‘นวนุรักษ์แพลตฟอร์ม’อนุรักษ์วัฒนธรรมล้ำค่าผ่านการประกวดนักเล่าเรื่องท้องถิ่น

ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2564
ปิดฉากลงแล้วสำหรับโครงการประกวดเรื่องเล่า “NAVANURAK Story Creator Challenge 2020” ณ สถาบันไทยเบิ้งโคกสลุงเพื่อการพัฒนา จังหวัดลพบุรี ที่เป็นการหลอมรวมระหว่างศิลปวัฒนธรรม ผ่านเยาวชนผู้เข้าร่วมแข่งขันกับเจ้าของวัฒนธรรมในชุมชน เป็นเรื่องราวที่มีพลัง ผ่านแพลตฟอร์มนวนุรักษ์ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งจะนำไปขยายผลสู่ชุมชนอื่นผ่านเครือข่ายพันธมิตร เน้นสร้างคนรุ่นใหม่และนักเล่าเรื่องในท้องถิ่น เพื่อสร้างความยั่งยืนทางด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมต่อไป
ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เนคเทค สวทช. กล่าวว่า นวนุรักษ์แพลตฟอร์ม หรือแพลตฟอร์มคลังข้อมูลวัฒนธรรมเพื่อการอนุรักษ์มรดกไทย ซึ่งเป็นระบบบริหารจัดการคลังข้อมูลวัฒนธรรมดิจิทัล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บข้อมูลอย่างมีระบบ โดยข้อมูลวัฒนธรรมที่จัดเก็บต้องสนับสนุนบริการข้อมูลในลักษณะโครงสร้างแบบเปิด “Open Data” เพื่อให้เกิดการแบ่งปันข้อมูล นำไปต่อยอดสร้างประโยชน์ โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ ซึ่งการพัฒนาดังกล่าวนั้นต้องอยู่บนพื้นฐานของการใช้องค์ความรู้ และความคิดสร้างสรรค์ เชื่อมโยงกับทุนทางวัฒนธรรมและความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อรังสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ หรือบริการรูปแบบใหม่ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น สามารถเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวผ่านระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ได้ เช่น การท่องเที่ยวเชิงอาหาร การท่องเที่ยวเชิงศิลปะและวัฒนธรรม เป็นต้น ซึ่งมีศักยภาพในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ประเทศด้วยการกระจายแหล่งท่องเที่ยวสู่เมืองรอง โดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบดิจิทัล สามารถเข้าไปช่วยสนับสนุนสินค้าและบริการที่ดำเนินการโดยชุมชนท้องถิ่น เน้นความโดดเด่นของอัตลักษณ์แต่ละพื้นที่ เนคเทค-สวทช.มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสนำเทคโนโลยีมาช่วยบริหารจัดการเพื่อช่วยชุมชนพัฒนาสู่การท่องเที่ยวที่ยั่งยืน และส่งเสริมสินค้าและบริการผ่านของขวัญ ของฝาก ที่สร้างสรรค์อย่างมีอัตลักษณ์”
ดร.เทพชัย ทรัพย์นิธิ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยปัญญาประดิษฐ์ เนคเทค ในนามตัวแทนคณะจัดการแข่งขันประกวดเรื่องเล่า “NAVANURAK Story Creator Challenge 2020” กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้เป็นกิจกรรมส่งเสริมให้เกิดการสร้างสรรค์การเล่าเรื่องผ่านสื่อดิจิทัล โดยนำเสนอเรื่องราว เรื่องเล่า ความประทับใจในความงดงามของวัฒนธรรม วิถีชีวิตความเป็นอยู่ ภูมิปัญญา และแหล่งท่องเที่ยวในมุมมองใหม่ๆ สะท้อนความรู้สึกที่มีผ่านคลิปวิดีโอแนวสร้างสรรค์ เพื่อเชิญชวนและดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวแบบยั่งยืน และเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของไทย
โดยกิจกรรมในครั้งนี้ได้รับการสนับสนุน จากหน่วยงานต่างๆ ทั้งจากส่วนกลาง และหน่วยงาน ในพื้นที่มีหน่วยงานดังต่อไปนี้ 1.การรถไฟแห่งประเทศไทย 2.สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ 3.ททท. สำนักงานลพบุรี 4.วัฒนธรรมจังหวัดลพบุรี 5.มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี 6. สำนักงาน ธ.ก.ส.จังหวัดลพบุรี 7.อุตสาหกรรมจังหวัดลพบุรี 8.ท่องเที่ยวและ กีฬาจังหวัดลพบุรี 9.สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดลพบุรี 10.สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอพัฒนานิคม 11.องค์การบริหารส่วนตำบลโคกสลุง 12.สมาคมจิตอาสาสร้างสรรค์สุขภาวะลพบุรี ได้ร่วมแรงร่วมใจสนับสนุนให้กิจกรรมในพื้นที่ครั้งนี้ประสบความสำเร็จลุล่วงเป็นอย่างดี
นายประทีป อ่อนสลุง ผู้นำชุมชนวัฒนธรรมไทยเบิ้งบ้านโคกสลุง กล่าวขอบคุณทุกฝ่ายที่ร่วมจัดงาน และย้ำถึงการนำผลงานไปต่อยอดสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนว่า ผลที่ได้จากโครงการนี้ได้สร้างประโยชน์ในด้านการประชาสัมพันธ์อัตลักษณ์ที่ส่งคุณค่าของชุมชน ผ่านช่องทางการสื่อสารของชุมชนไทยเบิ้งบ้านโคกสลุง เพจชุมชน เว็บไซต์ ไลน์กลุ่มของชุมชน ส่วนในมุมมองของนวัตกรรม นับเป็นการส่งเสริมในพื้นที่ให้ใช้เครื่องมือนวนุรักษ์ ได้พัฒนารูปแบบการเก็บข้อมูลที่หลากหลาย เช่น ภาพเคลื่อนไหว ภาพนิ่งประกอบเรื่องเล่า รวมถึงความสำคัญของการสร้างคลังข้อมูลวัฒนธรรมชุมชนในด้านต่างๆ ของชุมชนโคกสลุง ที่ครอบคลุมทั้งด้านประเภท เนื้อหา รูปแบบ และการเผยแพร่ผ่านโลกดิจิทัล
“นอกจากความน่าสนใจที่ผมกล่าวมานี้ ความมีเสน่ห์ของชุมชนไทยเบิ้ง ยังเป็นอีกสิ่งที่คนที่ได้สัมผัสจะรู้สึกได้ถึงความอบอุ่น เรียบง่าย ในวิถีของคนไทยได้เป็นอย่างดี อีกทั้งพื้นที่ของชุมชนไทยเบิ้ง มีการเดินทางที่สะดวก และสามารถไปยังแหล่งท่องเที่ยวอื่นได้ ซึ่งทำให้สามารถผลักดันเป็นหนึ่งในสถานที่และเส้นทางการท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี” ผู้นำชุมชนวัฒนธรรมไทยเบิ้งบ้านโคกสลุงกล่าว
สำหรับผลการประกวดโครงการ NAVANURAK Story Creator Challenge 2020 รางวัลชนะเลิศ ได้รับเงินรางวัล 50,000 บาท ได้แก่ ผลงาน “ขอบคุณ ณ โคกสลุง” (https://bit.ly/3nAoksD) โดยทีม “BLACK LIGHT” จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ สมาชิกในทีมประกอบด้วย นางสาวเมธินี ศรีบุญเรือง นายต้นตะวัน สุวรรณศรี นายอาทิตย์ กันธิมา และนายภัทร์นิธิ กาใจ
