รายงานพิเศษ: ‘คุณภาพชีวิต – สร้างอนาคต’ ตามรอยเท้าพ่อของแผ่นดิน

สยามรัฐ ฉบับวันที่ 13 ต.ค. 2564
เวียนมาบรรจบครบรอบอีกครั้ง ในวันที่คนไทยทั่วโลกต่างต้องหลั่งน้ำตากันอย่างไม่อายใครกับการสูญเสียคนที่รักที่ไม่มีวันหวนกลับ ในการ “สวรรคตของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร” (รัชกาลที่ 9) ผู้ซึ่งเปรียบเสมือน “พ่อของแผ่นดิน” ซึ่งตรงกับวันที่ 13 ตุลาคม โดยการจากไปของพระองค์จะจากไปแต่เพียงพระวรกาย แต่สิ่งที่พระองค์ทรงได้กระทำไว้ให้กับคนไทยทุกคน ไม่เคยเลือนหายไปจากความทรงจำ และยังคงยึดเป็นแนวทางในการปฏิบัติตน อย่างที่พระองค์ทรงมอบไว้เป็นแนวทาง
ทั้งนี้ตลอดระยะเวลาที่พระองค์ทรงครองราชย์ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่างๆ เพื่อให้ประชาชนได้อยู่ดี กินดี อาทิ “แนวทางเศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนคุ้นหู เพราะเคยได้เรียนรู้และเคยได้ยินกันบ่อยๆ แต่กลับมีน้อยคน ที่จะเข้า ใจหลักปรัชญา และการใช้ชีวิตแบบพอเพียงตามแบบอย่างที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำริไว้เป็นแนวทางการพัฒนา ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานทางสายกลางความไม่ประมาท ไม่ฟุ่มเฟือย คำนึงถึงความพอประมาณความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเองตลอดจนการใช้ความรู้และคุณธรรมเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิต โดยมีใจความสำคัญ คือ สติ ปัญญาและความเพียร ซึ่งเป็นบันไดสู่ความสุขในการดำเนินชีวิตอย่างแท้จริง
เศรษฐกิจพอเพียงกับทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ :
เศรษฐกิจพอเพียงและแนวทางปฏิบัติของทฤษฎีใหม่ เป็นแนวทางในการพัฒนาที่นำไปสู่ความสามารถในการพึ่งตนเอง ในระดับต่างๆ อย่างเป็นขั้นตอน โดยลดความเสี่ยงเกี่ยวกับความผันแปรของธรรมชาติ หรือการเปลี่ยนแปลงจากปัจจัยต่างๆโดยอาศัยความพอประมาณและความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี มีความรู้ ความเพียรและความอดทน สติและปัญญา การช่วยเหลือซึ่งกันและกันและความสามัคคี
ทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ : มีอยู่2 แบบ คือ แบบพื้นฐานกับแบบก้าวหน้า
ความพอเพียงในระดับบุคคลและครอบครัวโดยเฉพาะเกษตรกร เป็นเศรษฐกิจพอเพียง แบบพื้นฐานเทียบได้กับทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 1 ที่มุ่งแก้ปัญหาของเกษตรกรที่อยู่ห่างไกลแหล่งน้ำ ต้องพึ่งน้ำฝนและประสบความเสี่ยงจากการที่น้ำไม่พอเพียงแม้กระทั่งสำหรับการปลูกข้าวเพื่อบริโภค และมีข้อสมมติว่า มีที่ดินพอเพียงในการขุดบ่อเพื่อแก้ปัญหาในเรื่องดังกล่าวจากการแก้ปัญหาความเสี่ยงเรื่องน้ำจะทำให้เกษตรกรสามารถมีข้าวเพื่อการบริโภคยังชีพในระดับหนึ่งได้ และใช้ที่ดินส่วนอื่นๆ สนองความต้องการพื้นฐานของครอบครัว รวมทั้งขายในส่วนที่เหลือเพื่อมีรายได้ที่จะใช้เป็นค่าใช้จ่ายอื่นๆที่ไม่สามารถผลิตเองได้ ทั้งหมดนี้เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันในตัวให้เกิดขึ้นในระดับครอบครัว อย่างไรก็ตาม แม้กระทั่ง ในทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 1 ก็จำเป็นที่เกษตรกรจะต้องได้รับความช่วยเหลือจากชุมชนราชการ มูลนิธิและภาคเอกชน ตามความเหมาะสม
