นวัตกรรมสู้ภัยโควิด-19 ‘ป้องกัน – คัดกรอง – ฆ่าเชื้อ’

กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564
ทีมข่าวคุณภาพชีวิต
qualitylife4444@gmail.com
สถานการณ์โควิด-19 เป็นตัวเร่ง ที่ทำให้เทคโนโลยีทางการแพทย์ การรักษา และวัคซีน พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกัน ยังมีการเดินหน้าพัฒนานวัตกรรมต่างๆ ทั้งหน่วยงานของภาครัฐ เอกชน และมหาวิทยาลัย ในการหยิบเอาสิ่งประดิษฐ์ พัฒนาให้ตอบโจทย์และสามารถใช้งานได้ทั้งในสถานการณ์ปัจจุบันและอนาคต
กรุงเทพธุรกิจ นวัตกรรมแรก พบกับ สมุนไพรพ่นจมูกและลำคอ จาก คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย ศ.ภญ.ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ ภาควิชาเภสัชกรรมปฏิบัติ ร่วมกับ University of Innsbruck และ ADSI ประเทศออสเตรีย ศึกษาวิจัยการนำลำไยสกัดเข้มข้นด้วยกรรมวิธีพิเศษมาพัฒนาเป็นสูตรตำรับสมุนไพรพ่นลำคอและจมูก สามารถลดปริมาณไวรัสที่เกาะติดเยื่อบุและลดปริมาณไวรัสที่อาจเข้าสู่ร่างกายได้ เหมาะสำหรับการนำมาใช้ป้องกันการติดเชื้อไวรัสทุกชนิด รวมทั้งไวรัสโควิด-19 ไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียง มีฤทธิ์อยู่ได้ 2 วัน
ศ.ภญ.ดร.พรอนงค์ กล่าวว่าได้ทำการทดสอบกับเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ เชื้อที่ก่อให้เกิดโรคเริม ได้ผลมีประสิทธิภาพดี กับ เชื้อไวรัสทุกชนิด สามารถพ่นได้ทั้งลำคอและช่องจมูก วันละ 2 ครั้งเช้าเย็นออกฤทธิ์ได้ทันที ขณะนี้อยู่ในระหว่างการทดสอบทางคลินิกในอาสาสมัครจำนวน 62 ราย ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ และความร่วมมือกับ รพ.วิภาราม ชัยปราการ คาด 3 เดือนผลิตภัณฑ์ออกสู่ท้องตลาด
เสาฆ่าเชื้อ UVC โควิด 100%
คณะวิศวกรรมศาสตร์ และ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) คิดค้นและผลิตนวัตกรรม “TSE UVC Sterilizer” หรือ เสาฆ่าเชื้อด้วยแสง UVC สูง 1.2 เมตร ติดตั้งหลอดไฟ 4 ด้าน ที่มีกำลังสูงพอที่จะทำลายผนังเซลล์ของไวรัสโควิด-19 และสามารถฉายแสงลงถึงพื้นผิวดินหรือผิวถนนได้
ผศ.ดร.ปรัชญา เปรมปราณีรัชต์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มธ. ผู้คิดค้นและพัฒนา เปิดเผยว่า เสาฆ่าเชื้อดังกล่าวเหมาะสำหรับฉายแสงฆ่าเชื้อโรคที่อยู่ในพื้นที่กว้าง เช่น ตลาด หรือพื้นผิวต่างๆ เนื่องจากแสง UVC มีศักยภาพที่จะฆ่าไวรัสโควิด-19 ได้ 100% เมื่อเปิดใช้งานแล้ว เครื่องจะเริ่มทำงานหลังจากนั้น 5-10 นาที นำไปใช้ในพื้นที่กว้างในช่วงเวลาที่ไม่มีคน เช่น ตลาด แผงค้า ห้างสรรพสินค้า สนาม พื้นที่สาธารณะ ฯลฯ ที่ปิดแล้ว เชื้อไวรัสจะตาย 100% ในทุกที่ที่แสงส่องถึง ต้นทุนราว 3,000-4,000 บาท ล่าสุด ได้มีการผลิตเสาฆ่าเชื้อด้วยแสง UVC จำนวน 4 เครื่อง มอบให้กับศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินโรคโควิด-19 ตลาดพรพัฒน์เพื่อนำไปใช้ฆ่าเชื้อหลังการพ่นยาในบริเวณตลาดพื้นที่เสี่ยง