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้รับเงินราง วัล 30,000 บาท ได้แก่ ผลงาน “ความทรงจำกับวัฒนธรรมที่ล้ำค่า สู่ภูมิปัญญาที่น่าจดจำ” (https://bit.ly/2R2S2dH) โดยทีม “BABY GROUP” จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี สมาชิกในทีมประกอบด้วย นายวิวัตณ์ เสาสุข นายนัฐภัทร เทศทนง นางสาวสุภานัน โตสกุล นางสาวสุภนิดา โตสกุล และนางสาวทิพวรรณ์ พรมตะ
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้รับเงินรางวัล 20,000 บาท ได้แก่ ผลงาน “บันทึก การเดินทาง ความทรงจำ (Travel memories)” (https://bit.ly/3vrfzUp) โดยทีม “WONDER” จากสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ สมาชิกในทีมประกอบด้วย นายอัฐฤทธิ์ วงค์ชัย นายสุตาภัทร กันผง และนายศุภวิชญ์ เอี่ยมกอง
รางวัลชมเชย 10,000 บาท จำนวน 3 รางวัล ได้แก่ ผลงาน “หัตถกรรมไทยเบิ้ง” (https://bit.ly/3t2KbdB) ทีม “Digital Local” จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา สมาชิกในทีมประกอบด้วย นางสาวพรนภา มูระคา นางสาวสุพรรษา แตงอ่อน นางสาวธัญญาพร แก้วคงบุญ นางสาวเกวลิน ปรีเปรม และนางสาวญาตาวี เอี่ยมศิริ
ผลงาน “สืบสานภูมิปัญญา พริกตะเกลือ” (https://bit.ly/3ufuxg0) ทีม “Victory” จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี สมาชิกในทีมประกอบด้วย นายพีรดนย์ ศรีทองดี นายพงศ์พนิช พีชะพัฒน์ นางสาวณภัสสร วงค์สูงเนิน และนางสาวนฤมล เกตุชีพ
ผลงาน “เสน่ห์สีกก” (https://bit.ly/2R9XJXq) ทีม “ARCH TRAVEL” จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี สมาชิกในทีมประกอบด้วย นายเอกรินทร์ กุ้ยวงตาล นางสาวบุษบา คำอยู่ นายพีรพัฒน์ สุโพธิ์ และนางสาวณิชากร ทับทิมเขียว
รางวัลพิเศษ 5,000 บาท จำนวน 2 รางวัล ได้แก่ ผลงาน “เส้นทางสู่โคกสลุง” (https://bit.ly/3aOzeGa) ทีม “Charlotte” จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา สมาชิกในทีมประกอบด้วย นางสาวสิริลักษณ์ ยะพิมสิน นางสาวสวภัทร กันฮก นายธนดล สมจิตต์ และนางสาวขวัญวิจิตร เปิงขุนทด, ผลงาน “พวงมโหตร ความงดงามของภูมิปัญญาชุมชนโคกสลุง” (https://bit.ly/3tb7lyx) ทีม “ขบวน 921” จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี สมาชิกในทีมประกอบด้วย นางสาวพิมพ์ชนก วุ้นกิ้ม นางสาว ปาณิสรา สิงห์ดวง และนายราชันย์ ลาคูบอน
รางวัล Popular Vote 1,000 บาท ได้แก่ ผลงาน “ความทรงจำกับวัฒนธรรมที่ล้ำค่า สู่ภูมิปัญญาที่น่าจดจำ” (https://bit.ly/2R2S2dH) ทีม “BABY GROUP” จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี สมาชิกในทีมประกอบด้วยนายวิวัตณ์ เสาสุข นายนัฐภัทร เทศทนง นางสาวสุภานัน โตสกุล นางสาวสุภนิดา โตสกุล และนางสาวทิพวรรณ์ พรมตะ
ผู้สนใจสามารถติดตามชมผลงานของผู้ชนะการประกวดและกิจกรรมต่างๆ ของโครงการได้ที่ www.facebook.com/navanurak/.

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]