ความพอเพียงในระดับชุมชนและระดับองค์กร เป็นเศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้าซึ่งครอบคลุมทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 2 เป็นเรื่องของการสนับสนุนให้เกษตรกรรวมพลังกันในรูปกลุ่มหรือสหกรณ์หรือการที่ธุรกิจต่างๆ รวมตัวกันในลักษณะเครือข่ายวิสาหกิจ กล่าวคือเมื่อสมาชิกในแต่ละครอบครัวหรือองค์กรต่างๆ มีความพอเพียงขั้นพื้นฐานเป็นเบื้องต้นแล้วก็จะรวมกลุ่มกันเพื่อร่วมมือกันสร้างประโยชน์ให้แก่กลุ่ม และส่วนรวมบนพื้นฐานของการไม่เบียดเบียนกัน การแบ่งปันช่วยเหลือซึ่งกันและกันตามกำลังและความสามารถของตนซึ่งจะสามารถทำให้ ชุมชนโดยรวมหรือเครือข่ายวิสาหกิจนั้นๆ เกิดความพอเพียงในวิถีปฏิบัติอย่างแท้จริง
อีกสิ่งหนึ่งที่พระองค์ทรงมีความสามารถ ที่เกี่ยวกับการสื่อสาร โดยเปรียบเสมือน”พระบิดาแห่งวงการสื่อสารไทย” ซึ่งอย่างที่ทราบกันเป็นอย่างดีว่าทุกพระราชกรณียกิจที่ พระองค์ได้ทรงทำนั้นไม่ได้ทำเพียงเพื่อตัวของพระองค์เอง แต่
พระองค์ทรงทำเพื่อพสกนิกรชาวไทยของพระองค์ให้มีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นด้วยอัฉริยภาพของพระองค์ได้เล็งเห็นความสำคัญในการใช้เครื่องมือสื่อสารและเทคโนโลยี
1. วิทยุสื่อสาร
มีการพัฒนาด้านระบบวิทยุสื่อสาร ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น พระองค์ทรงใช้เครื่องมือ สื่อสารพกติดพระองค์ เพื่อประกอบพระราชกรณียกิจต่างๆและรับสั่งผ่านทางวิทยุถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตัวอย่างเช่น การปฏิบัติการฝนเทียมในระยะแรกได้ประสบปัญหาเรื่องสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงโดยไม่ทราบล่วงหน้า การที่ยังไม่มีการติดต่อสื่อสารระหว่างผู้ปฏิบัติการด้วยกัน ส่งผลให้การปฏิบัติงานไม่ได้ ผลเท่าที่ควร และเมื่อพระองค์ทรงทราบถึงปัญหาการขาดการติดต่อสื่อสารที่ดี จึงโปรดเกล้าฯให้ติดตั้งวิทยุให้แก่หน่วยปฏิบัติการฝนเทียม ทั้งทางอากาศและทางภาคพื้นดิน
2. วิทยุกระจายเสียง
ในปี พ.ศ.2495 พระองค์ได้ทรงตั้งสถานีวิทยุอ.ส. ขึ้นที่พระราชวังสวนดุสิต และชื่อสถานีวิทยุดังกล่าวได้ทรงนำมาจากอักษรย่อของพระที่นั่งอัมพรสถานซึ่งเป็นสถานที่ที่ใช้ออกอากาศครั้งแรกต่อมาจึงย้ายสถานีวิทยุ อ.ส. เข้าไปตั้งในบริเวณพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เพื่อเปิดโอกาสให้พสกนิกรมีช่องทางในการติดต่อกับพระองค์ได้ง่ายขึ้นไม่ต้องผ่านกระบวนการขั้นตอนตามพิธีการเหมือนในสมัยก่อน ทรงใช้สถานีวิทยุเพื่อเป็นสื่อในการประชาสัมพันธ์ติดต่อข่าวสารกับประชาชนและเป็นสื่อสัมพันธ์ระหว่างพระองค์และประชาราษฎร์ เมื่อเกิดวาตภัยที่แหลมตะลุมพุก ในปีพ.ศ.2505 โดยมีพระราชดำริให้ใช้สถานีวิทยุ อ.ส. เพื่อทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการช่วยเหลือผู้ประสบเคราะห์กรรมจนเป็นบ่อเกิดของมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ นโยบายหลักเกี่ยวกับการบริหารงานของสถานี ตามที่พระองค์พระราชทานไว้ก็คือ การเปิดโอกาสให้คนที่มีความรู้ ความสามารถ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยราชการหรือเอกชน ได้เข้ามาสนองพระมหากรุณาธิคุณให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ดังนั้นเจ้าหน้าที่ ของสถานีจึงเป็นอาสาสมัครทั้งสิ้น และทรงรับภาระต่างๆด้านสถานีด้วยทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ พระองค์ทรงใช้นโยบายประหยัดและใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่าที่สุด