ตู้ฆ่าเชื้อโควิดด้วยรังสี UV-C
ในส่วนของผลงานการประดิษฐ์ตู้ฆ่าเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วยรังสี UV-C ใช้ภายในมหาวิทยาลัย ผลงานผศ.ดร.มานพ แย้มแฟง อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล และ ภาณุพงศ์ ภู่แพร, จงใจ ชัยจันดี และ สายัณห์ ชำนาญเวช นักศึกษาภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์มทร.ธัญบุรี เพื่อป้องกันและยับยั้งการแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วยรังสี UV-C สำหรับฆ่าเชื้อที่หน้ากากอนามัย
ผศ.ดร.มานพ ระบุว่า หลักการทำงานของตู้ฆ่าเชื้อ คือ นำหน้ากากอนามัยแขวนที่ราวชั้นบนสุดหรือวางบนชั้นวาง ซึ่งชั้นวางในแต่ละชั้นสามารถนำของใช้ส่วนตัว อุปกรณ์ที่ใช้ในโรงอาหารมาวางเพื่อฆ่าเชื้อได้ ในการฆ่าเชื้อจะนับเวลาถอยหลังซึ่งมีตัวเลขแสดงที่กล่องควบคุมการทำงาน ระยะเวลาการทำงานของตู้ฆ่าเชื้อสามารถตั้งเวลาได้ เมื่อตู้ฆ่าเชื้อทำงานเสร็จจะมีไฟแสดงเพื่อให้ผู้ใช้งานทราบ ในการฆ่าเชื้อใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 15 วินาที
รวมนวัตกรรมสู้โควิด สจล.
ศูนย์รวมนวัตกรรม KMITL GO FIGHT COVID-19 สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) พัฒนานวัตกรรมผลิตและส่งมอบนำไปใช้แล้ว ได้แก่ “เครื่องช่วยหายใจแบบฉุกเฉิน” สามารถใช้งานง่าย เคลื่อนย้าย ในกรณีฉุกเฉิน ตัวเครื่องมีขนาดเล็ก พกพา ได้ง่าย มีแบตเตอรี่ในตัว เหมาะกับสถานการณ์ที่ต้องใช้เร่งด่วน ในการช่วยเหลือผู้ป่วยหรือกรณีเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ใช้งานได้ ทั้งในสถานพยาบาล รถพยาบาล หรือ หน่วยงานแพทย์เคลื่อนที่
“กล่องอบฆ่าเชื้อโรคระบบปิด” นำเครื่องมือทางการแพทย์ หรืออุปกรณ์อื่น ๆ ที่ต้องการปลอดเชื้อ เข้าไปอบในกล่องด้วยระบบรังสีอัลตร้าไวโอเลต โดยเสียบ ใช้ไฟฟ้าบ้านได้ และตัวเครื่องออกแบบมา ให้มีขนาดเล็ก พกพาสะดวก “เครื่องอบฆ่าเชื้อโรคระบบปิด” ฆ่าเชื้อโรคด้วยระบบโอโซน ภายในพื้นที่ 50 ตารางเมตร ตั้งเวลาทำงานได้ ใช้ฆ่าเชื้อเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์หรืออุปกรณ์ที่ต้องการปลอดเชื้อ
