รัฐผนึกเอกชนลงทุน 50:50 ตั้ง 11 ศูนย์ผลิตคน’อุตฯไฮเทค’

กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2563
วัชร ปุษยะนาวิน
กรุงเทพธุรกิจ
การระบาดของโรคโควิด-19 มีผลกระทบ ต่อการผลิตบุคลากรป้อนความต้องการอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ตั้งไว้ 5 ปี จำนวน 4.7 แสนคน แต่ทำให้ภาครัฐและภาคเอกชนได้มีเวลาในการพัฒนาบุคลากรเพิ่มขึ้น และปรับรายละเอียดให้สอคล้องกับสถานการณ์หลังโควิด-19
ณยศ คุรุกิจโกศล ผู้รักษาการแทน รองอธิการบดีฝ่ายกิจการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก มหาวิทยาลัยบูรพา เปิดเผยว่า หัวใจหลักของการสร้างฐานเศรษฐกิจใหม่ของไทยที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานความรู้เทคโนโลยี และนวัตกรรม คือ การสร้างบุคลากรขึ้นมา รองรับอุตสาหกรรม และธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูงที่รัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายไว้
ดังนั้นคณะทำงานประสานงานด้าน การพัฒนาบุคลากรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC-HDC) จึงตั้งศูนย์เครือข่าย ในการผลิตและพัฒนาบุคลากรสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อรองรับความต้องการ ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ระดับอุดมศึกษาและการยกระดับทักษะวิชาชีพแรงงาน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายและโครงสร้างพื้นฐาน
ทั้งนี้ จะทั้งการฝึกอบรม New Skill โดยปรับปรุงหลักสูตร พัฒนาผู้สอน เครื่องมือ และสื่อการสอนที่ตรงตามความต้องการใช้งานจริงในภาคอุตสาหกรรมสำหรับนักศึกษาและคนรุ่นใหม่ Up Skill เพิ่มทักษะ บุคลากรให้ก้าวทันเทคโนโลยี สอนตรงตามความต้องการใช้งานจริง และ Re Skill อบรม หลักสูตรระยะสั้น 6-12 เดือน เพื่อพัฒนากลุ่มคนที่ทำงานไม่ตรงสาขาที่จบหรือ ขาดประสบการณ์ตรง หรือคนตกงาน
สำหรับการดำเนินงานจะตั้งศูนย์เครือข่าย ผลิตและพัฒนาบุคลากร 11 ศูนย์ ได้แก่ 1.หุ่นยนต์ 2.การท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดี 3.โลจิสติกส์ 4.พาณิชยนาวี 5.การบิน 6.ระบบราง 7.อาหาร เกษตรสมัยใหม่และเทคโนโลยีชีวภาพ 8.อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 9.ดิจิทัล 10.ยานยนต์สมัยใหม่ 11.การแพทย์ครบวงจร
ศูนย์เครือข่ายฯ จะทำงานร่วมกับ ภาคเอกชนอย่างใกล้ชิด เพื่อผลิตบุคลากร ให้ตรงกับความต้องการ และมีจำนวนเพียงพอไม่ขาดหรือเกินความต้องการของภาคเอกชน
นอกจากนี้ ภาคเอกชนใน 11 สาขาเหล่านี้ จะร่วมลงทุนกับมหาวิทยาลัยของรัฐบาลตั้ง ศูนย์เครือข่ายฯ ในสัดส่วน 50:50 โดยในแต่ละ ศูนย์เครือข่ายฯ จะใช้เงินลงทุน 200 ล้านบาท ซึ่งมหาวิทยาลัยของรัฐจะลงทุนในส่วนของสถานที่ และการปรับปรุงตกแต่ง ขณะที่ ภาคเอกชนลงทุนเครื่องมือ เครื่องจักรสมัยใหม่ และต้องนำเครื่องจักรใหม่เข้ามาเปลี่ยนเป็นระยะ เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี
ล่าสุดตั้งศูนย์เครือข่ายฯ แห่งแรกด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (EEC Automation Park) ที่มหาวิทยาลัยบูรพา ร่วมกับริษัท มิตซูบิชิ อิเล็คทริค นำหุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติมาทำโรงงานตัวอย่าง เพื่อให้นักศึกษามาใช้งาน และจะเปลี่ยนหุ่นยนต์ และเครื่องจักรใหม่ทุก 3-5 ปี รวมทั้งร่วมกับ สถาบันเครือข่าย 20 แห่ง ทั้งสถาบันการศึกษา และหน่วยงานพัฒนากำลังคน เช่น กรมพัฒนา ฝีมือแรงงานเข้ามาใช้ศูนย์เครือข่ายฯ หุ่นยนต์นี้
“การร่วมลงทุนในลักษณะนี้จะเกิดประโยชน์สูงสุด เพราะฝ่ายเอกชนจะลงทุนเครื่องมือและเครื่องจักรที่ทันสมัย ทำให้ ไม่สิ้นเปลืองงบประมาณภาครัฐ และนักศึกษาได้สัมผัสเทคโนโลยีทันสมัย รวมทั้งในแต่ละศูนย์เครือข่ายฯ ยังได้จับมือร่วมกับสถาบันการศึกษาอีกกว่า 20 แห่ง ให้เข้ามาร่วมใช้เครื่องมือเครื่องจักรเหล่านี้อย่างเต็มที่ ซึ่งเป็นการแบ่งปันทรัพยากร เพื่อขจัด ความซ้ำซ้อนและประหยัดงบประมาณ”
สำหรับแผนการตั้งศูนย์เครือข่ายฯ ในปี 2564 จะมีทั้งหมด 4 แห่ง ได้แก่ 1.ศูนย์เครือข่ายการพัฒนาบุคลากรสำหรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดี มหาวิทยาลัยบูรพา 2.ศูนย์เครือข่ายการพัฒนา บุคลากรสำหรับอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตบางพระ
3.ศูนย์เครือข่ายการพัฒนาบุคลากรสำหรับ อุตสาหกรรมพาณิชย์นาวี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา 4.ศูนย์เครือข่าย การพัฒนาบุคลากรสำหรับอุตสาหกรรมระบบราง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
ส่วนปี 2565 จะเปิดอีก 6 แห่ง ได้แก่ 1.ศูนย์เครือข่ายฯการพัฒนาบุคลากรสำหรับอุตสาหกรรมการบิน ที่สถาบันการบินพลเรือน 2.ศูนย์เครือข่ายการพัฒนาบุคลากรสำหรับอุตสาหกรรมอาหาร เกษตรสมัยใหม่และเทคโนโลยีชีวภาพ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
3.ศูนย์เครือข่ายการพัฒนาบุคลากรสำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ มหาวิทยาลัยบูรพา 4.ศูนย์เครือข่ายการพัฒนา บุคลากรสำหรับอุตสาหกรรมดิจิทัล สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (Depa)
5.ศูนย์เครือข่ายการพัฒนาบุคลากรสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตระยอง 6.ศูนย์เครือข่าย การพัฒนาบุคลากรสำหรับอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร มหาวิทยาลัยบูรพา
สำหรับ ศูนย์เครือข่ายฯ เหล่านี้ ในช่วงแรก จะผลิตบุคลากรได้ปีละ 1 หมื่นคน และจะผลิต ได้เต็มที่ปีละ 4-5 หมื่นคน ซึ่งการผลิตบุคลากร ภายใน 3 จังหวัด (ชลบุรี ระยองและฉะเชิงเทรา) ได้ 50% ของความต้องการบุคลากรในอีอีซี 4.7 แสนคน ภายใน 5 ปี ที่เหลือจะมาจากสถาบัน การศึกษานอกอีอีซีทั่วประเทศ ทำให้มั่นใจว่า จะสามารถผลิตบุคลากรทักษะชั้นสูง เพื่อรองรับ อุตสาหกรรมเป้าหมาย และโครงสร้างพื้นฐาน ด้านเทคโนโลยีชั้นสูงได้พอเพียงกับความต้องการในพื้นที่อีอีซี อย่างแน่นอน
“มั่นใจว่าจะสามารถผลิตบุคลากรทักษะชั้นสูง เพื่อรองรับ อุตสาหกรรมเป้าหมาย’
ณยศ คุรุกิจโกศล

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]