3. คอมพิวเตอร์
ใน 2529 ม.ล.อัศนี ปราโมช องคมนตรีได้ซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์แมคอินทอช พลัสซึ่งเป็นคอมพิวเตอร์ที่ทันสมัยที่สุดในยุคนั้นขึ้นทูลเกล้าฯถวายพระองค์ท่านจึงทรงใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ด้วยพระองค์เองเป็นครั้งแรก ในเวลาต่อมาพระองค์ ไม่เพียงแต่ทรงงานด้วยคอมพิวเตอร์เท่านั้น หากแต่ทรงสนพระทัยในการศึกษาเทคนิคการทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์ชนิดต่างๆ บางครั้งได้ทรงเปิดเครื่องออกดูระบบภายในเครื่องด้วยพระองค์เอง ทรงปรับปรุงซอฟต์แวร์ใหม่ขึ้นมาใช้เอง และบางครั้งทรงแก้ไขปรับปรุงซอฟต์แวร์ในเครื่อง เช่น โปรแกรมภาษาไทย CU Writer ให้เป็นไปตาม พระราชประสงค์นอกจากนี้พระองค์ทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญของการสื่อสารว่า การสื่อสาร เป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินธุรกิจทุกประเภท, การสื่อสารเป็นหัวใจของความมั่นคงของประเทศ และการสื่อสารเป็นองค์ประกอบที่สำคัญยิ่งในการพัฒนาประเทศให้ประชาชนอยู่ดีกินดี
4. ดาวเทียม
ดาวเทียมไทยคม คือจุดเปลี่ยนที่ทำให้การสื่อสารโทรคมนาคมของไทย ก้าวสู่ยุคแห่งความล้ำหน้า มีการนำดาวเทียมไทยคม เข้าไปใช้ในกิจการด้านการเรียนการสอน เป็นการสนองตอบความต้องการของประชาชน และเป็นการปรับปรุงในเรื่องของการศึกษาให้สอด คล้องกับยุคสมัย กล่าวได้ว่า พระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเป็นอเนกอนันต์ต่อประเทศชาติ ที่ได้มีพระราชดำริ ให้มีการพัฒนางานทางระบบวิทยุสื่อสารขึ้นในประเทศอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง เพราะสังคมปัจจุบันนั้นการสื่อสารก็เปรียบเสมือนกับระบบประสาทของร่างกายมนุษย์ ดังนั้นจึงนับได้ว่า พระองค์ท่านนั้นมีสายพระเนตรที่ยาวไกล ทรงเห็นบทบาทที่สำคัญยิ่งต่อการสื่อสาร
5. ประดิษฐ์ตัวอักษรไทยบนคอมพิวเตอร
ทรงสนับสนุนให้มีการค้นคว้าในทางวิทยาการคอมพิวเตอร์ ทรงศึกษาคิดค้นสร้างโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อการประมวลผลข้อมูลต่างๆ ด้วยพระองค์เอง ทรงประดิษฐ์รูปแบบตัวอักษรไทยที่มีลักษณะงดงาม เพื่อแสดงผลบนจอคอมพิวเตอร์และเครื่องพิมพ์เมื่อประมาณเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2530 หลังจากที่พระองค์ทดลองใช้งานโปรแกรม Fontastic สร้างตัวอักษรภาษาไทยและภาษาอังกฤษรูปแบบและขนาดต่างๆ สิ่งที่ทรงสนพระทัยเป็นพิเศษคือการ ประดิษฐ์ตัวอักษรไทยพระองค์ทรงใช้เวลาที่พอว่างจากพระราชกรณียกิจต่างๆ ในการสร้างตัวอักษรด้วยคอมพิวเตอร์ เช่นฟอนต์จิตรลดา, ฟอนต์ภูพิงค์ฯลฯ ที่ทรงประดิษฐ์ด้วยพระองค์เอง ทรงสนพระทัยประดิษฐ์อักษรขนาดใหญ่ที่สุดจนถึงขนาดเล็กที่สุด นอกจากนี้ยังตั้งพระทัยในการประดิษฐ์อักษร ภาษาอื่นๆ เพิ่มขึ้นคือภาษาสันสกฤต
