เด็กร่วมสมัยเยือนถิ่นจันทบูร สร้างสรรค์ศิลป์-ปูทางสู่เวทีโลก

คม ชัด ลึก ฉบับวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2560
โครงการค่ายเยาวชนสร้างสรรค์ผลงานศิลปะร่วมสมัย โดยสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) กระทรวงวัฒนธรรม ได้จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 8 โดยได้คัดสรรยุวศิลปินในระดับอุดมศึกษาที่มีผลงานโดดเด่นทั่วประเทศเพื่อเข้ารับการอบรมเชิงปฏิบัติอย่างเข้มข้น จากนั้นคัดเลือกผู้มีผลงานดีเด่นเดินทางไปต่อยอดการศึกษาศิลปะร่วมสมัยในต่างประเทศ
สำหรับปีนี้คณะผู้บริหาร สศร. พร้อมด้วย ศิลปินแห่งชาติ ดร.กมล ทัศนาญชลี ศ.เดชา วราชุน ศ.ปรีชา เถาทอง นายปัญญา วิจินธนสาร คณะกรรมการ และทีมงาน ได้นำเยาวชนที่ผ่านการคัดเลือกในโครงการค่ายเยาวชนสร้างสรรค์ผลงานศิลปะร่วมสมัย ครั้งที่ 8 จำนวน 70 คน เข้ารับการอบรมเชิงปฏิบัติการ ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี ตั้งแต่วันที่ 5p11 มกราคม ที่ผ่านมา
เริ่มจากการลงพื้นที่จันทบุรี ทัศนศึกษาและเก็บข้อมูล ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริเยี่ยมชมสถาปัตยกรรมโบราณโบสถ์วัดแม่พระปฏิสนธินิรมล และชุมชนเก่าริมน้ำจันทบูร ฟังบรรยายเชิงวิชาการและแบ่งกลุ่มปฏิบัติการทางศิลปะ เพื่อสร้างสรรค์ผลงาน บนพื้นสนามหญ้าและมุมต่างๆ อันร่มรื่นภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี
ท่ามกลางแสงแดดจัด สลับกับสายฝนที่โปรยปรายลงมาเป็นระยะ ทำให้บรรยากาศการทำงานเต็มไปด้วยพลังและจินตนาการแห่งการสร้างสรรค์ ดร.กมล ทัศนาญชลี
ศิลปินแห่งชาติ บอกว่า ได้มาร่วมเป็นวิทยากรบรรยายองค์ความรู้ด้านศิลปะในช่วงเช้าและช่วงบ่ายเป็นภาคปฏิบัติ สำหรับการให้คะแนนนั้นจะพิจารณาจากผลงานที่สร้างสรรค์ 2 ชิ้น ได้แก่หัวข้อ โลกอนาคต (Future world) และหัวข้อ จันทบุรี
ด้าน ศ.เดชา วราชุน ศิลปินแห่งชาติ ปี 2550 สาขาทัศนศิลป์ กล่าวว่า ปีนี้เด็กแต่ละคนสร้างสรรค์ผลงานตามเทคนิคที่ถนัดมา 1 ชิ้น และสร้างสรรค์ผลงานด้วยแรงบันดาลใจจากสถานที่สำคัญต่างๆ ในจันทบุรีลงบนผืนผ้าใบ ในปีนี้มุ่งเน้นให้ยุวศิลปินมีทั้งความสามารถและความดีงามในจิตใจ
นายเปจัง มิตรสาธิต นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมศาสตร์ (นักศึกษาชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงโป) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จังหวัดเชียงใหม่ เจ้าของรางวัลศิลปินดาวเด่นบัวหลวงยอดนิยมปี 2559 กล่าวว่า ภูมิใจที่ได้เจอเพื่อนใหม่ ศิลปินแห่งชาติหลายท่าน ตัวเองเป็นคนที่รักศิลปะมาตั้งแต่เด็ก ชอบใช้เทคนิคสีน้ำมัน เพื่อสร้างบรรยากาศและอารมณ์ที่สนุกสนาน อนาคตอยากเป็นศิลปินและกลับไปสอนศิลปะคนที่ไม่มีโอกาสในชุมชนบ้านเกิดที่หมู่บ้านแม่ลอบเหนือ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่
นายเกรียงไกร แก้วสุวรรณ คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า กิจกรรมนี้ได้เรียนรู้เทคนิคการทำงานที่แตกต่างออกไป สำหรับผลงานครั้งนี้เป็นการผสมผสานเทคนิคการเย็บปักถักร้อยแบบช่างโขนโบราณ ซึ่งเป็นงานที่ละเอียดอ่อนและแสดงออกถึงเอกลักษณ์ความเป็นไทย
ทั้งนี้ ภายหลังการนำเสนอผลงาน คณะกรรมการได้พิจารณาคัดเลือกผู้ที่มีผลงานดีเด่น จำนวน 9 คน ได้แก่ 1.นายเปจัง มิตรสาธิต มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จ.เชียงใหม่ 2.น.ส.ภัทราภรณ์ จันทรักษ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี 3.น.ส.สาวิณี ผันสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี 4.นายวานิตย์ นิ่มอนงค์ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ 5.นายธีระพล รินทร มหาวิทยาลัยขอนแก่น
6.นายธนพล ขวัญทองยิ้ม มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา 7.นายธีรพล สีสังข์ จากมหาวิทยาลัยศิลปากร 8.นายเกรียงไกร แก้วสุวรรณ จากมหาวิทยาลัยศิลปากร 9.น.ส.ปาลฉัตร ยอดมณี จากมหาวิทยาลัยศิลปากร ส่วนที่เหลืออีก 1 คนเปิดให้ประชาชน ร่วมกันโหวต ผ่านทางเว็บไซต์ www.youngartiststalen-thailand.com ระหว่างวันที่ 10-15 มกราคมนี้ โดยทั้ง 10 คนจะได้เดินทางไปทัศนศึกษาดูงาน เพื่อส่งเสริมพัฒนาต่อยอดการสร้างสรรค์งานศิลปะ ณ สาธารณรัฐอิตาลี ในเดือนพฤษภาคม 2560

C-170120014116 C-170120036065

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]