วัสดุก่อสร้างจากขยะพลาสติก ช่วยชาวเล ประมง ช่วงโควิด

ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2564
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เผยถึง โครงการขยะทะเล…สู่…การเพิ่มรายได้ชุมชนระยอง ที่ทำร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี กลุ่มบริษัทดาวประเทศไทยด้วยการถ่ายทอดนวัตกรรมการผลิตวัสดุก่อสร้างจากพลาสติกใช้แล้วให้กับวิสาหกิจชุมชนส่งเสริมอาชีพชุมชนเกาะกกและหมู่บ้านเอื้ออาทรจังหวัดระยอง (วังหว้า) เป็นการแก้ไขปัญหาและการจัดการขยะอย่างครบวงจร ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทำให้เกิดความยั่งยืน โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสร้างมูลค่าเพิ่มให้ขยะพลาสติกสร้างรายได้แก่ชุมชน โดยเฉพาะในช่วงโควิดระบาดทำให้เกิดการสร้างเครือข่ายร่วมกันระหว่างภาครัฐ สถาบันการศึกษา ภาคเอกชน และชุมชนในพื้นที่นำไปสู่การผลักดันนโยบาย สร้างความตระหนักต่อปัญหาการจัดการขยะในวงกว้าง จนสามารถสร้างระบบเศรษฐกิจแบบหมุนเวียนที่มุ่งลดของเสีย และใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
โดยสถาบันการศึกษาทั้งสองแห่งที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก วช.ร่วมคิดค้นและวิจัยออกแบบนวัตกรรมในการนำขยะพลาสติกจากท้องทะเลมาเป็นวัตถุดิบในวัสดุก่อสร้างอาทิกระเบื้องสนาม กระถางต้นไม้ บล็อกปูพื้น คอนกรีตบล็อก และขอบคันหิน เพื่อช่วยให้ผลิตภัณฑ์มีน้ำหนักเบา ช่วยระบายน้ำได้ดีขึ้น และลดการใช้วัสดุที่ใช้แล้วหมดไป เช่น ทรายและหิน หากนำก้อนอิฐไปทำเป็นวัสดุปูพื้นนอกอาคาร ก็จะช่วยลดความร้อนของพื้นผิว สามารถเดินหรือทำกิจกรรมในเวลากลางแจ้งได้ ขณะที่มีบริษัทเอกชนเป็นตัวกลางประสานให้ชุมชนเข้าถึงนวัตกรรม รวมถึงสนับสนุนด้านเครื่องมือเครื่องจักร รวมถึงให้คำแนะนำกับชุมชน
ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์วัสดุก่อสร้างที่ได้จากโครงการนี้มีมาตรฐานเทียบเท่ามาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ปลอดภัยต่อคนและสิ่งแวดล้อม ใช้สำหรับการก่อสร้างภายนอกอาคาร โดยจะใส่พลาสติกทดแทนหินและทรายในสัดส่วน 0.4-1.5 กก.ต่อชิ้น ทำให้มีราคาถูกกว่าวัสดุก่อสร้างทั่วไป แต่มีความคงทนเทียบเท่าของเดิม โดยคาดว่าโครงการนี้จะช่วยสร้างรายได้ให้ชุมชนกว่าปีละ 400,000-1,500,000 บาท และช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกได้ปีละ 30 ตัน
นับเป็นอีกก้าวสำคัญในการเพิ่มมูลค่าให้กับขยะ ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรม ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม เป็นต้นแบบความร่วมมือในการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีมาแก้ปัญหาด้วยความร่วมมือของชุมชนสนใจอุดหนุนวัสดุก่อสร้างผสมพลาสติกใช้แล้ว ติดต่อได้ที่ 06-5453-9466.

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]