จูน โดยมีสถาบันการศึกษาเข้าร่วมการแข่งขันทั่วประเทศไทย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์เสริมศรี สงเนียม อาจารย์ประจำสาขาวิชาคหกรรมศาสตร์ คณะเทคโนโลยี

คหกรรมศาสตร์ อาจารย์ที่ปรึกษาและควบคุมดูแลนักศึกษาในการแข่งขัน เล่าว่า แนวคิดในการประกวดแกะสลักผัก-ผลไม้ ผสานงานใบตองดอกไม้สด ครั้งที่ 19 ในหัวข้อ “ทศวรรษพระราชปณิธานสานฝันศิลป์ นวมินทรามหาราชินีจักรีพิภพ”  ในแนวความคิด “ทุกชิ้นงาน ล้วนเป็นสารสุดวิจิตร สื่อความคิดและแรงบันดาลใจที่สืบสานพระราชปณิธานนับทศวรรษ ซึ่งงานศิลป์ที่ สมเด็จฯ ธทรงไว้ในแผ่นดิน คือเอกลักษณ์อัครศิลปินงานศิลป์ไทย” เกณฑ์ในการตัดสิน แกะสลักผัก-ผลไม้ 60 % งานดอกไม้สด 20 % งานใบตอง 20 % ขนาดของผลงานเส้นผ่านศูนย์กลางกว้าง 1.50 เมตร และความสูงของผลงานไม่เกิน 2.00 เมตรจากฐาน (ความสูงเพดานจากพื้นห้อง  = 3.00 เมตร) ด้วยแนวคิดและเกณฑ์ของการประกวดดังกล่าว เห็นว่าในการส่งผลงานการประกวดมีศาสตร์ต่างๆ ที่สามารถบูรณาการในการรังสรรค์ผลงาน ของนักศึกษาคณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ และคณะศิลปกรรมศาสตร์ โดยการนำทีมของอาจารย์ดิษฐวัฒน์ อินนุพัฒน์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาประติมากรรม คณะศิลปกรรมศาสตร์ ในการทำงานร่วมกัน แนวความคิดในการออกแบบผลงาน “เพริศแพร้ว งานศิลป์ แผ่นดินแม่” ด้วยพระอัจฉริยภาพอันลึกซึ้งและยาวไกล ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่ได้ทรงฟื้นฟูอนุรักษ์และสืบสานงานศิลป์ อันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติให้คงอยู่ ยังความร่มเย็นเป็นสุขแก่มหาชนชาวสยาม

อาจารย์ดิษฐวัฒน์ อินนุพัฒน์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาประติมากรรม คณะศิลปกรรมศาสตร์ เล่าเพิ่มเติมว่า เป็นการบูรณาศาสตร์และความร่วมมือระหว่างคณะ ซึ่งทาง รศ.ดร.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดี และ ผศ.ดร.สุภัทรา โพธิ์พวง รองอธิการบดี นางสาวจีรวัฒน์ เหรียญอารีย์ คณบดีคณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ ผศ.อริยา สุอังควาทิน คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ ที่ปรึกษาอำนวยความสะดวกในการแข่งขัน และได้รับความร่วมมือจากนักศึกษาทั้งสองคณะโดยเป็นการบูรณาการทางการเรียนการสอนตามนโยบายของมหาวิทยาลัย คือ บัณฑิตนักปฏิบัติมืออาชีพ “Hand on” ในครั้งนี้ได้รับผิดชอบในการแกะสลักพระบรมรูปฉายาลักษณ์ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ซึ่งสำคัญและเกียรติสำหรับตนเอง เพราะว่าเป็นการแกะสลักผักผลไม้รูปบุคคลครั้งแรกในชีวิต “ตั้งใจทำให้ดีที่สุด สุดความสามารถของผมที่จะถวายความจงรักภักดีต่อพระองค์ท่านและราชวงศ์สืบไป”