6.ตรวจสภาวะอากาศผ่านระบบอินเตอร์เน็ต
เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2538 ได้เกิดเหตุไต้ฝุ่นแองเจลา (Angela) ทำความเสียหาย ให้กับประเทศฟิลิปปินส์ และคาดว่าจะเข้าสู่ประเทศไทยในเวลาต่อมาทางกรมอุตุนิยมวิทยาได้แจ้งเตือนประชาชนชาวไทยให้เตรียมระวังอันตรายที่เกิดขึ้นในวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2549 วันที่พระองค์กำลังเข้าห้องผ่าตัดกระดูกสันหลังในอีก 5 ชั่วโมง ทรงรับสั่งให้ข้าราชบริพารไปติดตั้งเดินสายระบบออนไลน์ไว้ เพราะกำลังมีพายุเข้าประเทศ พระองค์จะได้ติดตามความเคลื่อนไหวนี้อยู่ตลอดเวลาได้พระราชทานความเห็นว่าไม่ควรตระหนกแต่อย่างใดเนื่องจากไต้ฝุ่นได้อ่อนกำลังลงเมื่อเคลื่อนที่เข้าสู่ประเทศเวียดนาม และได้แปรสภาพเป็นความกดอากาศขนาดย่อมเท่านั้น
7.พระไตรปิฎกฉบับคอมพิวเตอร์
โครงการพระไตรปิฎกฉบับคอมพิวเตอร์เป็นหนึ่งในโครงการพระราชดำริ เพื่อทำให้การศึกษาพระไตรปิฎกและชุดอรรถกถา เป็นไปอย่างสะดวกรวดเร็วและแม่นยำ รวมทั้งยังสะดวกต่อการเผยแพร่อีกด้วย เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2534 พระองค์ทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ บริจาคทรัพย์ส่วนพระองค์ ให้กับมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อจัดทำโครงการพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษาพระไตรปิฎกและอรรถกถา ในชื่อ BUDSIR IV
8.ส.ค.ส.พระราชทานด้วยคอมพิวเตอร์
ทรงใช้เครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อประดิษฐ์บัตรส.ค.ส.พระราชทานพรแก่พสกนิกรชาวไทย ในโอกาสวันขึ้นปีใหม่เป็นประจำทุกปีเมื่อเทคโนโลยีพัฒนาขึ้น จึงได้ทรงเริ่มต้นประดิษฐ์ ส.ค.ส.พระราชทาน ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วน พระองค์เมื่อปี พ.ศ. 2531 โดยทรงพิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์ขาวดำ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้โทรสาร(แฟกซ์) พระราชทานไปยังหน่วยงานต่างๆ โดยข้อความใน ส.ค.ส.พระราชทาน แต่ละปี จะประมวลขึ้นจากเหตุการณ์บ้านเมือง เพื่อสะท้อนให้เห็นปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ที่ประเทศไทยต้องประสบ ในรอบ1ปีที่ผ่านมาในปีต่อๆ มาหนังสือพิมพ์รายวันได้นำลงตีพิมพ์ ในฉบับเช้าวันที่ 1 มกราคม เพื่อให้พสกนิกรได้ชื่นชมอย่างทั่วถึง
อีกพระราชกรณียกิจในเรื่องของการยกระดับการเดินทาง โดยนับเป็นประวัติศาสตร์ชาติไทยได้จารึกถึงพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ไทยที่สนพระราชหฤทัยระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ คือรถไฟฟ้าใต้ดิน เพื่อแก้ปัญหาจราจรอย่างเป็นรูปธรรมซึ่งพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด”การเดินรถโครงการ”รถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (หัวลำโพง-บางซื่อ)” ที่สถานีรถไฟฟ้าหัวลำโพง ซึ่ง ณ สถานที่เดียวกัน เมื่อ108 ปี ก่อนหน้านี้ คือ เมื่อปี พ.ศ. 2439 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จฯ ทรงประกอบพิธีเปิดการเดินรถไฟหลวงสายแรกของประเทศไทย ระหว่างกรุงเทพฯ-อยุธยา ณ สถานีหัวลำโพง เช่นเดียวกัน
