คอลัมน์ ฅนจริงใจไม่ท้อ: จากเด็กกองขยะสู่ ‘นักล่าปริญญาเอก’ ผู้ให้

ผู้จัดการสุดสัปดาห์ 360 องศา ฉบับวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563
สัมภาษณ์ : รายการ “ฅนจริง ใจไม่ท้อ” เรียบเรียง: MGR Live เรื่อง: ภูริฉัตร ปริยเมธานัยน์ Facebook/LIVEstyle.official Instagram livestyle.official
“สิ่งหนึ่งที่ผมอยากให้ทุกคนมี คือ ความพยายาม” เปิดชีวิต “ดร. จากกองขยะ” จากเด็กกองขยะ เดินบนเส้นทางยาเสพติด ทำทุกวิถีทางเพื่อเอาตัวเองรอด แต่เขากลับพลิกชีวิต กลับมาประสบความสำเร็จได้ ด้วยการคว้าปริญญาเอกจากประเทศญี่ปุ่น
* ไม่ยอมจำนนต่อโชคชะตา ที่ใครลิขิต!!
“วัยเด็กที่จำความได้ ผมมีพ่อแม่ พี่น้อง แต่ช่วง 5 ขวบ ทุกอย่างมันก็เปลี่ยนไปกะทันหัน พ่อแม่ผมทะเลาะกันแล้วแยกทางกัน พ่อก็ออกจากบ้านไป แม่ก็ต้องออกไปทำงาน หาเลี้ยงลูกๆ ในการทำงานแต่ละวัน หาได้ไม่พอ จนกระทั่งหางานทำไปเรื่อยๆ จนไกลบ้าน ต้องห่างจากบ้านไป
สุดท้ายแม่ไปทำงานต่างจังหวัด ก็เหลือลูกๆ อยู่กันเอง เมื่อลูกๆ อยู่กันเอง ทุกอย่างก็เป็นอิสระ พี่ก็ออกจากบ้านไปกันหมด เหลือผมอยู่คนเดียว”
ผู้เอ่ยประโยคข้างต้น ปัจจุบันเป็นรองคณบดีฝ่ายพัฒนาการศึกษา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี แต่ก่อนจะมีวันนี้ เขาเคยเป็นเด็กเก็บขยะมาก่อน
นี่คือเรื่องราวของ “ดร.กุลชาติ จุลเพ็ญ” อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี จ.ปทุมธานี หรือ ดร.จากกองขยะ ที่เปิดใจกับผู้สัมภาษณ์ กับการเปลี่ยนแปลงชีวิตของตัวเอง ที่ได้ก้าวจากกองขยะ มาสู่การเป็นรองคณบดี นำเอาความรู้ ประสบการณ์ของตัวเอง มาเปลี่ยนแปลงยกระดับชีวิตลูกศิษย์ ให้มีชีวิตเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
“แม่เขาจะส่งเงินมาให้เดือนละ 500 เพื่อให้พี่ดูแลน้องๆ ค่าขนม ค่าเช่าบ้าน แต่ว่าตอนนั้นพี่ผมก็ ม.ต้น ส่วนผมอยู่ชั้น ป.3 มันก็ไม่พอใช้ พี่ก็ออกจากบ้านไปก่อน
ผมมีพี่อีกคนหนึ่ง ก็ฝากให้ดูแลน้องที่เหลือด้วย พี่คนโตก็ไปก่อน แล้วคนต่อมาก็ไป สุดท้ายก็เหลือผมกับพี่คนหนึ่ง แค่ 2 คน ซึ่งตอนแรกพี่คนนี้ ดูแลดีทุกอย่าง ดูแลเหมือนพ่อแม่ ตามใจผมทุกอย่าง ไม่อยากให้ผมมีปมด้อย
สุดท้ายผมใช้เงินจนหมด ก่อนสิ้นเดือนที่แม่จะให้มา มันไม่มีเงินแม้กระทั่งซื้อข้าวกิน พี่ผมก็ต้องพาผมไปเก็บผักบุ้งข้างทางมาต้มกับน้ำเปล่ากินประทังความหิว พี่ผมก็เลยพาผมไปขอข้าวเขากิน จากจุดนั้นทำให้ผมเรียนรู้ว่า เราขอข้าวจากคนอื่นได้ ผมก็เลยเริ่มไปขอข้าวกินเอง โดยไม่ต้องมาพึ่งพาพี่แล้ว
