ROTAR และหอสุริยทัศน์ อีกหนึ่งพระอัจฉริยภาพ

ด้วยพระอัจฉริยภาพและให้ความสำคัญด้านวิศวกรรมศาสตร์ และดาราศาสตร์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โครงการออกแบบสร้างกล้องดูดาว ROTAR (โรตาร์) 1, 2 และ หอสุริยทัศน์ราชมงคล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) เป็นหนึ่งในโครงการตามแนวทางพระราชปรารภ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ยังความปลาบปลื้มมาสู่คณาจารย์และนักศึกษาเป็นอย่างมาก

รศ.ดร.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เปิดเผยว่า โครงการออกแบบและสร้างกล้องดูดาว ROTAR (โรตาร์) 1 และ 2 ตามแนวทางพระราชปรารภ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เริ่มต้นจากโครงงานของนักศึกษาปีที่ 4 คณะวิศวกรรมศาสตร์ ปีการศึกษา 2544 โดยมี ผศ.มนตรี น่วมจิตร์ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาโครงงาน และมีนายไกรสีห์ เพ็ชรพรประภาส อาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) ร่วมเป็นที่ปรึกษาด้วย โดยนายไกรสีห์ เพ็ชรพรประภาส ซึ่งขณะนั้นเป็นวิศวกรที่ปรึกษาออกแบบลิฟต์ให้สำนักพระราชวังอยู่ด้วย เสนอให้ออกแบบและสร้างกล้องดูดาวขนาดใหญ่

การออกแบบเริ่มจากแบบสเกตช์ที่อาจารย์ ไกรสีห์เคยเห็นมาจากหอดูดาวทรีบัวในประเทศเยอรมนี เป็นหอดูดาวเอกชนที่ชาวบ้านเมืองนั้นทำกันเอง นักศึกษานำแบบสเกตช์ไปเขียนแบบประกอบ และแยกชิ้นส่วน เพื่อนำไปผลิต ตอนสร้างชิ้นส่วนกล้อง ความที่ไม่เคยทำมาก่อน จึงลองผิดลองถูก ทำแล้วกล้องหมุนไม่ได้ความเร็วท้องฟ้า จึงตามดาวไม่ได้ เพราะคำนวณเฟืองผิด อีกทั้งลูกตุ้มถ่วงจะตีฐานกล้องอยู่ตลอด ต้องแก้แบบกันหลายรอบ เวลาก็กระชั้นเพราะนักศึกษาต้องทำโครงงานให้เสร็จจึงจะสำเร็จการศึกษาได้ ตอนนั้นเกือบจะลดขนาดโครงการจากกล้องดูดาวอัตโนมัติ เป็นกล้องดูดาวมือโยกแล้ว แต่ผศ.มนตรีไม่ยอม บอกว่าทำแล้วต้องทำให้ได้ นักศึกษารุ่นนี้ทำไม่เสร็จก็ให้นักศึกษารุ่นต่อไปทำต่อ

นายไกรสีห์ เปิดเผยว่า ได้นำปัญหาโครงงานไปปรึกษา คุณขวัญแก้ว วัชโรทัย รองเลขาธิการพระราชวัง ความที่กล้องดูดาวใหญ่และหนัก ไม่สามารถ ยกกล้องไปให้ดูได้ เพราะกล้องหนัก 800 กิโลกรัม จึงนำรูปภาพกล้องที่มีคน ยืนอยู่ข้าง ๆ ไปให้ดู ประโยคแรกที่คุณขวัญแก้วพูดคือ “อาจารย์ทำกล้องขนาดนี้ต้องถวายพระเจ้าอยู่หัว พระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดดาราศาสตร์ ท่านต้องดีพระทัย” จึงได้นำเรื่องกลับมาเล่าให้ทีมงานฟัง เมื่อทุกคนได้รับฟังเรื่องจึงมีกำลังใจ ที่ต้องทำให้โครงงานให้เสร็จให้ได้ ซึ่งใช้เวลาทำ 2 ปี กล้อง ROTAR 1 จึงเริ่มทดลอง คืนแรกที่คลองหก ส่องดวงจันทร์ เห็นหลุมอุกกาบาตบนผิวดวงจันทร์คมชัดทีมงานดีใจมาก

ทีมงานซึ่งเป็นนักศึกษาใช้เวลาทำโครงงาน 2 ปี ควบคู่ไปกับการเรียน แม้จะหนักและเหนื่อยก็ไม่ท้อ เพราะมีเป้าหมายเพื่อถวายแด่ในหลวง เป็นกล้องดูดาวขนาด 600 มม. ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยขณะนั้น หนัก 800 กก. ใช้วัสดุเป็นของไทยเกือบทั้งหมด มีแต่เลนส์ที่สั่งผลิตจากอเมริกา และมอเตอร์ความละเอียด

