คอลัมน์ โลกใบใหม่: EEC Net ศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้ใหม่…มุ่งพัฒนาคนแบบก้าวหน้าสร้างสรรค์

ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 09 มกราคม พ.ศ. 2564
อภิชาต ทองอยู่
ผมเคยสนทนากับ ศาสตราจารย์ ดร.เอินทร์ซ โกเลิดส์ ประธานสมาคมการศึกษาแห่งอเมริกา กับศาสตราจารย์ ดร.คูนท์ เฟอร์ฮาเกนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาจากประชาคมยุโรปหรืออียู ถึงทิศทางการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาประเทศและการสร้างความเท่าทันโลกที่เปลี่ยนแปลงไป!
ผู้เชี่ยวชาญทั้งสองท่านมีประสบการณ์ทำงานในประเทศไทยกับหลายองค์กร มีความคิดทิศทางต่อการสนทนาคล้ายกันว่า ถ้าประเทศไทยมีทิศทางการสร้างการเรียนรู้ให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงได้ถูกทิศทางและลดความสูญเปล่าจากการใช้งบประมาณลงมาเพียงครึ่งหนึ่ง ประเทศไทยจะก้าวหน้ามากกว่านี้หลายเท่า นี่คือความทรงจำที่ติดอยู่ในความคิดตลอดมา
เมื่อมามีภาระบทบาทในการพัฒนาบุคลากรและการศึกษาในอีอีซี ผมจึงเลือกจัดโครงสร้างองค์กรเพื่อสร้างการศึกษาในทิศทางใหม่ที่จัดองค์กรให้มีความความเคลื่อนไหวแบบองค์กรอาสาสมัคร ที่สามารถยืดหยุ่นปรับตัวให้ผู้ร่วมงานทุ่มเทปรับตัวทำงานได้เต็มที่
หวังผลลัพธ์แบบมืออาชีพในรูปคณะทำงานที่เรียกว่า คณะทำงานประสานงานด้านการพัฒนาบุคลากรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC HDC ซึ่ง ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการอีอีซี เห็นดีเห็นงามและสนับสนุนเต็มที่ และได้เพื่อนร่วมงานที่มีความรู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีอย่างรองศาสตราจารย์ ดร.ชิต เหล่าวัฒนา มาเสริมทัพ งานของ EEC HDC จึงเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างรุดหน้าและสร้างสรรค์ตลอดมา
ความทรงจำที่เคยได้สนทนากับศาสตราจารย์ทั้งสองท่านข้างต้นยังฝังลึกอยู่ในใจ มันได้ถูกนำมาช่วยปรับสร้างทิศทางการทำงานในช่วงเวลาการเปลี่ยนผ่านของโลกปัจจุบันหลายมิติ ที่เป็นไปด้วยความสร้างสรรค์ ทันโลก และลดความสูญเสียงบประมาณหลวงอย่างมากมาย
การทำงานพัฒนาบุคลากรและการศึกษามีภารกิจหลักในการดูแล พัฒนาบุคลากรทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพให้เพียงพอกับอุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายรัฐฯ เป็นโจทย์หลักของงานนี้! ที่มีภาระมากมายหลากมิติในเนื้องาน ตั้งแต่การบริหารจัดการที่ต้องเชื่อมประสาน-ปรับสร้างวิธีคิดใหม่ วิธีการใหม่ และแนวทางการทำงานใหม่กับเครือข่ายสถาบันการศึกษาและกลุ่มอุตสาหกรรมในพื้นที่ ให้มีการทำงานที่สอดคล้องกับความเคลื่อนไหวและสิ่งแวดล้อมในโลกใบใหม่ที่มุ่งสู่อนาคตอย่างเป็นจริง เป็นภารกิจสำคัญตลอดการทำงาน 2 ปีที่ผ่านมา
การพัฒนาบุคลากรตามแบบการศึกษาอีอีซี โมเดล มีปฏิบัติการที่ชัดเจนในการพัฒนาบุคลากรและการศึกษาที่ตอบโจทย์ความต้องการ (Demand driven) ทุกระดับ มีการปรับการศึกษาพื้นฐานจนถึงอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา ตั้งแต่จัดสร้างความรู้ทักษะด้านภาษา เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ จนถึงการปรับสร้างสิ่งแวดล้อมใหม่ อาทิ ปรับหลักสูตรใหม่เป็นแบบโมดูล มีการจัดเครดิตแบงก์ในระบบการศึกษา ที่ช่วยพัฒนาระบบนิเวศการศึกษาให้สอดคล้องกับโลกทุกวันนี้