พระองค์ทรงประทับรถไฟฟ้าพระที่นั่งขบวนที่1 หมายเลขตู้รถไฟฟ้าพระที่นั่ง 1014 โดยประทับยังที่นั่งผู้โดยสารปกติตั้งแต่สถานีรถไฟฟ้าหัวลำโพงไปยังสถานีรถไฟฟ้าบางซื่อและกลับมายังศูนย์ซ่อมบำรุงฯ รวมระยะทาง 29 กิโลเมตรและ ณ ที่ศูนย์ซ่อมบำรุงฯพระองค์ทรงสนพระราชหฤทัยหลายเรื่องเช่นการคืนผิวหลังการก่อสร้างเสร็จ สภาพถนนดีกว่าเดิมหรือไม่ การก่อสร้างที่สถานีสีลมที่ต้องตัดตอม่อสะพานข้ามทางแยกแล้วสร้างตอม่อใหม่บนหลังคาสถานี รวมถึงการแก้ปัญหาจราจร เนื่องจากระยะทางหัวลำโพง-บางซื่อเป็นระยะทางที่สั้นเพียง20 กม.เท่านั้นนอกจากนี้พระองค์ทรงซักถามถึงขั้นตอนการทำงานของระบบคอมพิวเตอร์ควบคุมการเดินรถไฟฟ้าด้วยความสนพระราชหฤทัย และราคาค่าโดยสารที่จะต้องไม่ทำให้คนไทยเดือดร้อน
พระราชกรณียกิจ”โครงการชั่งหัวมันตามพระราชดำริ” ตั้งอยู่ใน อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี เกิดขึ้นจากความเอาพระทัยใส่ของพระองค์ ที่ทรงมีต่อเกษตรกรในการที่จะพัฒนาส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรมให้ประสบความสำเร็จและสามารถเลี้ยงดูตัวเอง และครอบครัวได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้โครงการตั้งอยู่ท่ามกลางหุบเขา ในพื้นที่แห่งนี้ สภาพเดิมโดยทั่วไปแห้งแล้งเจ้าของเดิมปลูกต้นยูคาลิปตัสตัดไม้ขาย มีแปลงปลูกมะนาวเดิมอยู่ประมาณ35 ไร่แปลงอ้อยประมาณ30 ไร่ การพัฒนาพื้นที่ส่วนที่เป็นแปลงยูคาลิปตัสทั้งหมด แต่ปัจจุบันได้ จัดสรรทำการเกษตรเป็นอย่างดีมีทั้งแปลงพืชเศรษฐกิจ ที่ปลูกหลายชนิด อาทิสับปะรด มะนาว มะพร้าว รวมทั้งมันเทศนอกเหนือจาก พืชเศรษฐกิจในพื้นที่ ก็ยังมีการปลูกไม้ผล พืชไร่และพืชผักต่างๆ อาทิ แก้วมังกร ชมพู่เพชร กล้วยฟักทอง กะเพรา โหระพา พริก ฯลฯ มีแปลงปลูกข้าว ทั้งข้าวเจ้าและข้าวเหนียว ปลูกยางพารา โดยทั้งหมดนี้จะเน้นไม่ให้มีการใช้สารเคมี หรือหาก ต้องใช้ก็ต้องมีในปริมาณ ที่น้อยที่สุด มีฟาร์มโคนมฟาร์มไก่ และแปลงเกษตรที่จัดเป็นสวนสวยให้คนที่แวะมาเยี่ยมชม
 นอกจากนี้ ได้สร้างกังหันลมผลิตไฟฟ้าขายให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี และบริษัทพระพายเทคโนโลยี จำกัด ร่วมกันออก แบบติดตั้ง กังหันลมและระบบจำหน่ายไฟฟ้าจำนวน 20 ชุด ขนาดกำลังผลิตรวม 50 KW ได้รับการสนับสนุนงบประมาณบางส่วนจากกองทัพบก และได้รับพระราชทานวัวนมจากโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดามาเลี้ยงไว้ที่นี่ โดยใช้พื้นที่ใต้กังหันลมเป็นพื้นที่ปลูกหญ้าสำหรับเลี้ยงวัว
ส่งท้ายกับพระราชกรณียกิจ”โครงการพระราชดำริฝนหลวง” เป็นโครงการที่ก่อกำเนิดจากพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่ทรงห่วงใยในความทุกข์ยากของพสกนิกรในท้อง ถิ่นทุรกันดารซึ่งต้องประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ เพื่ออุปโภคบริโภคและใช้ในการเกษตรกรรม อันเนื่องมาจากภาวะแห้ง แล้งที่มีสาเหตุจากความผันแปร และคลาดเคลื่อนของฤดูกาลตามธรรมชาติ คือ ฤดูฝนเริ่มต้นล่าช้าเกินไปหรือหมดเร็วกว่าปกติ หรือฝนทิ้งช่วงยาวในช่วงฤดูฝนซึ่งสร้างความเดือดร้อนให้แก่ราษฎร ในทุกภาคของประเทศ ส่งผลถึงความเสียหายต่อเศรษฐกิจโดยรวมของชาติคิดเป็นมูลค่ามหาศาลในแต่ละปี