เพราะคิดว่าเดี๋ยวพี่จะพาเราไปเก็บผักกินอีก ผมก็อาศัยว่าขอข้าวเขากินไปเรื่อยๆ พอเขาไม่ให้ผมก็ไปขอเงิน แล้วกลายเป็นเด็กขอทานไปโดยไม่รู้ตัว”
โดยเมื่อย้อนกลับไป ในวัยเด็กชีวิตของเขา ที่ครอบครัวแตกแยก ต้องขาดพ่อแม่คอยดูแลตั้งแต่ยังเล็ก ถูกทอดทิ้งให้พักอาศัยในห้องเช่าเล็กๆ แถวย่าน บขส. ใน จ.ชุมพร เด็กชายกุลชาติ ในขณะนั้นต้องต่อสู้ชีวิต ดิ้นรนเพียงลำพัง ใครจะคิดว่าผู้ชายคนนี้จะประสบความสำเร็จชีวิตในวันนี้
“ในความหิวทำให้เราทำได้ทุกอย่าง ขอทานก็ต้องทำ ขอเขากินก็ต้องทำ เก็บเศษอาหารกินก็ต้องทำ ในเวลานั้นผมแค่อยากเจอครอบครัวอีกครั้ง ที่เราเคยมีครอบครัวที่พร้อมเหมือนคนอื่น แล้ววันหนึ่งมันหายไปหมด
แล้วความอิสระที่เข้ามาไวเกินไป ผมไม่รู้นะว่า คนที่เรียกร้องหาอิสระอยู่ตอนนี้ คุณรู้ไหมว่า ถ้าคุณอิสระจริงๆ ที่คุณจะต้องดิ้นรนด้วยตัวเองจริงๆ มันไม่ได้ง่ายอย่างที่คุณคิด”
เมื่อเขาพูดถึงวัยเด็ก น้ำเสียงเศร้าๆ ที่เปลี่ยนแปลงให้เห็นได้ชัดเจน โดยในตอนนั้น เขากลายเป็นเด็กมีปัญหาที่ต้องไปลักขโมยตามเพื่อน พอไม่มีอาหารก็จะไปขอคนในละแวกนั้นประทังชีวิต จนชาวบ้านบางคนมองว่าเป็น “เด็กเหลือขอ” เรียกได้ว่าเขาทำทุกวิถีทางเพื่อเอาตัวเองรอด จนกระทั่งผู้เป็นแม่ได้กลับมาดูแลอย่างใกล้ชิด
“เรื่องเรียนผมไม่สนใจ ผมไปนั่งอยู่หลังห้อง แล้วไปชวนเพื่อนคุย ชวนเพื่อนเล่น รอพักเที่ยง รอเลิกเรียนแค่นั้นเอง
จุดเปลี่ยนเริ่มแรกเลย คือ เมื่อผมไปเรียนแล้วทำตัว ไม่ตั้งใจเรียน คุณครูก็ตี กลายเป็นว่าไปโรงเรียนแล้วครูตี แล้วจะไปทำไม ก็โดดเรียนกับเพื่อน
เริ่มไปแฝงตัวอยู่ในร้านเกม ก็เจอโต๊ะบอล โต๊ะพนัน โต๊ะม้า ก็มีการเล่นพนันกัน แล้วเขามองเห็นว่าเราใช้ง่าย เริ่มให้เราไปใช้ส่งสิ่งเสพติดบ้าง สิ่งผิดกฎหมายบ้าง ก็ไปอยู่วังวนตรงนั้นสักพักหนึ่ง จนเพื่อนผมโดนจับ ผมก็กลัวโดนตำรวจจับ ก็เลยไปแอบอยู่ในวัด ไปขอข้าวพระกิน
จนกระทั่งแม่ผมรู้ว่า ผมอยู่คนเดียวแล้วมีคนไปเจอ แล้วไปบอกแม่ว่า ลูกป้าไม่ไหว เหลือขอเหลือเกิน เป็นเด็กขอทานแล้ว แม่ผมตกใจ เลยลาออกจากงานที่ต่างจังหวัดกลับมา แล้วมาอยู่กับผมเลย
แต่ว่างานที่แม่ทำ แม่ก็เริ่มต้นจากอาชีพรับจ้างทุกอย่าง เป็นงานรับจ้างที่พองานหมด ก็ต้องไปหางานอื่นทำ พอทำอาชีพลองค้าขายก็ขาดทุน แม่ผมก็เลยไปเริ่มต้นอาชีพเก็บขยะ ก็เป็นอาชีพที่หาเช้ากินค่ำจริงๆ”
อย่างไรก็ดี ทุกอย่างก็ไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะรายได้จากการเก็บขยะต้องยืนอยู่บนความเสี่ยง ทั้งเสี่ยงจากรายได้ที่ไม่แน่นอน เสี่ยงจากภัยจากขยะที่เป็นพิษ และเสี่ยงต่อการดูถูกจากการรังเกียจของคนในสังคม
