รวยด้วย’เกษตรวิถีใหม่’ ลุย!เศรษฐกิจชีวภาพ ตลาดโต2.4ล้านล้านยูโร

สยามธุรกิจ ฉบับวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2563
ฝ่าธุรกิจส่งออกสู้วิกฤติโควิด เผย “กลุ่มเกษตรอาหาร” สดใสเจาะตลาดโลกช่วงประสบภาวะขาดแคลนอาหาร “อลงกรณ์” ชี้สินค้าอาหารไทยผงาดแซง “อินเดีย” พรวด รั้งเบอร์สองรองจากจีนเท่านั้น แนะเคล็ดลับสู่ความสำเร็จปรับตัวสู่วิถีใหม่ติดอาวุธเทคโน โลยีและนวัตกรรมสู่ความมั่งคั่ง พร้อมมุ่งสู่เศรษฐกิจชีวภาพที่กำลังมาแรง เฉพาะตลาดยุโรปมีมูลค่าตลาดกว่า 2.4 ล้านล้านยูโร
หนังสือพิมพ์ “สยามธุรกิจ” จัดสัมมนาหัวข้อ New Normal รวยด้วย…”เกษตร วิถีใหม่” เพื่อให้ความรู้แนะนำกับเกษตรกร ในการทำธุรกิจรูปแบบใหม่อย่างสร้างสรรค์ เพิ่มมูลค่าการผลิต เพิ่มช่องทางการค้า เพิ่มทางเลือกให้กับผู้ประกอบการท้องถิ่น หลังเกิดวิกฤติไวรัส โควิด 19 เพื่อติดอาวุธ ทางปัญญาให้กับเกษตรกรได้ปรับตัวก้าวสู่ การสร้างผลผลิตแบบ “ได้น้อยได้มาก” สะท้อนกลยุทธ์การทำเกษตรยุคใหม่ จากวิทยากรที่มีองค์ความรู้และประสบการณ์ รวมถึงผู้ประกอบการ SMEs รุ่นใหม่ที่ ประสบความสำเร็จด้านการตลาดเพิ่มช่องทางการขาย และเพิ่มมูลค่าสินค้าให้เติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งมีเกษตรกรและผู้สนใจเข้า ร่วมงานจำนวนมาก ที่ห้องประชุม ชั้น 3 อาคารหนังสือพิมพ์ “สยามธุรกิจ” สำนักงานใหญ่เมืองทองธานี เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2563 ที่ผ่านมา
โอกาสนี้ นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “New Normal เคล็ดลับความสำเร็จด้วยเกษตรวิถีใหม่” ว่า ช่วงเกิดวิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 และการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด19 ครั้งนี้มีประชากรทั่วโลกติดเชื้อไปแล้วกว่า 28 ล้านคน และเสียชีวิตกว่า 1 ล้านคน ขณะที่การผลิตวัคซีนเพื่อป้องกันเชื้อไวรัสโควิดยังไม่คืบหน้า ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ การผลิตสินค้า การส่งออก การขนส่ง และการดำเนินชีวิตของทุกคน ซึ่งทางองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO และองค์การอนามัยโลก หรือ WHO โครงการอาหารโลก คาดการณ์ว่าโลกกำลังเข้าสู่ภาวะขาดแคลนอาหาร และเสี่ยงต่อความอดอยากถึงเสียชีวิตได้เพิ่มขึ้น 2 เท่า ทำให้ประเทศไทยที่เป็นแหล่งผลิตอาหารส่งออกไปทั่วโลกมีโอกาสขายสินค้าไปทั่วโลกได้มากขึ้น
ล่าสุด ท่ามกลางสถานการณ์การส่งออกของประเทศไทยมีตัวเลขติดลบ ปรากฏว่า สินค้ากลุ่มเกษตรอาหารเมื่อเดือน พ.ค. เพิ่มขึ้นกว่า 22% ไม่ว่าจะเป็น ทุเรียน เติบโต 63% ข้าวหอมมะลิ ที่มีการผลิตอยู่ที่ทุ่งกุลาร้องไห้ทางภาคอีสาน ภาคเหนือ และภาคกลางบางส่วน มีการเติบโต 25% ไก่สดแช่แข็งเติบโต เติบโต 27% อาหารสัตว์เลี้ยงเติบ โต 16% ซึ่งสินค้าเกษตรที่เติบโตเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า ตลาดทั่วโลกต้องการสินค้าอาหารจากประเทศไทย ซึ่งมีความปลอดภัยสูงด้วย
“ถ้าดูตัวเลขการส่งออกสินค้ากลุ่มอาหารของประเทศไทย เมื่อปี 2560 เราส่งออกอาหารไปตลาดโลกอยู่อันดับ 14 ของโลก พอมาปี 2561 ได้ขยับขึ้นมาอยู่ที่อันดับ 12 ซึ่งการก้าวกระโดดขึ้นมาแบบนี้มีเพียง 2 ประเทศไทยเท่านั้นที่ทำได้คือ ไทยกับ เม็กซิโก ที่สำคัญเป็นปีแรกที่ประเทศไทยสามารถแซงประเทศอินเดียขึ้นมาเป็นผู้ส่งออกอาหารอันดับ 2 เป็นรองเพียงประเทศจีนเท่านั้น และในปี 2562 ที่ผ่านมา ได้ขยับขึ้นมาอยู่อันดับ 11 ของโลกแสดงให้เห็นว่าเรามีความเข้มแข็งและ ขีดความสามารถของโรงงานอุตสาหกรรม และ บริษัทส่งออก ที่สำคัญมีเกษตรกรและมีอาหารที่เพียงพอและปลอดภัยสำหรับการส่งออก”