สูงซื้อมาจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์เท่านั้น
วันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2548 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โปรดเกล้าฯให้เข้าเฝ้าฯ ถวาย ความก้าวหน้าโครงการ ที่พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล เมื่อทอดพระเนตรโมเดลแล้ว มีพระราชปรารภทันทีว่า “กล้องจะหัวคะมำ” รับสั่งว่าพระองค์ท่านเคยทำแบบนี้แล้วที่ดาดฟ้าพระตำหนักเปี่ยมสุข โดยใช้ขาตั้งกล้องแบบ 3 ขาธรรมดา แล้วยกขาหนึ่งขึ้นโดยใช้ก้อนอิฐรอง ให้ได้มุมประมาณเท่ากับละติจูดของอำเภอหัวหิน ทรงเคยถ่ายรูปดาวเสาร์ด้วยกล้องฟิล์มและเลนส์ระยะไกลธรรมดา แต่กว่าจะถ่ายได้ทรงปวดหลังมาก เพราะกล้องหัวจะคะมำตลอด รับสั่งว่าตำแหน่งประเทศไทยอยู่ละติจูดต่ำ เพียงสิบกว่าองศา ใช้ฐานกล้องแบบอิเควตอเรียลไม่ได้ ต้องใช้แบบบริติส ซึ่งเมืองไทยยังไม่เคยมี ให้ทีมงานออกแบบมาถวาย

ทีมงานต่างสงสัยว่าพระองค์ทรงมีความรู้ด้านการออกแบบกล้องดูดาวได้อย่างไร พระองค์จึงรับสั่งว่า “ตอนเป็นเด็กฉันอยากเป็นนักดาราศาสตร์ แต่ต่อมาจำเป็นต้องเปลี่ยนอาชีพ” ทีมงานจึงได้น้อมนำพระราชปรารภเรื่องฐานกล้องไปศึกษาต่อ พบว่าฐานกล้องแบบบริติส หรืออิงลิช อิเควตอเรียลไม่มีใครใช้แล้ว เพราะประเทศที่อยู่ละติจูดสูงอย่างอเมริกา ยุโรป เขาใช้เยอรมันอิเควตอเรียลได้ หรือถ้าของใหม่เขาจะออกแบบเป็นอัลตาซิมุตกัน เดิมทีสมัยที่อังกฤษมีอาณานิคมอยู่ประเทศแถบละติจูดต่ำ เมื่อสร้างกล้องดูดาวจึงต้องใช้แบบบริติส เท่านั้น เมื่อหมดยุคอาณานิคมจึงไม่มีการพัฒนากล้องดูดาวแบบบริติส ทีมงานได้สืบเสาะจนทราบว่า มีกล้องแบบบริติชแท้ ๆ อยู่หอดูดาวโลเวล รัฐแอริโซนา ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นกล้องที่นักดาราศาสตร์ชาวอเมริกาที่ค้นพบดาวพลูโตเมื่อปี ค.ศ.1930 จึงเดินทางไปดู แต่ก็ไม่พบ ผู้ดูแลบอกว่ากล้องดังกล่าวปัจจุบันอยู่ในพิพิธภัณฑ์ข้าง ๆ ยิ่งเมื่อทราบว่าจะขอถ่ายภาพเพื่อนำไปทำถวายพระเจ้าแผ่นดินไทย ผู้ดูแลจึงยินดีให้ถ่ายภาพและวัดขนาดแกนตามสะดวก

การดำเนินงานโครงการ ROTAR 2 ใช้เวลาทำ 2 ปี แม้จะมีประสบการณ์จากโครงการเดิม แต่ระบบซับซ้อนมากขึ้นทั้งกลไกขับแกนและเลนส์ อีกทั้งเลนส์หายากและมีราคาแพง จนกระทั่งทราบว่ามีเลนส์ที่แกะมาจากกล้องของกองทัพสหรัฐ จึงได้ติดต่อขอซื้อในราคา 1 ล้านบาท เป็นเลนส์ริชชี่ขนาด 500 มม.ที่มีความหนาถึง 4 นิ้ว แถมเนื้อเลนส์เป็นเซรามิก สภาพดีมาก ทำให้กล้อง ROTAR 2 เสร็จตามกำหนด ทดสอบที่คลองหก เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550

เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โปรดเกล้าฯ ให้คณะทำงาน นำโดย รศ.ดร.นำยุทธ สงค์ธนาพิทักษ์ อธิการบดีในสมัยนั้น เข้าเฝ้าฯ ถวายกล้องดูดาว ROTAR 2 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชกระแสรับสั่งว่า “กล้องเสร็จแล้ว”  นำความปลาบปลื้มให้ทีมงานอย่างหาที่สุดมิได้ และ มีรับสั่งว่า ให้นำกล้อง ROTAR 2 ไปติดตั้งที่ดาดฟ้าโรงเรียนวังไกลกังวล ส่วนกล้อง ROTAR 1 ให้ติดตั้งที่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี

โดย รศ.ดร.ประเสริฐ กล่าวว่า วันที่ 25 ตุลาคม 2555 เป็นวันที่สร้างความปลาบปลื้มมายังชาว มทร.ธัญบุรี เป็นอย่างมาก พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามหอดูดวงอาทิตย์ให้กับมหาวิทยาลัยฯ โดยใช้นามว่า “หอสุริยทัศน์ราชมงคล” ทั้งยังพระราชทานความหมายว่า “หอเป็นที่ดูดวงอาทิตย์อันเป็นศรีมงคลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ซึ่งหอดูดวงอาทิตย์แห่งนี้เป็นหอดูพระอาทิตย์คู่กับหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ โรงเรียนวังไกลกังวล

นับเป็นบุญของชาวมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ที่ได้ถวายงานสำคัญงานนี้ และได้สัมผัสถึงพระอัจฉริยภาพของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช ที่มีต่อการศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ และดาราศาสตร์ไทย.
–จบ–

c-161106035078_page_1c-161106035078_page_2

c-161106035078

c-161106004070-1

c-161106004070-2

c-161106004070

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]