“จนกระทั่งมีคนพูดดูถูก ว่ามึงจะไปเรียนหนังสือทำไม แม่มึงเลี้ยงลูกไม่ได้ดีสักคนหนึ่ง ดูสิหนีตามชาวบ้านไปหมดแล้ว เอ็งก็เหลือขอ ขอทาน แม่มึงก็กระจอก เก็บขยะ
ตอนนั้นผมรู้สึกโมโหมาก กำหมัดจะไปชกหน้าเลย แต่แม่ผมก็คว้าไว้บอกว่า ลูกถ้าลูกไปทำร้ายเขา ลูกก็ไม่ต่างจากที่เขาว่าลูก ลูกก็เป็นขอทานอย่างที่เขาว่าลูก ลูกก็เป็นโจรอย่างที่เขาว่า อดทนไว้ ระยะทางพิสูจน์ม้ากาลเวลาพิสูจน์คน ลูกตั้งใจเรียนก็พอแล้ว แล้ววันหนึ่งที่ลูกเรียนสำเร็จได้ ความสำเร็จการศึกษาลูก มันก็เป็นการตอบกลับเขาไปเอง”
หลังจากเหตุการณ์ในวันนั้น ทำให้เขาหันมาให้ความสำคัญกับการศึกษาอย่างจริงจัง แม้จะยังเรียนตามไม่ทันเพื่อนบ้าง แต่ก็พยายามเรียนจนจบ ป.6 แล้วได้รับโอกาส จากครูใหญ่ที่แนะนำ สนับสนุนให้เรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น
* ไต่ความฝัน พัฒนาชีวิต!!
ประกายความฝันถูกจุดติดขึ้น จากโอกาสที่ได้เรียนต่อ และทำงานขณะเรียนอยู่ โดยมีเป้าหมายเพียง ได้ทำงานเป็นช่างเชื่อม เพื่อหวังว่าเส้นทางแห่งนี้จะทำให้ชีวิตเขา และแม่มีความเป็นอยู่ที่ขึ้น
“ณ ตอนนั้น เริ่มรู้สึกว่า เฮ้ย!! มีกำลังในการเรียนแค่นั้นเองครับ แล้วอาจารย์เขาก็เห็นผล ว่าคุณจะเรียนไปทำไม ผมอยากไปเป็นช่าง อาจารย์จึงให้โอกาสผมในการที่ อยากจะทำอะไรคุณลองทำดู ทำให้เป็นแล้วกัน
เมื่อผมจบ ม.3 ผมก็จะมาทำงานเป็นช่างร้านเหล็ก ครูก็บอกว่าเฮ้ย!. ทำไมคุณไม่ลองเรียน ปวช. ดู จะได้ไปเรียนรู้มากขึ้น จบมาจะได้ทำงานบริษัทใหญ่ๆ
เขาก็ชี้ทางมาให้ผม ผมก็เลยลองสอบ ปวช. ดูก็สอบติด แล้วสาขาผมไม่ค่อยมีใครเรียนด้วย ส่วนใหญ่ในยุคผมคนจะไปเรียนไฟฟ้า ก่อสร้าง เครื่องยนต์ ช่างคอมฯ อิเล็กทรอนิกส์ แต่ผมไปเรียนช่างเชื่อม ไม่มีใครอยากเรียน
ผมก็จบช่างเชื่อม ซึ่งในระหว่างที่เรียน ปวช. เราได้ฝึกการเป็นช่างเชื่อม แล้วได้ถามครูว่า ถ้าจบช่างเชื่อมต่อไปทำอะไรได้บ้าง ครูบอกความฝันใหญ่โตมากเลยครับ ว่าคุณก็ไปเชื่อมท่อน้ำมันที่ซาอุฯ ได้เงินดีมาก ไปทีเดือนเป็นแสน
สมัยนั้นจบมาเราก็อยากมีฐานะ และอยากให้แม่ของเราสุขสบาย แล้วเรียนรู้ว่าเชื่อมท่อน้ำมันเขาทำกันยังไง ก็มาฝึกเชื่อมท่อ ฝึกๆ จนครูให้ผมไปเป็นตัวแทนไปแข่งทักษะ ผมก็ได้ที่ 1 ระดับจังหวัด
ปรากฏว่าไปไม่ถูกครับ คือ มันมีแต่ความฝัน แต่ไม่มีคนพาไป ไม่รู้จะไปสมัครที่ไหน ครูก็เลยบอกว่า คุณลองไปสมัครลองเรียนอีก 2 ปี อย่างน้อยได้ทำงานบริษัทใหญ่ๆ
มันมีโควตา ปวส. มา มีผมคนเดียวในเกรดถึง ครูก็เสียดายโควตา ลองไปเรียนดูไหม ผมก็ตัดสินใจไปลองเรียน ปวส. ที่สงขลา แล้วเขาบอกว่าสงขลามีบริษัทขุดเจาะน้ำมัน .”
