ดึง13สถาบันศึกษาปั้นเจนซีสู่ซีอีโอ

มติชน (กรอบบ่าย) ฉบับวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563
‘จุรินทร์’หวังเป็นทัพหน้าสร้างรายได้
ชี้5-10ปีเป็นประชากรใหญ่สุดในปท.
‘จุรินทร์’ดึง 13 สถาบันการศึกษาปั้นเจนซีเป็นซีอีโอยุคดิจิทัล ตั้งเป้า 1.2 หมื่นรายปีหน้า หวังเป็นทัพหน้าสร้างรายได้เข้าประเทศจากค้าออนไลน์ระหว่างประเทศ ชี้อีก 5-10 ปีจะกลายเป็นคนกลุ่มใหญ่ที่สุดของประเทศ
ที่กระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านวิชาการ ระหว่างกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศและสถาบันการศึกษา 13 แห่ง ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี, มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง, วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล, มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา, มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี, มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย, สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาที่มีวิทยาลัยเกษตรเทคโนโลยี และประมง (ในสังกัดมี 47 แห่ง)
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์มีเป้าหมายจะผลักดันให้นักศึกษาที่อยู่ระหว่างการศึกษา หรือกำลังจบการศึกษา มีโอกาสค้าขายและพัฒนาเป็นผู้ประกอบการการค้าออนไลน์ ภายใต้โครงการปั้น Gen Z เป็น CEO ตั้งเป้าหมายมี CEO ใหม่ 12,000 รายทั่วประเทศ ภายในปี 2564 ซึ่งปีนี้ดำเนินการอบรมไปแล้ว 1,500 ราย
“ปัจจุบันรูปแบบการค้าได้มีการปรับเปลี่ยนจากออฟไลน์สู่ออนไลน์ มีการใช้อีคอมเมิร์ซกันมากขึ้น กลายเป็นนิวนอร์มอล กระทรวงพาณิชย์มี นโยบายให้ผู้ประกอบการในประเทศปรับตัวสู่การค้ายุคใหม่ จึงเร่งเพิ่มพูนความรู้การทำการค้าออนไลน์ให้กับผู้ประกอบการ ทั้งเกษตรกร ผู้ผลิต ผู้ส่งออก และมองลึกถึงนักศึกษาที่มี 10 กว่าล้านคนด้วย” นายจุรินทร์กล่าว และว่า ประโยชน์ที่นักศึกษาทุกคนจะได้รับจากการเข้าร่วมโครงการ นอกจากสามารถแปลงเวลาอบรมเป็นหน่วยกิตทางการเรียนได้
เมื่อผ่านการอบรมแล้วสามารถนำความรู้ทำการค้าในระบบออนไลน์ โดยผู้ที่ต้องการค้าขายระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์จะมีหลักสูตรเชิงลึกช่วยพัฒนาให้กลายเป็นทัพหน้าในการสร้างรายได้เข้าประเทศต่อไป
รายงานข่าวจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศแจ้งว่า ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติสำรวจปีล่าสุด ประชากรไทยมีทั้งหมด 66.5 ล้านคน เป็นกลุ่มคนเจเนอเรชั่นซี ถึง 12.6 ล้านคน คิดเป็น 18.95% ของประชากรทั้งประเทศ และเจนซีที่อยู่ในภูมิภาค นอกเหนือจากกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีมากถึง 10.6 ล้านคน หรือเกือบ 85% ของเจนซีทั้งประเทศ และอีก 5-10 ปีข้างหน้าคนเหล่านี้จะเป็นกลุ่มคนที่ใหญ่ที่สุด และจะเป็นหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต จึงเป็นที่มาของการพัฒนาเด็กรุ่นใหม่ให้เป็นผู้ประกอบการตั้งแต่อายุยังน้อย และในการลงนามเอ็มโอยูยังได้ดึงพาณิชย์จังหวัดจาก 47 จังหวัดมาร่วมรับทราบนโยบาย เพื่อให้ช่วยในการสนับสนุนคนรุ่นใหม่ในแต่ละพื้นที่ให้เป็นซีอีโอนำสินค้าและบริการในพื้นที่ออกมาจำหน่ายด้วย

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]