คอลัมน์ ด้วยสมองและสองมือ: มทร.ธัญบุรี คิดไกล…ที่พักฉุกเฉิน’ถอดประกอบได้’

สยามรัฐ ฉบับวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2560
edusiamrath@gmail.com
ประเทศไทยมีการพัฒนาที่พักอาศัยชั่วคราว เพื่อรับรองผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติมาอย่างต่อเนื่องโดยล่าสุด นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี จึงผุดไอเดียด้านการออกแบบที่พักอาศัยชูแนวคิด “นวัตกรรมที่พักอาศัยฉุกเฉินสำเร็จรูปถอดประกอบได้” โดย ผศ.ดร.วชิระ แสงรัศมี อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และอาจารย์ประชุม คำพุฒ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ร่วมกันสร้างสรรค์
ผศ.ดร.วชิระ พูดถึงแนวคิดและแรงบันดาลใจการออกแบบที่พักฉุกเฉินนี้ มาจากบ้านท่อนซุงในอดีตที่นำท่อนไม้มาประกอบเป็นที่พักโดยเลือกใช้ท่อพีวีซี (PCV) ที่มีรูกลวงตรงกลาง มาทำเป็นแผ่นผนัง (ท่อนไม้เทียม) เพราะจากผลการศึกษาพบว่า คุณสมบัติของท่อพีวีซีสามารถใช้ประกอบเป็นแผ่นผนังที่มีน้ำหนักเบากว่าผนังอิฐมอญถึง 5 เท่าและมีค่าการต้านทานความร้อนสูงกว่า ค่าการรับแรงอัดเทียบเท่าอิฐมอญ รวมถึงมีน้ำหนักเบา ขนส่งและติดตั้งได้สะดวก เป็นวัสดุสามารถรีไซเคิลได้ จึงเลือกใช้ประโยชน์จากท่อพีวีซีมาประกอบเป็นแผ่นผนังสำเร็จรูป
“รูปแบบและพื้นที่ใช้สอยของที่พักฉุกเฉินถอดประกอบได้นี้ ใช้ระบบประสานทางพิกัดหรือระบบโมดูลาร์ (Modular Coordination) เพื่อให้ง่ายต่อการขยายพื้นที่ การผลิต-ประกอบและรื้อถอน โครงสร้างชิ้นส่วนสำเร็จรูปต่าง ๆ ถูกยึดกันด้วยนอต โดยมีชุดชิ้นส่วนสำเร็จรูปหลัก คือ ชุดชิ้นส่วนด้านหน้าด้านข้าง และด้านหลัง ชุดชิ้นส่วนพื้น ชุดชิ้นส่วนฝ้าเพดานชุดชิ้นส่วนหลังคา และชุดชิ้นส่วนผนังสำเร็จรูปจากท่อพีวีซีสำคัญตรงที่…ที่พักฉุกเฉินสำเร็จรูปนี้ สามารถเพิ่มขยายตามจำนวนผู้พักอาศัยและปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้สอยและดัดแปลงได้หลากหลาย เช่น ใช้เป็นที่พักอาศัยหลับนอน ใช้เป็นห้องน้ำ ห้องสุขา ใช้เป็นศูนย์สถานพยาบาลเคลื่อนที่ ใช้เป็นที่พักอาศัยชั่วคราวในพื้นที่น้ำท่วม (เพิ่มฐานด้วยถังน้ำมัน) หรือใช้เป็นสำนักงานชั่วคราวได้”
อย่างไรก็ตาม ที่พักฉุกเฉินสำเร็จรูปถอดประกอบได้ มีน้ำหนักประมาณ750 กิโลกรัมต่อหลัง สามารถประกอบติดตั้ง และรื้อถอนได้ด้วยแรงงานคนเสร็จได้ภายในหนึ่งวัน งบประมาณต่อหลังประมาณครึ่งแสน
สุดยอดนวัตกรรมนี้ มีรางวัลผลงาน The 4th Top Ten Innovation Awards และรางวัลCDAST DESIGN AWARDS 2014 ระดับดี ผลงานสร้างสรรค์ดีเด่นคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย การันตีและกำลังอยู่ในขั้นตอนการจดทะเบียนสิทธิบัตร
“…น้ำหนักเบา ขนส่งและติดตั้งได้สะดวกเป็นวัสดุสามารถรีไซเคิลได้…”

C-170123021049

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]