ขณะเดียวกันมีการจัดตั้ง ศูนย์เครือข่าย อีอีซี เน็ต (EEC Net) ในระดับอาชีวะและมหาวิทยาลัยขึ้น เป็นเครือข่ายในการสร้างการเรียนรู้ที่ก้าวหน้า สร้างสรรค์ และมีส่วนร่วมจากภาคอุตสาหกรรม ซึ่งรู้กันดีว่าการพัฒนาการศึกษาที่ถูกทิศทางนั้น ต้องมีผลลัพธ์ที่ตอบโจทย์การมีงานทำ มีทักษะสูง หรือสามารถสร้างการประกอบการขึ้นได้ทั้งในแบบ Start Up หรือในการพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ การขับเคลื่อนให้การศึกษามีความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมเป็นทิศทางสำคัญ
ที่ช่วยให้บรรลุผลที่ทำได้เร็วที่สุด ดีสุด ประหยัดที่สุด สถาบันการศึกษาที่ทำงานเชื่อมกับภาคอุตสาหกรรมและการประกอบการสาขาการผลิต การบริการต่างๆ อย่างเป็นจริง จะพัฒนาความก้าวหน้าได้อย่างก้าวกระโดดและประหยัดสุด ตอบโจทย์การพัฒนาได้จริง
EEC HDC ได้ตั้งศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้ EEC Net ขึ้น ช่วยพัฒนาบุคลากรในแบบเครือข่ายความร่วมมือ มุ่งใช้ในการจัดการศึกษา ฝึกอบรมแต่ละสาขาวิชาเป้าหมาย โดยศูนย์ต่างๆ นี้มีหลักการก็คือ หนึ่ง-มีความร่วมมือชัดเจนระหว่างสถาบันการศึกษา ฝึกอบรมกับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องในสาขาวิชานั้นๆ
สอง-มีการลงทุนจากภาครัฐฯ ส่วนหนึ่ง มีการสมทบจากภาคอุตสาหกรรมอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งจะต้องมีผลลัพธ์การพัฒนาทักษะความรู้ให้แก่บุคลากรที่มีจำนวนชัดเจน ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว รวมทั้งมีการให้บริการแก่ภาคอุตสาหกรรมและสถาบันการศึกษา ที่เป็นเครือข่ายการพัฒนาความรู้ทักษะจากศูนย์ต่างๆ ที่จัดตั้งขึ้น สาม-เป็นศูนย์ที่ใช้งบลงทุนภาครัฐฯ เพียงแค่ 1 หรือ 2 ปี ซึ่งหลังจากนั้นต้องบริหารจัดการตัวเองต่อไป ตามแนวทางของแต่ละศูนย์และความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม
สี่-แต่ละศูนย์ต้องมีทิศทางชัดเจนที่มุ่งยกระดับสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมแบบ 4.0 ที่ก้าวหน้าเท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ ทั้งหมดคือหลักการของศูนย์ EEC Net ที่มุ่งพัฒนาสร้างความก้าวหน้าเท่าทันโลกแบบสร้างสรรค์-ลดความสูญเปล่าในการใช้งบรัฐฯ ขณะเดียวกันก็มีภาคอุตสาหกรรมเข้าร่วมลงทุนและช่วยเสริมสร้างต่อยอดความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ใหม่ที่เปลี่ยนไปตลอดเวลา
ปัจจุบันมีศูนย์ EEC Net ที่สำคัญหลายแห่งใน EEC อาทิ ศูนย์ออโตเมชั่น หรือ ออโตเมชั่น ปาร์ก ตั้งอยู่ที่มหาวิทยาลัยบูรพา เป็นศูนย์การเรียนรู้ทันสมัยที่สุดในด้านออโตเมชั่นในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งร่วมมือกับกลุ่มมิตซูบิชิ อีเล็คทริค ทางด้านเดินทะเล มีศูนย์พาณิชย์นาวีอยู่ที่มหาวิทยาลัยเกษตรฯ วิทยาเขตศรีราชา ซึ่งกำลังดำเนินการจัดตั้งอยู่ หรือศูนย์ระบบรางที่วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี ที่มีเครือข่ายอยู่ที่ มทร.ธัญบุรี กับเครือข่ายระบบรางด้านไฟฟ้า ที่มหาวิทยาลัยเกษตรฯ ศรีราชา ฯลฯ
ตัวอย่างของศูนย์ EEC Net ที่กล่าวมานี้ เป็นการทำงานจัดตั้งยุคใหม่ ที่จะพัฒนาความก้าวหน้าแบบไม่พึ่งรัฐฯ แต่มากด้วยศักยภาพที่จะสร้างความก้าวหน้าตลอดเวลา จากความร่วมมือกับผู้ประกอบการภาคเอกชน นี่คือคลื่นใหม่ของการเปลี่ยนแปลงที่สร้างการเรียนรู้ได้อย่างไร้ขีดจำกัด!

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]