จากตำนานเชือกรัดงูเหลือมสู่เส้นใยถักทอเพิ่มราคา

ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2563
ไชยรัตน์ ส้มฉุน
ต้นกล้วย…เมื่อให้ผลต้นมักถูกตัดทิ้งไปอย่างไร้คุณค่า อย่างมากแค่นำมาสับเป็นอาหารสัตว์
หลายคนอาจเคยได้ยิน “งูเหลือมแพ้เชือกกล้วย” เพราะแม้จะมีลำตัวขนาดใหญ่ยักษ์แค่ไหน ถูกเชือกกล้วยรัดเป็นต้องยอมแพ้หมดเรี่ยวแรงเลื้อยไปไหนไม่ได้เลย
เนื่องจากเส้นใยต้นกล้วยมีความแข็งแรงทนทาน อ.โสภิดา วิศาลศักดิ์กุล นักวิจัยคณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี จึงพัฒนาเส้นใยจากกล้วยเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับงานถักทอ
“จากการวิจัยทดสอบหลายด้าน เราพบว่า เส้นใยกล้วยถือเป็นเส้นใยที่มีความแข็งแรงที่สุดในกลุ่มของเส้นใยธรรมชาติ มีความต้านทานต่อการสลายตัวด้วยน้ำเค็ม อีกทั้งเส้นใยกล้วยมีความเงามัน และมีสีค่อนข้างเหลือง จึงมีคุณสมบัติเหมาะต่อการนำมาใช้เป็นเส้นใยสำหรับงานถักทอ และเหมาะสำหรับนำไปใช้ในการออกแบบผลิตภัณฑ์งานฝีมือได้เป็นอย่างดี”
อ.โสภิดา บอกว่า เมื่อผลิตเป็นเส้นใยรูปแบบเส้นใยแบนสามารถนำไปทอเป็นเส้นผืนเสื่อ เพื่อนำไปใช้ในการออกแบบผลิตภัณฑ์จากเสื่อทอเส้นใยกล้วยในรูปแบบต่างๆ เช่น สมุดบันทึก กระเป๋า แจกันทรงสูง สำหรับเส้นใยกล้วยรูปแบบเส้นใยกลม เป็นเส้นใยที่ผ่านกระบวนการบิดเกลียวเชือกเพื่อนำไปใช้การถักขึ้นรูปผลิตภัณฑ์ในรูปแบบต่างๆ เช่น ตะกร้า กระเป๋า ดอกไม้ประดิษฐ์ ซึ่งความแตกต่างของรูปแบบเส้นใยเกิดจากกระบวนการผลิตเส้นใยที่แตกต่างกันทำให้ได้เส้นใยจากกล้วยที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลายยิ่งขึ้น
ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์งานถักทอจากเส้นใยกล้วย ได้ดำเนินการยื่นจดอนุสิทธิบัตรผลิตภัณฑ์งานถักทอจากเส้นใยกล้วย เป็นทางเลือกใหม่ให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกกล้วย โดยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความโดดเด่นและทันสมัยเพื่อที่จะเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันและสามารถส่งออกได้ โดยผ่านบริษัท วัน บานาน่า จำกัด ซึ่งจะเป็นหน่วยงานที่ดำเนินการผลิตเส้นใยจากกล้วยเพื่อส่งออกให้กลุ่มวิสาหกิจนำไปออกแบบสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์งานถักทอ เพื่อดำเนินการจัดจำหน่ายนำรายได้กลับไปสู่เกษตรกร
ล่าสุดงานวิจัย “การพัฒนาเส้นใยจากกล้วยสำหรับผลิตภัณฑ์งานถักทอ” ได้รับถ้วยรางวัลพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จากงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2563.

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]