จากเด็กน้อยที่เคยได้รับโอกาสทางการศึกษา และมีเป้าหมายสูงสุดเพียงแค่ต้องการความสำเร็จ มีวิชาชีพติดตัว ได้เป็นช่างเชื่อม แล้วได้กลายมาเป็นเด็กหนุ่มที่เติบโตจนประสบความสำเร็จ พร้อมกับความคิดแล้วรับผิดชอบ
ด้วยวัยขณะนั้นเขายังมีฐานะยากจน ต้องดิ้นรน ทั้งทำงานเป็นพนักงานร้านสะดวกซื้อในเวลากลางคืน กลางวันเรียน แต่นั่นกลับไม่ทำให้ผลการเรียนตกต่ำแต่อย่างใด
เขาเรียนจบการศึกษา ปวส. ด้วยเกรดเฉลี่ย 4.00 ก่อนจะย้ายมาเรียนต่อ จนจบปริญญาตรี และทำงานที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี จ.ปทุมธานี แต่ถึงอย่างไร รายได้ก็ยังไม่เพียงพอ จึงตัดสินใจที่จะเรียนต่อและขอทุนต้นสังกัดต่อ ในระดับปริญญาโท ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี และปริญญาเอกที่ประเทศญี่ปุ่น
“เรียนอยู่ที่คณะวิศวกรรม สาขาเครื่องกล เกี่ยวกับแม่พิมพ์โลหะ ชิ้นส่วนยานยนต์ ผมอยู่ญี่ปุ่นเกือบ 4 ปี
คือ ผมเห็นสภาพบ้านเมือง บรรยากาศเขา ผมอยากให้แม่ผมมาเห็นมาก ผมคิดตั้งแต่วันแรกเลยว่า ผมจะต้องพาแม่มาเที่ยวญี่ปุ่นให้ได้ วันปริญญาแม่ผมได้ขึ้นมาที่ญี่ปุ่นจริงๆ
พอออกมาผมเห็นแม่ผมยืนอยู่ตรงประตู เหมือนแม่ผมยืนรออยู่นานแล้วว่าเมื่อไหร่จะถึงคิวผม แล้วเขาก็ยืน เพื่อให้ผมเห็นเขาเป็นคนแรก คือ แม่ยังคอยให้กำลังใจตลอดเวลาจนกระทั่งเห็นความสำเร็จของเรา
ผมเลยวิ่งไปคุกเข่าต่อหน้าแม่ ตรงนั้นเป็นพื้นพรมทางเท้า แล้วพูดกับแม่ว่า แม่ครับถ้าไม่มีแม่คนนี้ที่เฆี่ยนตีลูกคนนี้ ถ้าไม่มีแม่ที่เก็บขยะส่งให้ลูกได้เรียนหนังสือ ถ้าไม่มีแม่คนนี้ที่มีคำพูดคำสอนดีๆ ให้ลูกตั้งใจเรียน ลูกคงไม่มีโอกาสได้เรียนจนถึงปริญญาเอก เพราะฉะนั้นใบปริญญาเอกใบนี้ผมขอมอบให้กับแม่ แล้วผมก็ก้มลงกราบเท้าท่าน”
ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะพลิกสภาพชีวิต ที่กำลังติดลบกลับมาสู่ชีวิตด้านบวกได้ แต่อาจารย์ประจำภาค วิชาวิศวกรรมอุตสาหการคนนี้ ก้าวข้ามจากชะตา ที่มองไม่เห็นอนาคต ด้วยความเพียรพยายาม จนประสบความสำเร็จโดยแท้จริง
* ผู้ปิดทองหลังพระ “มอบโอกาส-สร้างคนให้เติบโต”
“สำหรับทุกคนที่ประสบปัญหากับความลำบากของชีวิต ผมไม่สามารถอธิบายความลำบากของทุกคนได้ ผมเชื่อว่าทุกคนมีความลำบากของตนเอง แต่ว่าสิ่งหนึ่งที่ผมอยากให้ทุกคนมีด้วย คือ ความพยายาม