“นัท” นายปิยะณัฐ ธิวะโต นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิชาเทคโนโลยีงานประดิษฐ์สร้างสรรค์ คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ ดูแลในส่วนของงานแกะสลัก เล่าว่า รูปแบบและแนวคิดของงานแกะสลัก การนำผักและผลไม้ เช่น เผือก ฟักทอง มารังสรรค์ผ่าน เรื่องราวของพระราชกรณียกิจของพระองค์ โดยเฉพาะโครงการศูนย์ศิลปาชีพสืบสานงานศิลป์ ในเรื่องของผ้าไหม เครื่องปั้นดินเผา เครื่องเบญจรงค์ กระเป๋าหญ้าลิเภา กระเป๋าปีกแมลงทับ และการแกะสลักคันฉ่องจากเผือก สะท้อนถึงพระอัฉริยภาพของพระองค์ถึงประชาราชให้อยู่เย็นเป็นสุข ภายใต้ร่มพระบารมี และพระราชจริยวัตรอันงดงามในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ที่ทรงมีต่อปวงชนชาวไทย “เป็นปีแรกที่ทางมหาวิทยาลัยได้ทรงผลงานประกวด ผลงานบางชิ้นต้องใช้ความประณีตและความละเอียดอ่อนมาก โดยผลงานกว่า 60 % จากงานแกะสลัก สำหรับเผือกเป็นวัสดุที่มีความยากมากในการเก็บรักษา เพราะว่าเน่าเสียหายง่ายมาก ภูมิใจที่ได้เข้าร่วมโครงการประกวดในครั้งนี้ และดีใจที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้”

“บอย” นายพัฒนพงษ์ เกิดพุฒ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาอาหารและโภชนาการ คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ เล่าว่า “ภูมิใจและดีใจที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ ถือเป็นงานประกวดครั้งใหญ่ระดับประเทศ เพราะว่าทุกๆ ปี จะเข้าไปเยี่ยมชมงานตลอด ดีใจที่ได้เข้าร่วมประกวดสักครั้ง” ส่วนตัวชอบแกะสลัก เวลาว่างๆ จะไปเรียนตามที่ต่างๆ เพื่อหาความรู้มาพัฒนาตนเอง ลวดลายในแกะสลักสามารถปรับเปลี่ยนได้ การแกะสลักสอนให้ตนเองมีสติ

ทางด้าน “ปลา” นายธีร์คณาธิป ไพฑูรย์ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิชาเทคโนโลยีงานประดิษฐ์สร้างสรรค์ คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ ดูแลในส่วนของงานใบตองและดอกไม้สด เล่าว่า ในส่วนของงานดอกไม้สดเน้นโทนสีประจำพระองค์ นั้นคือสีฟ้า จุดเด่นของงานดอกไม้อยู่ที่พระบรมรูปของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ที่แกะด้วยเผือก เพราะว่าอยู่สูงสุดต้องทำให้เด่นและสง่า งานใบตองสีของใบตองสำคัญมากเลือกสีของใบตองโทนอ่อน ไม่เข้มเกินไป เนื่องจากเวลาสะท้อนกับแสงไฟจะดูสวย จุดเด่นของงานใบตองจับจีบในการรังสรรค์เป็นพญานาค “ภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในชิ้นงานนี้ งานดอกไม้และงานใบตองช่วยเสริมความสมบูรณ์ของผลงาน ได้รับประสบการณ์ในการประกวดในครั้งนี้ ได้ทำผลงานร่วมกับเพื่อนๆ”

“ด๊อง” นายนพรัตน์ พอกพูล นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาประติมากรรม คณะศิลปกรรมศาสตร์ ดูแลในส่วนโครงสร้างผลงาน เล่าว่า ในส่วนของตนเองดูแลในส่วนของการจัดองค์ประกอบโครงสร้าง และรับผิดชอบในการแกะสลักเผือกในส่วนของกายวิภาคคนที่นั่งทอผ้า และปั้นดินเผา เนื่องจากมีความชำนาญทางสรีระของคน ในการประกวดครั้งนี้ ได้เรียนรู้ความรู้บางศาสตร์ที่ตนเองไม่รู้ เช่น การแกะสลักผลไม้ “ภูมิใจที่ได้เป็นตัวแทนมหาวิทยาลัยเข้าร่วมการแข่งขันและได้สร้างชื่อเสียงให้กับมหาวิทยาลัย ได้นำศาสตร์ที่เรียนมา นำมาใช้ในการประกวด”

 “เหนือสิ่งอื่นใด การที่ได้นำศาสตร์ของการเรียนการสอนมาบูรณาการทำให้นักศึกษาทั้งสอบคณะได้แลกเปลี่ยนความรู้ สื่อความคิดและแรงบันดาลใจที่สืบสานพระราชปณิธานนับทศวรรษ ซึ่งงานศิลป์ที่ สมเด็จฯ ธทรงไว้ในแผ่นดิน คือเอกลักษณ์อัครศิลปินงานศิลป์ไทย” ผู้ช่วยศาสตราจารย์เสริมศรี สงเนียม กล่าวทิ้งท้าย

 

                                    00ชลธิชา ศรีอุบล

                        กองประชาสัมพันธ์ มทร.ธัญบุรี 0-2549-4994

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]