ทั้งนี้ การพัฒนาสินค้าเกษตรอย่างยั่งยืนจะต้องมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคและผู้ผลิตเอง ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ได้ยกร่างพระราชกฤษฎีกาให้มีจัดตั้งสถาบันเกษตรอินทรีย์แห่งชาติเสร็จเรียบร้อยแล้ว เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่แหล่งอาหารที่ปลอดภัยของโลก
นายอลงกรณ์ กล่าวว่า เคล็ดลับความสำเร็จในการพัฒนาเกษตรอาหารคือ นโยบายเทคโนโลยีเกษตร คือ เกษตร 4.0 ซึ่งทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ผลักดันมาอย่างต่อเนื่อง เพราะโลกทุกวันนี้มีการติดต่อค้าขายกันบนโลกออนไลน์เช่นเดียวกับภาคการเกษตรก็ต้องปรับให้สะดวกสบายตั้งแต่การผลิตมีเครื่องมือที่ทันสมัยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ และใช้ช่องทางออนไลน์ในการกระจายสู่ตลาดโลก ที่สำคัญมีฐานข้อมูลเกษตรแบบรวมศูนย์ทั้งพืช ปศุสัตว์ และประมง ซึ่งได้ตั้งเป็นศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติเรียบร้อยแล้ว
สำหรับการสนับสนุนนโยบายเกษตร 4.0 ได้มีการตั้งศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (Agritech and Innovation Center : AIC) ขึ้นทั้ง 77 จังหวัด เพื่อเป็นศูนย์กลางในการให้บริการแลกเปลี่ยนความรู้และเชื่อมโยงความร่วมมือด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมระหว่างภาครัฐ เอกชน และเกษตรกร โดยมีการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ สนับสนุนภาคการเกษตร เช่น ศูนย์ AIC จังหวัดนนทบุรี ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มีจุดเด่นสามารถผลิตหุ่นยนต์เกษตรได้แล้ว 2 คือ หุ่นยนต์เกษตรสำหรับเก็บมะเขือเทศ และหุ่นยนต์สำหรับกรีดยาง ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีมาผสมผสานกับภูมิปัญญาไทยให้ลงตัว
ศูนย์ AIC จังหวัดปทุมธานีที่มหา วิทยาลัยราชมงคลธัญบุรี ได้นำเทคโนโลยี มาพัฒนากัญชงผลิตเป็นผนังบ้าน ซึ่งมีจุดเด่นสามารถป้องกันเชื้อรา กันความร้อน ความหนาวได้ ซึ่งเกิดจากการวิจัยและพัฒนา และขณะนี้กระทรวงเกษตรฯ กำลังคิดค้นพัฒนาลิฟต์สำหรับเก็บมะพร้าว ลูกตาล แทนลิงสำเร็จ มีความสูงประมาณ 12-15 เมตร เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีจุดเด่นการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาพัฒนาภาคการเกษตรของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยสุรนารี พัฒนาปลาทูน่าน้ำจืดสายพันธุ์ “ปลาบึกสยาม” เป็นการนำปลาบึกแม่น้ำโขงมาผสมพันธุ์กับปลาสวาย เพื่อนำไปเป็นวัตถุดิบปลาทูน่าผลิตปลากระป๋องส่งออกไปยังตลาดโลก
นายอลงกรณ์ กล่าวด้วยว่า จากนโยบายรัฐบาลสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ หรือ New S-Curve ได้แก่ หุ่นยนต์, การบินและโลจิสติกส์, เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ, ดิจิทัล และการแพทย์ครบวงจร ซึ่งศักยภาพของประเทศไทยสามารถต่อยอด ความสำเร็จจากภาคเกษตรไปอุตสาหกรรมเคมีชีวภาพได้ ยกตัวอย่าง ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกยางพาราอันดับ 1 ของโลก มีศักยภาพผลิตยางรถยนต์จากยางธรรมชาติได้ปีละ 200 ล้านเส้น ผลิตถุงมือยางอันดับ 2 ของโลก และเตรียมผลิตหน้ากากยางพารารองรับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ด้วย หรือแม้แต่เกษตรพลังงานที่นำพืชพลังงานไป ผลิตน้ำมันเป็นน้ำมันไบโอดีเซล หรือก๊าซ โซฮอล์ได้
สำหรับเศรษฐกิจชีวภาพถือว่าเป็นโมเดลเศรษฐกิจใหม่มีทิศทางที่สดใสมาก เฉพาะในตลาดยุโรปมีมูลค่าถึง 2.4 ล้านล้านยูโร ส่วนด้านเทคนิคชีวภาพในตลาดโลกมีมูลค่ามากถึง 7 แสนล้านเหรียญสหรรัฐ ดังนั้น ถือว่าตลาดโลกอยู่ในมือคนไทยที่เป็นโอกาสจะพัฒนาสินค้าเกษตรออกไปเจาะตลาดได้

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]