เพราะความลำบากต้องใช้ความพยายามในการเอาชนะ แล้วความพยายามมันจะทำให้เรามีภูมิคุ้มกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความอดทน ความตั้งใจ และความใฝ่ฝัน มันจะมาพร้อมๆ กันกับความพยายาม เมื่อเราเอาความพยายามชนะความลำบากนั้นได้ มันจะกลายเป็นความสำเร็จและความสุข”
ปัจจุบันอาจารย์กุลชาติ ดำรงตำแหน่งเป็นรองคณบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา ของมหาวิทยาลัยราชมงคลธัญบุรี โดยมีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือเด็กนักศึกษาที่ประสบปัญหาในด้านต่างๆ เพื่อให้มีชีวิตที่ดีขึ้น
เขายังต่อยอดความสำเร็จนั้น ด้วยการสร้างโอกาสให้กับเด็กๆ ที่ขาดโอกาสให้มีแรงใจในการต่อสู้ชีวิต ไปตามคติประจำตัวที่ว่า “พลิกลิขิตฟ้าด้วยมานะแห่งตน””ผมมีนิยามในความเป็นครูของผม คือ ครูเป็นผู้ให้ ซึ่งในนิยามของผม คือ ให้ 3 อย่าง 1. ให้ความรู้ 2. ให้โอกาส และ 3. ให้อภัย ทุกเคสที่มาไม่ว่าจะดีหรือจะไม่ดี จะยากจะง่ายทั้งหมดเป็นหน้าที่ของเรา ที่เราจะต้องให้โอกาสเขาเสมอ”
จากการทำงานได้การพัฒนานักศึกษา ในมหาวิทยาลัยแห่งนี้มานานนับ 10 ปี ทำให้เกิดผลรับที่สามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตของนักศึกษาหลายคนให้ดีขึ้น และยังได้สร้างผลผลิตที่ถือเป็นการสานต่ออุดมการณ์ความคิดของการเป็นผู้ให้ที่ส่งต่อถึงกันจากรุ่นสู่รุ่น
“ตอนแรกผมก็ไม่ได้คิดว่า งานฝ่ายพัฒนานักศึกษา คืออะไร คิดว่ามันเป็นงานเชิงนโยบายของสถาบัน แต่พอมาทำจริงๆ มันมีปัญหาที่ไม่ได้อยู่ในแผน ไม่ได้อยู่ในหลักยุทธศาสตร์ที่เราต้องทำ
มันกลายเป็นงาน routine ไปเลย ทุกวันผมต้องเจอปัญหาเด็กยากจน ปัญหาเด็กเรียนไม่เก่ง ปัญหาทะเลาะวิวาท ปัญหาเรื่องครอบครัว มันเป็นปัญหารายวัน แล้วปัญหาเหล่านี้ไม่มีคนสนใจอย่างจริงจัง
ผมตั้งนิยามของเด็กกลุ่มที่ผมจะช่วยเหลือไว้ เป็นเด็กใฝ่ดี เด็กใฝ่ดีคือเด็กอยากได้ดี เพราะฉะนั้นไม่ใช่เด็กที่ยากจนนะครับ หรือไม่ใช่เด็กที่ต้องกำพร้า ไม่ใช่เด็กที่ขาดแคลนทุนทรัพย์อย่างเดียว เช่น เด็กที่มีครอบครัวแต่วันหนึ่งก็เผลอทำตัวแย่ และอยากจะกลับมา แต่ทางครอบครัวอาจจะไม่สนใจแล้ว
ผมก็จะเข้าไปประคองเขากลับมา ขอให้เขามีความคิดใฝ่ดีว่า อยากเป็นคนดี หรือคนที่เคยทำผิดพลาด แล้วสังคมไม่ให้อภัยเขา สังคมตีตราเขาไปแล้วว่าเป็นเด็กเลว แต่เรามองแล้วว่าเขามีความพยายามที่จะเป็นคนดี แบบนี้ผมก็ยินดี นี่คือคนที่ผมอยากเข้าไปช่วย