“ระบบคัดกรองบุคคลด้วย AI” ใช้หลักการทำงานโดยระบบจะมีสัญญาณ สามารถต่อกับไซเรน หรือระบบติดต่อกับเจ้าหน้าที่ได้ โดยระบบจะทำการประมวลผลและแจ้งภายในเวลา 0.5 วินาที แต่หากตรวจจับได้ว่าอุณหภูมิเกิน 37.5 องศาเซลเซียส จะมีแถบสีแดงแสดงอุณหภูมิจริง เพื่อคัดแยกผู้ป่วยที่มีความเสี่ยง
“ตู้ตรวจเชื้อ (Swab Test) ความดันบวก (Positive Pressure)” ใช้หลักการทำงานโดยแพทย์ประจำอยู่ในตู้เพื่อทำการตรวจเชื้อจากผู้ที่อยู่ภายนอก ซึ่งจะทำให้แพทย์ตรวจเชื้อได้หลายครั้งโดยไม่ต้องเปลี่ยนชุด PPE อีกทั้งยังมีแรงดันบวกที่ทำให้สามารถผลักอากาศด้านนอก ป้องกันเชื้อไวรัสที่ลอยเข้าไปในตัวตู้กระจก เพิ่มความปลอดภัยให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ขณะตรวจผู้ที่มีความเสี่ยง
“ตู้ตรวจเชื้อ (Swab Test) ความดันลบ (Negative Pressure)”ใช้หลักการทำงานโดยผู้มีความเสี่ยงประจำอยู่ในตู้ ขณะที่แพทย์สอดมือเข้าไปทำหัตถการ Swab โดยภายในห้องใช้ระบบควบคุมความดันลบ พร้อมติดตั้งระบบกรองและฆ่าเชื้อด้วย UV-C และ HEPA ก่อนปล่อยอากาศสู่ภายนอก ป้องกันและควบคุมเชื้อไม่ให้ออกสู่ภายนอกเมื่อเปิดประตู
“รถตู้ตรวจเชื้อ (Mobile Swab Test)” ถูกพัฒนาขึ้นภายใต้แนวคิดการอำนวยความสะดวกโรงพยาบาล หน่วยงาน หรือจุดคัดกรอง สามารถเคลื่อนที่ไปได้ทุกที่ เพื่อใช้ตรวจเก็บตัวอย่างหาเชื้อโควิด-19 เชิงรุก ในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยมีการใช้ระบบปรับความดัน อากาศภายในให้เป็นบวก เพื่อป้องกันอากาศภายนอกที่อาจปนเปื้อนเชื้อโรคไม่ให้ผ่านเข้าไปในตัวรถ ทำให้แพทย์ที่ประจำอยู่ในรถสามารถทำการตรวจเชื้อจากภายในได้อย่างปลอดภัย และสามารถรองรับการตรวจผู้ป่วยได้จำนวนมาก ถึง 100 คนต่อวัน
“หุ่นยนต์ RAIBO-X ฆ่าเชื้อโรค ด้วยแสง UV” ครั้งแรกของคนไทย โดยฝีมืออาจารย์และนักศึกษาหลักสูตรวิศวกรรมหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. โดยมีประสิทธิภาพที่จะสามารถฆ่าเชื้อโรค ด้วยแสง UV-C ในรัศมี 1 – 1.5 เมตร ซึ่งจะมีประสิทธิภาพสูงในการกำจัดสิ่งมีชีวิตหรือเชื้อโรคขนาดเล็ก อาทิ ไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา และเชื้อโรคชนิดต่าง ๆ รวมถึงเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ ซึ่งหุ่นยนต์ RAIBO-X มีการใช้งานด้วยระบบ AI ทำให้สามารถควบคุมระยะไกลผ่านรีโมทคอนโทรล เพื่อความปลอดภัยของผู้ควบคุม เนื่องจากแสง UV มีรังสีที่อันตรายจึงต้องควบคุมจากด้านนอกพื้นที่ แต่ยังมีความสะดวกในการใช้งาน ด้วยระบบแบบไร้สาย จะทำให้สามารถ เข้าถึงพื้นที่ได้อย่างละเอียดและควบคุม ได้ง่ายและปลอดภัย
3 นวัตกรรมจาก สวทช.