ทั้งนี้ระหว่างทางที่เคยเสด็จพระราชดำเนินทั้งภาคพื้นดิน และทางอากาศยานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสังเกตเห็นว่ามีเมฆปริมาณมากปกคลุมท้องฟ้า แต่ไม่สามารถก่อรวมตัวกันจนเกิดเป็นฝนได้ เป็นเหตุให้เกิดภาวะฝนทิ้งช่วงระยะยาวทั้งๆ ที่เป็น ช่วงฤดูฝน ทรงคิดคำนึงว่า น่าจะมี”มาตรการทางวิทยาศาสตร์” ที่จะช่วยให้เมฆเหล่านั้นก่อรวมตัวกันจนเกิดเป็นฝนได้ ทรงเชื่อมั่นว่า ด้วยลักษณะของกาลอากาศ ภูมิอากาศและภูมิประเทศของประเทศไทยซึ่งตั้งอยู่ในภูมิภาคเขตร้อน และอยู่ในอิทธิพลของฤดูมรสุมของทวีปเอเชีย โดยเฉพาะฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นฤดูฝน และเป็นฤดูเพาะปลูกประจำปีของประเทศไทย จะสามารถดัดแปรสภาพอากาศ ให้เกิดเป็นฝนตกได้
ดังนั้นตั้งแต่พ.ศ.2498เป็นต้นมา พระองค์ทรงศึกษาจนทรงมั่นพระทัย ก่อนพระราชทานแนวคิดนี้แก่ ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล ผู้เชี่ยวชาญในการวิจัยประดิษฐ์ทางด้านเกษตรวิศวกรรม ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในขณะนั้น และในปีถัดมา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้หาลู่ทางที่จะทำให้เกิดการทดลองปฏิบัติการบนท้องฟ้า
กระทั่งในปี พ.ศ.2512 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดตั้งหน่วยบินปราบศัตรูพืชกรมการข้าว เพื่อให้การสนับสนุนในการสนองพระราชประสงค์ โดยในปีเดียวกันนั้นเอง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ทำการ ทดลองปฏิบัติการจริงในท้องฟ้าเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 1-2 กรกฎาคม พ.ศ.2512 โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แต่งตั้งให้ ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล เป็นผู้อำนวยการโครงการและหัวหน้าคณะปฏิบัติการทดลองคนแรกและเลือกพื้นที่วนอุทยานเขาใหญ่เป็นพื้นที่ทดลองแห่งแรก
ต่อมาได้มีปฏิบัติการโดยทดลองหยอดก้อนน้ำแข็งแห้ง ขนาดไม่เกิน 1 ลูกบาศก์นิ้วเข้าไปในยอดเมฆสูงไม่เกิน 10,000 ฟุต ที่ลอยกระจัดกระจายอยู่เหนือพื้นที่ทดลองในขณะนั้น ทำให้กลุ่มเมฆทดลองเหล่านั้น มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดจนเกิดการกลั่นรวมตัวกันหนาแน่น และก่อยอดสูงขึ้นเป็นเมฆฝนขนาดใหญ่ในเวลาอันรวด เร็วแล้ว และจากการติดตามผลโดยการสำรวจทางภาคพื้นดินก็ได้รับรายงานยืนยันจากราษฎรว่า เกิดฝนตกลงสู่พื้นที่บริเวณวนอุทยานเขาใหญ่ในที่สุด การทดลองดังกล่าวจึงเป็นนิมิตหมายที่ดี ที่บ่งชี้ให้เห็นว่า การบังคับเมฆให้เกิดฝนเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ และความสำเร็จดังกล่าว ยังส่งผลให้มีการพัฒนา ปรับปรุง และต่อยอดโครงการฝนหลวงมาจนถึงปัจจุบัน
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงเศษเสี่ยวหนึ่งที่พระองค์ได้ทรงพระราชทานให้ไว้กับพสกนิกรของพระองค์ให้ได้มีชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งถึงแม้พระองค์จะทรงจากไปแต่พระองค์ก็ยังสถิตในดวงใจของคนไทยทุกคน

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]