นวัตกรรม Smart Home@Cloud มทร.ธัญบุรีควบคุมบ้านอัจฉริยะด้วยเทคโนฯ เอไอ

สยามรัฐ ฉบับวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2564
ชลธิชา ศรีอุบล มทร.ธัญบุรี
นวัตกรรม Smart Home@Cloud การควบคุมบ้านอัจฉริยะด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ผลงานวิจัย โดย รศ.ดร.กฤษณ์ชนม์ ภูมิกิตติพิชญ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี และทีมวิจัย
รศ.ดร.กฤษณ์ชนม์ เผยว่า Smart Home@Cloud ที่พัฒนาต้นแบบ เป็นการสานต่อแผนอนาคตของทีมวิจัยเพื่อจะทำให้ Home@Cloud หรือ Home Gateway ที่ทำงานด้วย HomeOS ระบบปฏิบัติการเฉพาะของบ้าน รองรับการจัดการไฟฟ้าและตอบรับเทคโนโลยี IoT พร้อมการป้องกันอันตรายจากไฟฟ้าทดแทนเบรกเกอร์กลศาสตร์ดั้งเดิม สร้างให้เกิด Self-Thinking Home พร้อม Electrical Platform ที่สามารถนำพารามิเตอร์ไฟฟ้าทุกมิติที่ส่งผ่าน CANBUS จากสมองกล CPU มายัง Platform ไม่ว่าจะเป็น I, V, Harmonics, Frequency, Power Factor, Phase, Peak, RMS เป็นต้น มาวิเคราะห์เจาะลึกเพื่อประมวลผลออกมาเป็นสาระให้กับผู้ใช้แต่ละภาคส่วนนำไปใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะภาครัฐในโครงการSmart Grid
โดยตัวเครื่อง Smart Home@Cloud มีเป้าหมายในการมาทดแทนเบรกเกอร์แบบเก่า ในการป้องกันปัญหาทางไฟฟ้าที่มีความสามารถป้องกันทุกปัญหาไฟฟ้า เพราะการอ่านคลื่นไฟฟ้าของสมองกลและการตัดต่อด้วยอิเล็กทรอนิกส์ ผู้ใช้สามารถเลือกการป้องกันได้ว่าจะให้ป้องกันเรื่องอะไร ตัดต่ออย่างไร โดยเฉพาะเหตุแห่งไฟไหม้และการเสียชีวิต ป้องกันมากแค่ไหน รวมถึงการจัดการการใช้พลังงานเป็นช่วงเวลา เป็นพื้นที่ ตั้งค่าพิกัดทางไฟฟ้าตามความเหมาะสม
เมื่อนำมาติดตั้งทดแทนก็จะทำให้เป็นสมองกลของบ้าน ซึ่งจะมีปัญญาประดิษฐ์ที่จะคอยเรียนรู้คลื่นไฟฟ้า นำมาคำนวณ และบันทึกไว้เพื่อเรียนรู้คลื่นปัญหาใหม่ๆ ทำให้การป้องกันแม่นยำขึ้นและสามารถพัฒนาอัลกอริทึมใหม่ๆให้เก่งขึ้นเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ใหม่ๆ ที่มนุษย์สามารถจินตนาการต่อยอด บ้านที่ฉลาดจาก Smart Home@Cloud ในอนาคตจะทำให้ตู้เย็นธรรมดาๆ สามารถพรรณนาว่า “ฉันกำลังจะไม่ไหวแล้ว มันไม่สามารถทำความเย็นได้อีกต่อไป” เพื่อเตือนเราและในขณะเดียวกันส่งสัญญาณเรียกช่างให้มาช่วยเราดูแลด้วย……..นี่แหละที่เรียกว่าบ้านฉลาดล้ำอย่างแท้จริงจากไฟฟ้าพรรณนา
สิ่งที่นักวิจัย มทร.ธัญบุรี มองเห็นในตอนนี้คือโอกาสของประเทศไทย จากวิกฤติโควิด ชัดเจนอยู่แล้วที่แต่ละประเทศต้องพึ่งพาเศรษฐกิจภายในประเทศของตนเอง คนและทรัพยากรของตนเองการขับเคลื่อนเทคโนโลยีจากภายใน นักวิจัยได้มองเห็นโอกาสให้นักพัฒนาคนไทยที่มีปัจจัยจำกัดกว่าประเทศอื่นได้ สามารถยกระดับตัวเองให้พัฒนาทันโลกตะวันตกได้ง่ายขึ้น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข็งขัน
เส้นทางพัฒนาจากสมองกลไฟฟ้าที่มาพร้อมปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence, AI) จึงต้องมีภาพชัดที่ทำให้ความได้เปรียบทางการแข่งขันของคนไทย ไม่ได้มีข้อจำกัดที่ความเหลื่อมล้ำทางองค์ความรู้ งานพัฒนาของทีมวิจัยจะสร้างให้คนไทยทุกคนสามารถมีหรือเข้าถึงองค์ความรู้เท่าทันกันผ่านความฉลาดล้ำของ Smart Home @Cloud ที่พัฒนาขึ้น ทำให้คนรู้สึกถึงความหมายของการเป็นมนุษย์ว่าเราไม่ได้ด้อยกว่าใคร ทางเลือกที่แตกต่างกันจะตัดสินใจจากความชอบความมุ่งมาดปรารถนาของแต่ละคนเท่านั้น ไม่อาจตัดสินจากความได้เปรียบในการเข้าถึงทรัพยากรความรู้ที่ไม่เท่ากัน รศ.ดร.กฤษณ์ชนม์กล่าวทิ้งท้าย

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]