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พัฒนาและนำมาใช้ประโยชน์ในสถานการณ์การแพร่ระบาด ได้แก่
1. เครื่องกำจัดเชื้อโรคด้วยวิธีการฉายแสงยูวีซี (Girm Zaber UV-C Sterilizer) ใช้ฆ่าเชื้อโรคใน รพ. หรือสถานที่เสี่ยงต่างๆ ลดการตกค้างของสารเคมี และการใช้น้ำยาพ่นฆ่าเชื้อ ผลงานวิจัยพัฒนาโดย ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของประเทศและการประยุกต์เชิงพาณิชย์ สวทช. โดยต้องใช้ในพื้นที่ปิด (ไม่มีสิ่งมีชีวิต เช่น คน สัตว์ พืช) ใช้เวลากำจัดเชื้อโรคเฉลี่ยจุดละ 5-15 นาที ผ่านการทดสอบประสิทธิภาพจากสถาบันวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพและวิศวกรรมพันธุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผ่านการทดสอบมาตรฐาน Lighting (มอก. 1955/EN55015) จากศูนย์ ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC)
2. ผลิตภัณฑ์น้ำยาฆ่าเชื้อเบนไซออน (Benzion) สารฆ่าเชื้อไวรัสและแบคทีเรียจากซิงค์ไอออน ที่มาจากการต่อยอดเทคโนโลยีของศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช. ภายใต้โครงการวิจัย “การพัฒนากระบวนการผลิตซิงค์ไอออนสำหรับยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย” โดยร่วมกับ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพ แห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. ซึ่งทีมวิจัยนำแร่ธาตุอาหารเสริมอย่างซิงก์ (Zinc) ที่โดยปกติมีสมบัติฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคได้ มาเพิ่มประสิทธิภาพให้ทำงานได้ดีขึ้นด้วยการเติมสารคีเลตและสารเสริมความคงตัว
3. หน้ากากอนามัยประสิทธิภาพสูงเซฟีพลัส (Safie Plus) วิจัยและพัฒนาโดย ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ (A-MED) ร่วมกับ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สวทช. ผลิตโดยผู้ผลิตเอกชนที่ได้รับรองมาตรฐานการผลิตตามมาตรฐาน ISO 13485 ในการผลิตหน้ากากอนามัย มีความหนา 4 ชั้น แผ่นชั้นกรองพัฒนาด้วยเทคโนโลยีการเคลือบสารไฮดรอกซีอาปาไทต์และไทเทเนียมบนเส้นใยธรรมชาติ
มีคุณสมบัติในการดักจับฝุ่นละอองที่มีอนุภาคขนาดเล็กและจุลินทรีย์ จึงช่วยป้องกันฝุ่น PM2.5 และกำจัดเชื้อจุลินทรีย์ได้ทั้งไวรัสและแบคทีเรียเมื่อถูกแสงแดด เซฟีพลัสผ่านการออกแบบให้มีความกระชับกับใบหน้า หายใจได้สะดวก ไม่อึดอัด ทำให้สวมใส่ได้เป็น เวลานาน กรองฝุ่น PM2.5 ได้ 99% ตามมาตรฐาน ASTM F2299 จาก TUV SUD ประเทศสิงคโปร์ และ ผ่านการทดสอบประสิทธิภาพ การกรองไวรัส (Viral filtration efficiency : VFE) ได้ 99% จาก Nelson Laboratory สหรัฐอเมริกา รวมทั้งยังผ่านการทดสอบประสิทธิภาพ การฆ่าเชื้อไวรัส H1N1 (Influenza A Virus) โดยมหาวิทยาลัยมหิดล

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]