หรือกลุ่มที่มีความพร้อมทุกอย่าง แต่ขาดแรงบันดาลใจ เด็กที่ไม่ได้อยากได้ดี มีเป้าหมายในชีวิต แต่ดูแล้วเขามีคุณค่า มีความหมายกับครอบครัวของเขา มีความหมายกับคนรอบข้าง เราก็อยากทำยังไงให้เขามาเป็นคนดี เป็นที่พึ่งของสังคมได้”
เส้นทางชีวิตจากวัยเด็กที่เติบโตมาจากกองขยะ มาจนถึงขั้นปริญญาเอกเป็น ดร. ของอาจารย์กุลชาติได้นั้น แสดงให้เห็นถึงความพยายามของคนที่ไม่เคยยอมแพ้ต่อโชคชะตา โดยนำการศึกษามาเป็นตัวพัฒนา ทำให้ชีวิตประสบความสำเร็จ แต่สิ่งหนึ่งที่อาจารย์กุลชาติไม่เคยลืม คือ ผู้ที่เคยช่วยเหลือ หยิบยื่นโอกาสให้เขาในช่วงที่ผ่านมา
“สิ่งที่ผมมองย้อนกลับไป มองผ่านตรงนี้มาได้ยังไง ผมมองถึงแม่ผมก่อน ว่าจะทำยังไงให้แม่ผมสบายขึ้นให้ได้ คนถัดมา คือ ครูทุกคนเลยที่ให้โอกาสผมได้เรียนต่อมาเรื่อยๆ
ช่วงที่ผมคิดถึงตรงนี้ ผมได้เล่าให้เพื่อนที่ญี่ปุ่นฟัง จนกระทั่งผมกลับมาเมืองไทย ผมก็กลับมาหาเพื่อนคนที่ผมดูเป็นแบบอย่างในการตั้งใจเรียน แต่ก็ยังหาไม่เจอ มองหาครูทุกคนที่ให้โอกาสผมได้เรียนหนังสือ ผมกลับมาปีนั้น คือ ปีที่เขาเกษียณพอดี แล้วผมก็ไปงานเกษียณเขา
ผมก็บอกว่า คุณครูจำผมได้ไหมครับ เขาก็งง คุณคือใคร เขามีลูกศิษย์มากมาย ผมคือเด็กที่ครูเคยให้โอกาสผม ผมกุลชาติ เขาเหมือนพยายามอ๋อๆ ผมก็คิดว่าเขาจำผมไม่ได้ ผมก็บอกว่าผมโชคดีมากที่วันนี้ผมมาทันที่วันเกษียณของครู ตอนนี้ผมเรียนจบปริญญาเอก จากประเทศญี่ปุ่นแล้ว
แล้วผมก็กลับมาเป็นอาจารย์ ผมจะรับหน้าที่นี้ต่อจากอาจารย์เอง อาจารย์เกษียณอย่างมีความสุขนะครับ อาจารย์ไม่ต้องเป็นห่วง เดี๋ยวผมจะทำหน้าที่ต่อจากอาจารย์เอง”
สุดท้ายการได้มีโอกาสสร้างคนให้เติบโต มีอนาคตที่ดีได้สำหรับเขาแล้ว เหมือนเป็นการปลูกต้นไม้ที่เมื่อถึงเวลา ผลิดอกออกผล ก็คุ้มค่ากับเวลาที่รอคอย
“การสร้างคนมันมากกว่าการปลูกต้นไม้ เพราะว่ามันใช้ระยะเวลานานกว่าจะเห็นผล ต้นไม้ 5 ปี 6 ปีก็ได้เก็บผล แต่คนบางทีเป็น 10 ปี แต่บางคน 20 ปี อย่างผมก็จะบอกกับเด็กว่าคุณรู้ไหม ผมพยายามมา 30 ปีกว่า
ผมพยายามบอกทุกคนว่าผมจบ ดร. กองขยะมา เราก็อยากรู้ว่าผลรับที่เราหว่านเมล็ดตอนนี้ เราให้โอกาสกับเด็ก เราอยากให้เด็กที่ช่วยเหลือไปในวันข้างหน้า กี่คนที่เติบโตมาแล้วมีโอกาสได้มาบอกว่า อาจารย์ครับ อาจารย์จำผมได้ไหม ตอนนี้ผมอยู่ตรงนี้ ผมเห็นผมแล้วนะครับว่าใช้เวลากี่ปี”

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]